3 ก.ย. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 39] ภาพรวมของภาษาต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้
An overview of South Asian languages
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 1 ของซีรีส์ "ภาษาต่าง ๆ ในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาต่าง ๆ ในเอเชียใต้ ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดว่าคนอินเดียทุกคนใช้ "ภาษาอินเดีย" (ซึ่งภาษานี้ไม่มีอยู่จริง) หรือไม่ก็ "ภาษาฮินดี" เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วภาษาแม่ของเขากลับเป็นภาษาอื่น หรือเมื่อเดินทางไปท้องถิ่นต่าง ๆ ของเอเชียใต้ คุณจะเจอกับภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาฮินดีก็ได้
1
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เรามาทำความรู้จักเอเชียใต้ในฐานะ “ดินแดนที่มีความหลากหลายทางภาษา” กันเลยครับ
[Credit แผนที่ภูมิภาคเอเชียใต้ : User 'पाटलिपुत्र' @ Wikimedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : ดนตรีที่รวบรวมจากเพลงในภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ของอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศ "United by Music - A Desi Regional Medley" โดยวงดนตรีอะแคปเปลลา Penn Masala ซึ่งนักร้องสมาชิกวงนี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชาวอินเดียหรือมีเชื้อสายอินเดีย ในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ
ภูมิภาคเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา มัลดีฟส์ อินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน และเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางภาษาศาสตร์เป็นอย่างมาก ตรงที่มีจำนวนภาษาพูดมากกว่า 1,000 ภาษา ซึ่งมีทั้งภาษาที่ใกล้สูญ (มีจำนวนผู้ใช้น้อยและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย) ไปจนถึงภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมากในหลักสิบล้านหรือร้อยล้านคน
แผนที่แสดงพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้ [Credit แผนที่ : South Asia Center, University of Washington]
ภาษาในภูมิภาคเอเชียใต้มีความเป็นมาที่ยาวนานและมีรากฐานของภาษาสมัยโบราณ (อย่างภาษาสันสกฤต) ซึ่งสะท้อนจากจารึกหรือเอกสารโบราณในภูมิภาคนี้ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี
ภาพถ่ายข้อความส่วนหนึ่งในศิลาจารึกเมืองอโยธยาแห่งกษัตริย์ธนะ (Ayodhya Inscription of Dhana) ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล และศิลาจารึกอันนี้อยู่ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย
ภาษาพูดต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ของผู้ใช้ภาษากระจายตัวไปตามการตั้งถิ่นฐานในสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ดังตัวอย่างเช่น...
- เกาะและหมู่เกาะ : หมู่เกาะมัลดีฟส์ (ภาษามัลดีฟส์) และเกาะศรีลังกา (ภาษาสิงหล)
- พื้นที่ชายฝั่ง : แถบชายฝั่งทางตะวันตกของปลายสุดทางใต้ของอินเดีย (ภาษามลยาฬัม)
- พื้นที่ลุ่มแม่น้ำ : ลุ่มแม่น้ำคงคา-แม่น้ำยมุนา (ภาษาฮินดี) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา (ภาษาเบงกอล) ลุ่มแม่น้ำสินธุ (ภาษาอูรดู)
