2 ก.ย. 2021 เวลา 11:16 • ประวัติศาสตร์
“อีดิท คาเวลล์ (Edith Cavell)” นางฟ้าผู้ถูกประหาร
1
เช้าวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) ทหารเยอรมันได้คุมตัวกลุ่มนักโทษมายัง Tir National ซึ่งเคยเป็นสนามยิงปืนของเบลเยี่ยม
ในบรรดากลุ่มนักโทษนั้น มีอยู่รายหนึ่งเป็นผู้หญิง ชื่อ “อีดิท คาเวลล์ (Edith Cavell)”
คาเวลล์ถูกปิดตา ก่อนจะมัดมือ จากนั้น ทหารก็ยิงคาเวลล์
คาเวลล์ล้มลงกับพื้น เสียชีวิตทันที
การตายของคาเวลล์ สร้างความสะเทือนใจให้ผู้คนทั่วโลก และมีเสียงก่นด่า ประนามเยอรมนีมากมาย
และนี่คือเรื่องราวของหญิงผู้เป็นที่รักของคนจำนวนมาก
คาเวลล์เกิดที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1865 (พ.ศ.2408) โดยเป็นลูกสาวของอธิการโบสถ์ ผู้เลื่อมใสในศาสนา
เมื่อเติบโต คาเวลล์ได้เรียนทางด้านพยาบาล และฝึกงานที่โรงพยาบาลในลอนดอน ก่อนที่เธอจะได้รับการเสนอตำแหน่งงานให้ไปประจำที่เบลเยี่ยม
ในเวลานั้น การพยาบาลยังเป็นของใหม่ และตำแหน่งพยาบาลนี้ ที่ผ่านมาก็เป็นหน้าที่ของแม่ชี หากแต่ก็ได้มีนายแพทย์ที่มีความคิดทันสมัย อยากจะเปลี่ยนแปลงวงการพยาบาล และนางพยาบาลอย่างคาเวลล์ก็นับเป็นสิ่งที่วงการพยาบาลต้องการ
คาเวลล์เองก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยคาเวลล์ได้เขียนจดหมายถึงแม่ของเธอ มีใจความว่า
“ที่เบลเยี่ยม ผู้คนยังคงมีความเชื่อแบบโบราณว่าการที่ผู้หญิงต้องทำงาน เป็นเรื่องที่น่าอาย ผู้หญิงที่เกิดมาในชาติตระกูลที่ดีและมีการศึกษายังคงคิดว่าหากตนทำงานหาเงินเอง จะเป็นการลดสถานะของตนเอง”
คาเวลล์พักอาศัยอยู่ในบรัสเซล และภายในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) เธอก็ได้ทำงานประจำ และออกบรรยายสัปดาห์ละหลายครั้ง
หากแต่ช่วงเวลาสงบกำลังจะหมดไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังจะคืบคลานเข้ามา
เยอรมนีได้บุกเบลเยี่ยมในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) และช่วงเวลานั้น คาเวลล์ก็ได้ไปเยี่ยมแม่ของเธอในอังกฤษ ซึ่งที่จริง เธอจะหลีกเลี่ยงสงครามโดยอาศัยอยู่ในอังกฤษ ไม่กลับเบลเยี่ยมก็ได้ หากแต่เธอก็ยังยืนยันจะกลับไปทำหน้าที่พยาบาล
เมื่อสงครามดำเนินไป ทหารที่ได้รับบาดเจ็บก็ถูกส่งเข้ามาในโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และคาเวลล์ก็สั่งพยาบาลคนอื่นๆ ให้ปฏิบัติต่อทหารทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าทหารนายนั้นจะเป็นชาติอะไรก็ตาม
“ทหารแต่ละคนคือพ่อ คือสามี หรือคือลูกชายของใครซักคน อาชีพพยาบาลนั้นไม่รู้จักการแบ่งแยกเชื้อชาติหรอกนะ”
คือคำพูดของคาเวลล์
ในยุทธการที่มอนส์ (Battle of Mons) ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) ทหารอังกฤษกว่า 150,000 นาย ได้ถอยทัพออกจากเบลเยี่ยม ทิ้งให้ทหารที่บาดเจ็บอยู่ในเบลเยี่ยม และในเดือนกันยายน ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) เมื่อทหารอังกฤษสองนายถูกนำส่งมายังโรงพยาบาล คาเวลล์ก็ตกลงที่จะช่วย
แต่คาเวลล์ไม่เพียงแค่ช่วยรักษาทหาร หากแต่ยังช่วยนำทหารส่งออกข้ามแดนไปยังเนเธอแลนด์ ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือผู้คนให้หนีออกจากดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของเยอรมนี
คาเวลล์นั้นทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และในขณะเดียวกัน ทั่วทั้งบรัสเซลก็เต็มไปด้วยใบประกาศของเยอรมนี เตือนผู้คนถึงโทษที่จะได้รับหากให้การช่วยเหลือคนที่เป็นศัตรูกับเยอรมนี
แต่ถึงจะเสี่ยง คาเวลล์ก็ยังสามารถช่วยเหลือทหารสัมพันธมิตร ให้เข้ามารักษาในโรงพยาบาล และช่วยให้พวกเขาหนีออกไปยังดินแดนที่ปลอดภัย
ทหารที่ถูกนำตัวมาหาคาเวลล์ จะได้รับการบันทึกว่าเป็น “ผู้ป่วย” และจะได้รับบัตรประจำตัวของปลอม และคาเวลล์ก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อซ่อนทหารอังกฤษไม่ให้พวกเยอรมันพบ
แต่เยอรมนีเองก็เริ่มสงสัยเหล่านางพยาบาล โดยเฉพาะกับพยาบาลชาวอังกฤษ และเริ่มจับตามอง ซึ่งต่อมา ก็ได้มีคนของฝ่ายเยอรมนี แกล้งปลอมเป็นทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บและเข้ามาในโรงพยาบาลของคาเวลล์ เท่านี้ทางการเยอรมันก็มีหลักฐานเพียงพอที่จะจับเธอได้แล้ว
1
วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) คาเวลล์ถูกจับกุมและส่งไปคุมขังในเรือนจำในบรัสเซล
1
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) คาเวลล์ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาโทษ ซึ่งเธอก็ได้กล่าวว่า
“เป้าหมายของฉันไม่ใช่การช่วยเหลือศัตรูของพวกคุณ แต่คือการช่วยคนเหล่านั้นซึ่งขอความช่วยเหลือ ถ้าฉันไม่ช่วยพวกเขา พวกเขาก็จะถูกนำตัวไปยิงเป้า”
แต่ฝ่ายเยอรมนีก็ไม่สนใจคำให้การของคาเวลล์ และตัดสินให้เธอต้องรับโทษประหารชีวิต
เมื่อคาเวลล์ถูกประหารด้วยการยิงเป้าในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) ก็ได้ทำให้ทั่วทั้งโลกโกรธแค้นก่นด่า แต่ถึงแม้จะมีกฎว่าห้ามทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ แต่ถ้าบุคคลนั้นใช้ตำแหน่งของตนในการบังหน้าเพื่อช่วยเหลือศัตรู ก็ต้องได้รับโทษ
“เซอร์ อาเทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle)” นักเขียนชื่อดัง เจ้าของบทประพันธ์ “เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)” ก็ได้เขียนประนามการกระทำครั้งนี้ ความว่า
“ทุกคนจะต้องรู้สึกขยะแขยงในการกระทำอันป่าเถื่อนของพวกเยอรมัน ซึ่งกระทำต่อผู้หญิงที่สง่าและวิเศษผู้นี้”
เซอร์ อาเทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle)
ผู้คนต่างยกย่องคาเวลล์ แต่ทางการเยอรมันก็ยังคงยืนยันว่าการกระทำของเธอเป็นสิ่งที่ผิด อีกทั้งยังมีหลักฐานว่าเธออาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองอังกฤษ
ทางการเยอรมันคาดหวังว่าการประหารคาเวลล์จะทำให้ผู้คนหวาดกลัว และไม่มีใครกล้าทำอีก หากผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เนื่องจากตัวเลขผู้ที่เข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 50% และผู้ที่ให้การช่วยเหลือทหารฝ่ายสัมพันธมิตรก็เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
1
และนั่น ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเรื่องราวของคาเวลล์มาใช้ในการโฆษณาเชิญชวนให้ผู้คนสนับสนุนสัมพันธมิตร และชี้ให้เห็นว่าเยอรมนีนั้นชั่วร้าย สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อจะชนะสงคราม
และภายหลังจากสงครามจบลง เรื่องราวของคาเวลล์ก็ยังเป็นที่กล่าวขาน และได้รับการยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา