31 ส.ค. 2021 เวลา 12:17 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไป "ลพบุรี"
ทริปนี้เป็นอีกหนึ่งการเดินทางของข้าพเจ้าโดยรถไฟ! ข้าพเจ้าคิดว่า “จังหวัดลพบุรี”เป็นอีกหนึ่งเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก :) และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก ทำให้เกิดเป็นทริปนี้ขึ้นมานั่นเอง ^^ โดยจะว่าไปแล้วรถไฟไทยบ้านเราก็อยู่คู่กับชาวไทยมานานมาก (กอไก่ ล้านต้ว ฮ่าๆ) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่หลายๆ ท่านน่าจะพอทราบกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ^^
โดยรถไฟไทยนั้นได้เข้ามามีบทบาทต่อชาวสยามประเทศตั้งแต่เมื่อประมาณ 160 ปีก่อนโน้นแล้ว ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2398 นั้นได้มีการมาเยือนของอัคราชทูตจากประเทศอังกฤษ นั่นคือ ท่านเซอร์ จอห์น เบาริง ซึ่งจุดประสงค์ในการเดินทางมาเยี่ยมเยือนสยามประเทศในครั้งนี้นั่นก็คือ การเดินทางมาเพื่อขอเจรจาเรื่องสนธิสัญญาฉบับใหม่นั่นเอง
แต่ถึงกระนั้นแล้วท่านเซอร์ จอนฯ ก็มิได้มามือเปล่านะจ๊ะ เพราะท่านได้มาพร้อมกับเครื่องราชบรรณาการจากพระนางวิคตอเรียที่จัดหามาถวายให้กับรัชกาลที่ 4 ด้วยนั่นเอง ซึ่งหนึ่งในของต่างๆ ที่ได้ถูกจัดเตรียมมานั้นก็มีรถไฟจำลองขนาดเล็กที่ย่อส่วนมาจากของจริงทุกประการอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีการแนะนำถึงแนวคิดในการก่อตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกด้วยจ้า แต่เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงสมัยนั้นยังไม่ทรงตัวดีนัก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ก็มีไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน ดังนั้นการก่อตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้เริ่มขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 5 นั่นเอง :)
สำหรับทริปนี้ ข้าพเจ้าก็มิได้เตรียมตัวอะไรมากนัก เพียงแต่ต้องไปขึ้นรถไฟให้ทันเวลาเป็นพอ ฮ่าๆ ข้าพเจ้าได้ทำการซื้อตั๋วรถไฟเป็นรอบประมาณแปดโมงเช้าเจ็ดโมงเช้านี่แหละ หากข้าพเจ้าจำไม่ผิด ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางประมาณเกือบๆ 3 ชั่วโมง จากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟลพบุรี
"สถานีรถไฟลพบุรี"
ข้าพเจ้าหลับๆ ตื่นๆ อยู่เพียงไม่นานนักก็ถึงแล้วจ้า “จังหวัดลพบุรี” หรือในสมัยก่อนนั้น เมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองละโว้” ซึ่งคำว่า “ละโว้” นั้นได้มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “ลวะ” นั่นเอง และคำว่า ลวะ ในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า น้ำ ซึ่งหมายถึงเมืองนี้เป็นเมืองที่มีน้ำมากนั่นเองจ้า ^^
เมื่อข้าพเจ้าเดินลงมาจากรถไฟแล้ว ข้าพเจ้าก็เดินไปถามหาตั๋วรถไฟขากลับกับทางเจ้าหน้าที่รถไฟก่อนเป็นลำดับแรก โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ารถไฟจากลพบุรีกลับกรุงเทพฯ จะมาอีกทีตอนบ่ายสองโมง ซึ่งข้าพเจ้าลองคำนวนเวลาดูแล้วและก็คิดว่ามันเร็วไปนิด ข้าพเจ้าอยากที่จะใช้เวลาในการเดินชมบ้านชมเมืองไปเรื่อยๆ แบบไม่เร่งรีบ ข้าพเจ้าเลยมิได้ทำการซื้อตั๋วรถไฟขากลับเอาไว้ เพราะคิดว่าถ้ากลับไม่ทันรถไฟรอบบ่ายสองโมงก็ค่อยหารถตู้กลับก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าก็มิต้องกังวลเรื่องการทำเวลาให้ทันรถไฟขากลับรอบบ่ายสองโมงอีกต่อไปแล้ว เย้ๆ ฮ่าๆ แต่จริงๆ แล้วก็มีรถไฟรอบเย็นด้วยเช่นกันแต่ราคานั้นแพงเกินไป ฮ่าๆ ข้าพเจ้าก็เลยมิได้ซื้อตั๋วรถไฟเอาไว้เลยจ้า
“วัดบันไดหิน”
“วัดบันไดหิน”
สำหรับสถานที่แรกของวันนี้ ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล้ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเลย ข้าพเจ้าเดินออกมาข้าพเจ้าก็เจอเลย ซึ่งที่นี่ก็คือ “วัดบันไดหิน” เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบไปด้วย วิหารที่เหลือไว้แค่ผนังสองด้านเท่านั้น มีประตู และหน้าต่างเป็นวงโค้งแหลมคล้ายกับกลีบบัว ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง :)
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”
สถานที่ต่อมาที่ข้าพเจ้าได้ไปเยือนนั้น เป็นอีกหนึ่งวัดที่ข้าพเจ้าชอบมากๆ เพราะถ่ายรูปแล้วดูสวยดีสำหรับตัวข้าพเจ้านะ และรู้สึกได้ถึงอารมณ์ของมนต์ขลังยังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก ฮ่าๆๆ ซึ่งวัดที่ว่านี้ก็คือ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” นั่นเองจ้า เป็นวัดนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟนี่เอง และก่อนที่จะเข้าไปชมด้านในวัดกันนั้น ข้าพเจ้าก็จะต้องทำการซื้อตั๋วก่อน โดยทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเราสามารถซื้อตั๋วได้สองแบบคือ จะซื้อเป็นตั๋วเพื่อเข้าชมแค่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวัดเดียวก็ได้ในราคา 10 บาท สำหรับชาวไทย ส่วนชาวต่างชาตินั้นราคาจะอยู่ที่ 50 บาท หรือจะซื้อเป็นตั๋วแบบรวมก็ได้เช่นกัน
ซึ่งหากซื้อเป็นตั๋วแบบรวมเราก็จะสามารถเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้หลากหลายที่กันเลยทีเดียว ได้แก่ โบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์ โบราณสถานปรางค์สามยอด โบราณสถานพระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น โดยราคาสำหรับตั๋วแบบรวมนั้นจะอยู่ที่ราคา 50 บาท สำหรับคนไทย และชาวต่างชาติราคา 150 บาท นั่นเองจ้า ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ซื้อตั๋วแบบรวมนั่นแหละ ง่ายดี ฮ่าๆๆ ซื้อไปเลยทีเดียว :)
สำหรับ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” นั้น เป็นวัดที่ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยใด แต่วัดแห่งนี้ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมกันอยู่หลาย ตั้งแต่ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยภายในวัดจะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนพุทธาวาศ และสังฆาวาส ซึ่งในส่วนสังฆาวาสนั้นได้ถูกทำลายไปแล้ว ยังคงเหลือเอาไว้เพียงแค่พื้นที่ในส่วนของพุทธาวาสเท่านั้นจ้า
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”
ในส่วนถัดมาที่ด้านหลังของพระอุโบสถจะเป็น “พระปรางค์” ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1500-1800 โดยภายในพระปรางค์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ และได้ชื่อว่าพระปรางค์องค์นี้มีลวดลายปูนปั้นที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นแล้วปรางค์ประธานนั้นยังได้รับอิทธพลทางด้านงานศิลปะมาจากเขมรโบราณอีกด้วย เนื่องจากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ได้มีการขยายอิทธิพลของเขมรโบราณเข้ามายังสยามประเทศ ทำให้สยามประเทศของเรานั้นได้รับและนำเอารูปแบบทางศิลปกรรมมาสร้างเป็นศาสนถานต่างๆ นั่นเอง :)
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”
หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ชื่นชมกับความงดงามของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอย่างหนำใจแล้ว ข้าพเจ้าก็เดินเลาะริมถนนมาเรื่อยๆ โดยคิดว่าจะไป “บ้านวิชาเยนทร์” เป็นสถานที่ถัดไป ซึ่งในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตั้งใจเดินไปอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็เหลือบไปเห็นคุณลุงสามล้อถีบนั่งอย่างเหงาๆ อยู่ เนื่องจากช่วงที่ข้าพเจ้าไปนั้นเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวบ้านเรากำลังซบเซาเป็นอย่างมากเพราะสถานการณ์โควิดที่ยังคงระบาดอยู่ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง และเป็นเหตุให้คุณลุงสามล้อถีบได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อข้าพเจ้าเห็นอย่างนั้นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะใช้บริการสามล้อถีบของคุณลุงสักหน่อย โดยคุณลุงบอกว่าคิดแค่ยี่สิบบาทพอ ข้าพเจ้าคิดในใจว่าถ้าไปถึงแล้วจะให้คุณลุงไปเลยห้าสิบบาท จากนั้นข้าพเจ้าก็นั่งสามล้อถีบของคุณลุงมายังบ้านวิชาเยนทร์ และให้เงินคุณลุงไปห้าสิบบาทเลย :)
“บ้านวิชาเยนทร์ หรือบ้านหลวงรับราชทูต”
สำหรับ “บ้านวิชาเยนทร์ หรือบ้านหลวงรับราชทูต” นั้น ถูกสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในช่วงที่มีการมาเยือนของราชทูตฝรั่งเศส (ท่านอาแล็ก ซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง) ในปี พ.ศ. 2228 และได้มีการต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศส (ท่านซีมง เดอ ลา ลูแบร์ และท่านโกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล) ในช่วงปี พ.ศ.2230 นั่นเอง โดยในระหว่างที่ไม่มีคณะทูตมาเยือนบ้านเรานั้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ให้ ท่านออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้ดูแลอาคารเหล่านี้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าที่นี่คือบ้านของท่านออกยาวิชาเยนทร์ และชาวบ้านก็เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “บ้านวิชาเยนทร์” ตั้งแต่นั้นมา แต่ด้วยที่นี่เป็นบ้านหลวงที่สมเด็จพระนารายณ์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศทำให้เรียกอีกชื่อว่า “บ้านหลวงรับราชทูต” นั่นเองจ้า
“บ้านวิชาเยนทร์ หรือบ้านหลวงรับราชทูต”
ลพบุรี วันนี้อากาศร้อนมากๆ มากถึงมากที่สุด ฮ่าๆๆ ข้าพเจ้าเดินไปมาๆ แถวๆ บ้านวิชาเยนทร์ ก็เหลือบไปเห็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งก็เลยเดินไปถ่ายภาพสักหน่อย โดยสถานที่แห่งนีัคือ “วัดปืน (ร้าง)” นั่นเอง ซึ่งวัดแห่งนี้ไม่พบประวัติที่แน่ชัดของที่มาที่ไปของชื่อวัด โดยคำว่า ปืน อาจจะมาจาก ศรพระราม หรือ ปืนพระราม เนื่องจากวัดนี้อยู่ใกล้ศาลลูกศร (ศาลหลักเมือง) หรือชื่อของวัดแห่งนี้อาจมาจากสมัยก่อนมีร้านทำปืนตั้งอยู่ในบริเวณนี้ จึงอาจถูกเรียกว่า “วัดปืน” ก็เป็นได้ ^^
“วัดปืน (ร้าง)”
ขณะนี้ก็เป็นเวลาเกือบจะบ่ายโมงแล้ว และอากาศก็ช่างร้อนแรงเสียนี่กระไร ในใจของข้าพเจ้านั้นตั้งใจว่าจะหาที่นั่งพักกินข้าวกินน้ำสักหน่อย ก่อนที่จะไปเดินเที่ยวต่อ แต่ข้าพเจ้าเดินมาเจอกับ “พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์” เสียก่อน ข้าพเจ้าก็เลยแวะสักหน่อยก่อนมื้อเที่ยง โดยพระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2208-2209 เพื่อใช้เป็นราชธานีแห่งที่สองนั่นเอง
“พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์”
สำหรับพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ และถูกออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ทำให้พระราชวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมกับตะวันตกนั่นเอง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ พระที่นั่งจันทรพิศาล (เป็นหอประชุมองคมนตรี), พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท (เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง), พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ (เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์), ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง, ตึกพระเจ้าเหา (เป็นหอพระประจำพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า "พระเจ้าเหา"), สิบสองท้องพระคลัง (เป็นคลังเก็บสินค้า และเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในงานราชการ),
โรงช้างหลวง, ถังเก็บน้ำ (ทำไว้เพื่อกักน้ำไว้จ่ายในพระที่นั่งและตึกต่างๆ ในพระราชวัง), หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ (ประกอบไปด้วย พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร, พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ, พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ, พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์), หมู่ตึกพระประเทียบ (เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในผู้ตามเสด็จ), ทิมหรือที่พักของทหารรักษาการณ์ เป็นต้น
“พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์”
ข้าพเจ้าแวะเข้าไปเดินเล่นหลบร้อนภายในพระราชวัง ซึ่งด้านในจะมีพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี รวมไปถึงได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกขุดค้นพบเอาไว้อีกด้วย ^^
หลังจากที่ข้าพเจ้าเดินเล่นอยู่ในวังสักพัก ข้าพเจ้าก็ออกไปหาร้านอาหารเพื่อนั่งพักกินข้าวสักครู่ โดยหลังจากอาหารมื้อเที่ยงแล้วข้พเจ้าก็ว่าจะเดินไปถ่ายรูปตรงพระปรางค์สามยอดสักเล็กน้อยก่อนกลับ ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่ได้เข้าไปเดินข้างในเนื่องจากอากาศที่ร้อนมากๆ รวมไปถึงมีน้องลิงเดินไปมากันอย่างขวักไขว่ ข้าพเจ้าเลยคิดว่าเดินถ่ายรูปด้านนอกเอาไว้เป็นที่ระลึกก็พอ ฮ่าๆๆ
สำหรับ “พระปรางค์สามยอด” นั้น ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงปี พ.ศ. 1724-1757 เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้ ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา โดยตัวปราสาทเป็นศิลปะบายน และมีโครงสร้างเป็นศิลาแลงที่ประดับปูนปั้นนั่นเองจ้า ^^
ข้าพเจ้าเดินถ่ายรูปด้านนอกอยู่เพียงไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็เหลือบไปดูนาฬิกาว่ากี่โมงกี่ยามแล้ว และเห็นว่ายังมีเวลาเหลือที่จะเดินไปขึ้นรถไฟให้ทันรอบบ่ายสองโมง ข้าพเจ้าเลยเดินลัดเลาะไปดูของที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปสักหน่อย ข้าพเจ้าเดินไปเรื่อยๆ จนไปสะดุดกับร้านหนังสือมือสองร้านเล็กๆ ร้านนึงที่ตั้งอยู่ริมถนน ข้าพเจ้าอดใจไม่ไหวเลยขอแวะซื้อหนังสือสักเล่มสองเล่ม ฮ่าๆๆๆ ราคาถูกมากพี่น้อง ข้าพเจ้าได้หนังสือมาในราคาเล่มละ 50 บาท เท่านั้น! ข้าพเจ้าเลยจัดไปสองเล่ม ฮ่าๆๆ สบายใจเป็นยิ่งนักแล ^^ จากนั้นข้าพเจ้าก็เดินไปซื้อตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ
จบแล้วสำหรับทริปนี้ของข้าพเจ้า :) และหากใครมีเวลาแล้วไม่รู้จะไปไหนก็ไปเดินถ่ายรูปเล่นที่จังหวัดลพบุรีกันได้เลยน้า แล้วเจอกันในทริปต่อไปจ้า ^^
อ้างอิง
โฆษณา