- เทือกเขาสูง : เทือกเขาหิมาลัย (กลุ่มภาษาทิเบต)
แผนที่แสดงลุ่มแม่น้ำคงคา (พื้นที่สีเหลืองในแผนที่) โดยเมืองต่าง ๆ แถบลุ่มแม่น้ำคงคา-มยุนา อย่างกรุงนิวเดลี เมืองอาครา กานปุระ อัลลาฮาบัด พาราณสี เป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาฮินดีอยู่มาก ขณะที่เมืองต่าง ๆ แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา อย่างเมืองโกลกาตา และกรุงธากา (เมืองหลวงของบังกลาเทศ) เป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาเบงกอล [Credit แผนที่ : User 'Pfly' @ Wikipedia.org]
ภาษาพูดที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้นี้คือ ภาษาฮินดูสถาน (Hindustani language เป็นการเรียกรวมภาษาฮินดีกับภาษาอูรดูเข้าด้วยกัน โดยประชากรอินเดียประมาณเกือบ 40% ที่ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่) ตามด้วยภาษาเบงกอล ทมิฬ เตลูกู มราฐี คุชราต กันนาดา และปัญจาบ
1
คำว่า "ภาษาฮินดูสถาน" (Hindustani) ที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครีแบบที่ใช้ในภาษาฮินดี (ฝั่งบนของรูป) และอักษรเปอร์เซีย-อาหรับแบบที่ใช้ในภาษาอูรดู (ฝั่งล่างของรูป) [Credit รูป : User 'Getsnoopy' @ WIkipedia.org]
ในสมัยใหม่ ได้มีภาษาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการผสมผสานภาษาในท้องถิ่น เช่น ภาษาอูรดู (Urdu) ที่มาจากการผสมผสานระหว่างภาษาฮินดูสถาน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 18 ระหว่างที่อินเดียอยู่ใต้การปกครองของชาวมุสลิมอย่างรัฐสุลต่านเดลีและจักรวรรดิโมกุล ซึ่งภาษาอูรดูใช้เป็นภาษาหลักของชาวมุสลิมในฝั่งเหนือของภูมิภาคเอเชียใต้ (โดยเฉพาะปากีสถานและรัฐต่าง ๆ ทางภาคเหนือของอินเดีย) รวมถึงเป็นภาษากลางของประเทศปากีสถานระหว่างผู้พูดภาษาในกลุ่มภาษาอิหร่านทางฝั่งตะวันตก และผู้พูดภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันทางฝั่งตะวันออกของประเทศ
ภาษาพูดในภูมิภาคเอเชียใต้จะแบ่งเป็นกลุ่มหรือตระกูลภาษาต่าง ๆ กลุ่มสำคัญตามนักภาษาศาสตร์แบ่งไว้ ดังนี้
- กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) : กลุ่มภาษาที่ใช้มากที่สุดในประเทศอินเดีย (ประชากรอินเดียราว 74% ใช้ภาษาในกลุ่มนี้) โดยมากับกลุ่มชนอินโด-อารยันที่อพยพจากเอเชียกลางเข้าสู่ฝั่งเหนือของภูมิภาคเอเชียใต้
ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้ (ที่มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากกว่า 50 ล้านคน) : ภาษาฮินดี อูรดู เบงกอล ปัญจาบ มราฐี คุชราต ราชสถาน และโภชปุรี
แผนที่แสดงการอพยพของกลุ่มชนอินโด-อารยันจากเอเชียกลางเข้ามาสู่เอเชียใต้ ซึ่งการอพยพดังกล่าวเริ่มต้นหลังปีที่ 2,000 ก่อน ค.ศ. [ที่มาของแผนที่ : https://www.sutori.com/story/ancient-india-civilizations--A7KoCwoQF1UahN6gDj3mYgrA]
- ตระกูลภาษาดราวิเดียน (Dravidian languages) : ตระกูลภาษาท้องถิ่นดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียใต้และกลุ่มภาษาที่ใช้มากเป็นอันดับ 2 ในอินเดีย (ประชากรอินเดียราว 24% ใช้ภาษาในกลุ่มนี้) ซึ่งกลุ่มชนผู้ใช้ภาษากลุ่มนี้ถอยร่นลงสู่ทางใต้ของอินเดียจากการย้ายถิ่นฐานของชาวอารยันเข้ามาในตอนเหนือ
ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้ (ที่มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากกว่า 50 ล้านคน) : ภาษาเตลูกู ทมิฬ และกันนาดา
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาสมาชิกในตระกูลภาษาดราวิเดียน [Credit แผนที่ : User 'Noahedits' @ WIkipedia.org]
- กลุ่มภาษาอิหร่าน (Iranian languages) ในอัฟกานิสถานและฝั่งตะวันตกของปากีสถาน อย่างภาษาปาทาน/ปัชโต (Pashto) ภาษาดารี/เปอร์เซียดารี (Dari) และภาษาบาลูจิ (Balochi)
- กลุ่มภาษานูริสถาน (Nuristani languages) ในแถบจังหวัดนูริสถานของอัฟกานิสถาน
- ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic languages) ซึ่งเป็นตระกูลภาษาเดียวกันกับที่ภาษามอญ กัมพูชาและเวียดนามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมาชิก
- กลุ่มภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman languages) ใช้ตามบริเวณเทือกเขาหิมาลัย และเขตเทือกเขาหรือพื้นที่สูงชายแดนอินเดีย-เมียนมา เช่น ภาษาลาดัก (Ladakhi) ในดินแดนสหภาพชัมมูและกัศมีร์ของอินเดีย และภาษาซองคา (Dzongkha) ของประเทศภูฏาน
- กลุ่มภาษาเตอร์กิก (Turkic languages) ใช้ตามบริเวณตอนเหนือของอัฟกานิสถาน เช่น ภาษาอุซเบก (Uzbek) และภาษาเติร์กเมน (Turkmen)
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่ใช้ภาษาในกลุ่มภาษา/ตระกูลภาษาต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ [Credit แผนที่ : User 'Afrogindahood' @ Wikipedia.org]
บางกลุ่มหรือตระกูลภาษาก็มีผู้ใช้ภาษาสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้อยู่น้อยจนนักภาษาศาสตร์ในภูมิภาคถือว่าเป็นกลุ่มภาษาเล็ก ๆ ตัวอย่างเช่น...
1
- ตระกูลภาษาขร้า-ไท (Kra-Dai languages) : ภาษาสมาชิกตระกูลภาษานี้ในรัฐอัสสัมของอินเดีย ที่มีประชากรใช้งานมากที่สุดคือ ภาษาคำตี้ (Khamti) ที่มีคนใช้ภาษานี้ประมาณ 13,000 คน (รวมฝั่งรัฐอัสสัมของอินเดียและฝั่งตอนเหนือของเมียนมา) ขณะที่ภาษาอาหม (Ahom) สูญไปแล้วในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19
- กลุ่มภาษาอันดามัน (Andamanese languages) : กลุ่มภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อันดามัน ที่อาศัยบนหมู่เกาะอันดามัน
ตัวอย่างของภาษาพูดที่ข้ามพรมแดนทางศาสนา แต่พรมแดนทางศาสนากลับมีผลต่อภาษาเขียน คือ ภาษาปัญจาบ และภาษาเบงกอล
- ภาษาปัญจาบ (Punjabi) มีผู้ใช้ภาษาพูดทั้งในฝั่งปากีสถานและฝั่งอินเดีย แต่ชาวปัญจาบฝั่งปากีสถานที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้อักษรชาห์มุขีที่พัฒนาจากอักษรเปอร์เซีย ขณะที่ชาวปัญจาบฝั่งอินเดียที่นับถือศาสนาซิกข์ใช้อักษรคุรมุขีที่ และชาวปัญจาบฝั่งอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูมักจะใช้อักษรเทวนาครี ซึ่งทั้งอักษรคุรมุขีและเทวนาครีต่างพัฒนามาจากอักษรพราหมี ทำให้อักษรคุรมุขีกับอักษรเทวนาครีมีเค้าโครงสร้างใกล้เคียงกัน แต่อักษรชาห์มุขีจะแตกต่างออกไปมาก
แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้ใช้ภาษาปัญจาบเป็นภาษาแม่ (พื้นที่สีแดงในแผนที่) ซึ่งคร่อมทั้งดินแดนปัญจาบตะวันตก (แคว้นปัญจาบของประเทศปากีสถาน) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม และดินแดนปัญจาบตะวันออก (รัฐปัญจาบของประเทศอินเดีย) ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและซิกข์ [Credit แผนที่ : User 'Zakuragi' @ Wikipedia.org]
- ภาษาเบงกอล (Bengali) มีผู้ใช้ภาษาพูดครอบคลุมทั้งฝั่งอินเดีย (ในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐตริปุระ ซึ่งใช้อักษรเบงกอล ที่พัฒนาจากอักษรพราหมี) และฝั่งบังกลาเทศ โดยในช่วง ค.ศ.1948-1952 รัฐบาลกลางของปากีสถานที่นำโดยปากีสถานตะวันตก (ต่อมากลายเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ประกาศให้บังกลาเทศ (ในฐานะปากีสถานตะวันออก) ที่เป็นดินแดนชาวมุสลิมด้วยกันใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการตามปากีสถานตะวันตก
ชาวเบงกอลในบังกลาเทศช่วงนั้นจึงต้องใช้อักษรอูรดูที่ดัดแปลงมาจากอักษรเปอร์เซียในการเขียน แต่ต่อมาเกิดความเคลื่อนไหวในสังคมบังกลาเทศเรื่องภาษา จนรัฐบาลยอมให้บังกลาเทศสามารถใช้ภาษาเบงกอลของตนเองเป็นภาษาราชการ และใช้อักษรเบงกอลในภาษาเขียน
แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้ใช้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาแม่ (พื้นที่สีแดงในแผนที่) ซึ่งครอบคลุมทั้งดินแดนของอินเดีย (รัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐตริปุระ) ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู และประเทศบังกลาเทศ (พื้นที่สีแดงเข้ม) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม [Credit แผนที่ : User 'Trinanjon' @ Wikipedia.org]
ส่วนกลุ่มชนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในภูมิภาคเอเชียใต้ และชาวมุสลิมบางส่วนในประเทศอินเดีย จะใช้อักษรแบบพื้นเมืองที่เป็นมรดกตกทอดจากอักษรโบราณในท้องถิ่น เช่น อักษรที่พัฒนามาจากอักษรพราหมี และอักษรแบบอื่นที่ใช้ในภาษาสมาชิกของตระกูลภาษาดราวิเดียน
หากพิจารณาถึงอักษรแบบพื้นเมืองในเอเชียใต้ ภูมิภาคเอเชียใต้โบราณ (ช่วงศตวรรษวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษที่ 5) เคยใช้อักษรพราหมี (Brahmi script) แล้วเริ่มพัฒนาจนเป็นอักษรนาครี (Nagari script) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ก่อนใช้กันแพร่หลายในเอเชียใต้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และกลายเป็นอักษรต้นแบบของอักษรแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในเอเชียใต้ โดยเฉพาะอักษรเทวนาครี (Devanagari script) อักษรที่ใช้เป็นระบบการเขียนของภาษาในเอเชียใต้มากกว่า 120 ภาษา เช่น ภาษาฮินดี มราฐี เนปาล สินธี ไมถิลี เป็นต้น ส่งผลให้อักษรเทวนาครีเป็นหนึ่งในอักษรที่นำไปใช้หรือดัดแปลงเป็นระบบการเขียนภาษาต่าง ๆ มากที่สุดในโลก
แผนที่เขตการปกครองในอินเดีย-ปากีสถาน และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ที่มีพื้นที่เล็กกว่า ที่เขียนด้วยอักษรของภาษาหลักแต่ละแห่ง จะพบว่าอักษรที่ปากีสถานใช้ดูเป็นอักษรเปอร์เซีย-อาหรับ อักษรที่ใช้ในอินเดียตอนเหนือ-เนปาล-บังกลาเทศ มีจุดร่วมคือมีเส้นแนวนอนเชื่อมตัวอักษร (คล้ายเส้นบรรทัด) ต่างจากอักษรที่ใช้ในอินเดียตอนใต้-ศรีลังกา เป็นแยกอักษรแต่ละตัว [Credit แผนที่ : User 'Jai Kumara Yesappa' @ Wikipedia.org]
ความเป็นสังคมพหุภาษาของประเทศอินเดีย ทำให้ประเทศอินเดียไม่มีภาษาประจำชาติ (National language - ภาษาที่เป็นภาษาหลัก ภาษาสำคัญ หรือเอกลักษณ์ของชาติ) เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีสังคมพหุภาษาและไม่มีภาษาประจำชาติ (อย่างเมียนมาและสวิตเซอร์แลนด์) แต่รัฐธรรมนูญอินเดียระบุถึงภาษาราชการ (Official language) ว่า “ภาษาราชการของสหภาพ (ประเทศอินเดีย) คือ ภาษาฮินดีที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครี”
