30 ส.ค. 2021 เวลา 12:25 • ศิลปะ & ออกแบบ
การจับคู่สี ฉบับเข้าใจง่าย ออกแบบอะไรก็สวย
จับคู่สีคืออะไร ทำไมต้องทำ?
อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ก็คือ เวลาเราออกแบบแบนเนอร์ เว็บไซต์ ฯลฯ โดยทั่วไปอาจมีสีมากกว่า 1 สีอยู่แล้ว บางครั้งเราอาจเลือกสีหลักมาหนึ่งสีก่อน ยกตัวอย่าง ถ้าเราเลือกสีส้ม ให้เป็นสีหลักบนภาพแบนเนอร์ แต่เผอิญเราไม่รู้ว่าต้องใช้สีอื่นสีใดผสมผสานเข้าไปในภาพให้ออกมาดูลงตัว
ทางออกของเรื่องนี้ คือ “ทฤษฏีการจับคู่สี”
เพื่อให้เรามีพื้นฐานการใช้สีให้ลงตัว ทำให้การออกแบบดูเข้ากันได้ สีในภาพไม่ตีกัน
มาเริ่มจับคู่สีกัน!
ก่อนอื่นต้องแนะนำตัวช่วยจับคู่สี ก็คือ “กงล้อสี” (Color Wheel)
ยกตัวอย่าง สีส้ม พอไปดูในกงล้อสีแบบสีคู่ตรงข้าม จะพบว่า สีที่เข้ากันได้ อาจเป็นสีน้ำเงิน ทีนี้เราก็ไม่ต้องมโนแล้วว่า เลือกใช้สีใดคู่กับสีใดดี
หลักๆ ที่ทั่วโลกใช้กัน จะใช้วิธีจับคู่สีกัน 6 แบบ คือ
1.การใช้สีเดียว (Monochromatic)
2.การใช้สีเฉดใกล้เคียง (Analogous)
3.การใช้สีคู่ตรงข้าม (Complementary)
4.การใช้สีใกล้เคียงสีคู่ตรงข้าม (Split-Complementary)
5.การใช้สีสมดุล (Triadic)
6.การใช้สีหลากหลาย (Tetradic)
.
*(ทั้งหมดมีตัวอย่างในภาพ)*
ยกตัวอย่าง สมมติคุณเลือกกงล้อแบบเฉดสีใกล้เคียง (Analogous)
และเลือกสีส้ม เป็นตัวหลัก คุณก็สามารถใช้สามสีข้างๆสีส้มในกงล้อได้
หรือถ้าคุณเลือกกงล้อแบบสมดุล (Triad)
และเลือกสีเขียวเป็นตัวหลัก คุณก็ต้องจับคู่เป็นสามเหลี่ยมก็คือ สีม่วง กับสีส้ม
เพื่อให้เห็นภาพ ดูในภาพตัวอย่างของเราได้
แต่… ถ้ายังรู้สึกว่า ออกแบบมาแล้ว ยังอยู่แปลกๆอยู่ ก็อย่าเพิ่งกังวล เพราะอย่างที่เกริ่นไป แต่ละสีก็มีเฉดสี โทนสีที่แยกย่อยกันออกไป
คุณอาจลองใช้วิธีเหล่านี้เพิ่มเติมดู
1.ลองกำหนดเปอร์เซ็นต์ของสีที่ใช้ในการออกแบบ
ยกตัวอย่าถ้าคุณออกแบบเว็บไซต์
แล้วคุณเลือกออกมาหนึ่งสี ก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องใช้สีนั้นทั้งหมดลงไปบนงานนั้น แต่ต้องหาที่ทางให้สีนั้นอยู่ด้วย
เช่น ถ้ามี 2 สี อาจไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็น 50/50% เสมอไปก็ได้
หลักที่ต้องคำนึงในข้อนี้คือ คุณต้องการดึงความสนใจ ความโดดเด่นให้กับอะไร เช่น ถ้าเลือกทำเว็บสีน้ำเงิน แล้วปุ่มเป็นสีม่วง ก็อาจไม่โดดเด่นเท่ากับปุ่มสีแดง ที่เป็นสีคู่ตรงข้ามตามทฤษฏีก็เป็นได้ ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ของสี
แต่ถ้ายังรู้สึกว่าสีในกงล้อที่จับคู่ยังออกมาดูไม่ดี ก็อาจดูข้อต่อไป
2.การเลือกโทนสี
หลายคนอาจกังวลว่า สีแดง คู่ตรงข้ามคือสีเขียว จินตนาการภาพออกมาแล้ว ถ้าใช้ในสัดส่วนพอๆกัน พอออกแบบมาแล้วจะดูสวยได้อย่างไร?
กรณีแบบนี้อาจแก้ไขได้ด้วยการลดโทนสีลงมา ดังนั้นเราจึงต้องมาดูเรื่องโทนสีกันด้วย
สีจะแบ่งออกเป็นวรรรณะ หรือโทนสีด้วย
หลักๆ ที่เราจะแนะนำ ก็คือ
- สีโทนร้อน (Warm tone)
เช่น สีแดงเข้ม เหลืองเข้ม การใช้สีเหล่านี้จะให้ความรู้สึก ร้อนแรง ดึงดูด สนุกสนาน
- สีโทนเย็น (Cool tone)
เช่น สีเขียวอ่อน สีฟ้า เหลืองอ่อน การใช้สีเหล่านี้ จะให้ความรู้สึก เย็นสบาย สดชื่น สบายตา
ถ้าลึกไปกว่านั้นอาจมีโทนอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมามากมาย เช่น Earth tone, Rich tone คุณก็สามารถใช้ทฤษฏีกงล้อสีกับโทนต่างๆ ได้เช่นกัน ในบางโทนอาจมีกงล้อที่มีสีโดยเฉพาะของตัวเอง คุณอาจต้องเลือกดูให้ถูกก่อนลงมือทำ
เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ก่อนจบบทความ ก็คือ
ทฤษฏีเหล่านี้ “ไม่ตายตัวเสมอไป”
เพราะเราคงทราบกันดีว่า สีบ่งบอกถึงความรู้สึกได้
เช่น สีแดงให้ความรู้สึกร้อนแรง เร่งรีบ วิตกกังวล
แต่ที่จริงแล้ว สีในแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายที่ต่างกัน
ในญี่ปุ่น งานแต่งทุกคนล้วนใส่ชุดสีดำ สีดำในญี่ปุ่นอาจเป็นได้ทั้งสีมงคล และอวมงคล
แต่สีดำในวัฒนธรรมไทย หลายคนก็อาจมองเป็นเรื่องของความเศร้า ความไม่มงคล แต่สีดำในวัยรุ่นไทย ก็อาจมองเป็นเรื่องของความดูทันสมัยก็ได้เช่นกัน
และเช่นกัน ความสวยงาม เป็นเรื่องของมุมมอง แต่ละพื้นที่ แต่ละบุคคลก็มองความงามไม่เหมือนกัน แต่มากกว่านั้นคือต้องดูว่า การออกแบบของคุณว่าให้ประสบการณ์ความรู้สึกกับผู้รับสารอย่างไร
ดังนั้นเลือกสีให้เข้ากับวัตถุประสงค์ทางการตลาด การสื่อสาร และกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจลองใช้ทฤษฏีกงล้อสีเป็นพื้นฐานดู แต่งเติมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจพบงานที่คุณรู้สึกว่าลงตัว ก็เป็นได้
ออนไลน์ยุคของ E-Comerce
โฆษณา