ขณะที่ภาษาราชการในระดับหน่วยการปกครองระดับท้องถิ่น (รัฐและดินแดนสหภาพต่าง ๆ) จะให้ส่วนท้องถิ่นมีเสรีภาพและอำนาจในการเลือกภาษาราชการผ่านการประกาศลงในกฎหมายตามแต่ละท้องถิ่นได้ รัฐธรรมนูญประเทศอินเดียได้รับรองภาษาราชการจำนวน 22 ภาษาสำหรับส่วนท้องถิ่น (รวมภาษาฮินดีแต่ไม่รวมภาษาอังกฤษ) ภาษากลุ่มนี้เรียกว่า “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages)
แผนที่อินเดียที่แบ่งเขตการปกครอง (รัฐและดินแดนสหภาพ) พร้อมภาษาราชการที่ใช้พูดกันแพร่หลายที่สุดในแต่ละท้องถิ่นเขตการปกครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญอินเดียรับรองภาษาเหล่านี้ส่วนหนึ่ง (อย่างภาษาฮินดี เบงกอล ปัญจาบ มราฐี เตลูกู ทมิฬ คุชราต กันนาดา โอริยา และมลยาฬัม) ให้เป็น “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” [Credit แผนที่ : User 'Filpro' @ Wikipedia.org]
นอกจากภาษาท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว ภูมิภาคเอเชียใต้ยังรับภาษาอังกฤษที่เขียนสะกดแบบภาษาอังกฤษฝั่งบริเตนใหญ่เข้ามา เนื่องจากเป็นภาษาของอดีตเจ้าอาณานิคมและภาษาระดับนานาชาติที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณที่มักใช้ภาษาอังกฤษในเอเชียใต้จะเป็นชุมชนเมือง และภาษาอังกฤษก้าวเข้ามาเป็น “ภาษากลาง” (Lingua franca) ทางเศรษฐกิจ การค้า และในหมู่ผู้ได้รับการศึกษาขั้นสูงในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีความหลากหลายทางภาษาสูงมาก
ภาษาอังกฤษยังเป็นตัวเลือกที่สามารถใช้ร่วมกับภาษาฮินดีในการสื่อสารของทางราชการหรือการปกครองในประเทศอินเดีย เช่น เอกสารของทางรัฐสภา เอกสารทางกระบวนการยุติธรรม การติดต่อทางราชการระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย จนรัฐบาลอินเดียประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการเพิ่มเติม ร่วมกับ “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” ภาษาราชการระดับท้องถิ่น 22 ภาษา ทำให้อินเดียมีจำนวนภาษาราชการทั้งหมด 23 ภาษา
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว คนอ่านคงจะพอเห็นภาพว่าในภูมิภาคเอเชียใต้มีการใช้ภาษาต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะภาษาฮินดีอย่างเดียว แต่ยังมีภาษาอื่น ๆ ทั้งภาษาสมาชิกร่วมกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และภาษาสมาชิกกลุ่มภาษาอื่น (อย่างตระกูลภาษาดราวิเดียน กลุ่มภาษาอิหร่าน กลุ่มภาษาทิเบต-พม่า) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้เราติดต่อหรือพูดคุยกับคนจากภูมิภาคเอเชียใต้ได้ราบรื่นขึ้น หากเราทราบภูมิหลังทางวัฒนธรรมของอีกฝ่ายครับ (เช่น เขาเป็นคนที่มาจากท้องถิ่นส่วนไหนของอินเดีย)
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[ที่มาของข้อมูล]
- India : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- Braj B. Kachru, Yamuna Kachru, S. N. Sridhar. Language in South Asia. New York, USA: Cambridge University Press; 2008.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา