2 ก.ย. 2021 เวลา 06:30 • ข่าว
ตำรับยาพื้นบ้าน จาก “ใบกระท่อม” สรรพคุณเพียบ แก้ลงแดง ลดเบาหวาน
“ความจริง นานาชาติไม่มีประเทศไหนประกาศให้ 'กระท่อม' เป็นยาเสพติดแม้แต่ประเทศเดียว มีแต่ประเทศไทยนี่แหละ”
3
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวอย่างหนักแน่น ก่อนจะเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของการปลดล็อก “ใบกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5
เบื้องหลังของการเดินหน้าปลดล็อกพืชกระท่อม มาจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประสานทางกรมการแพทย์แผนไทย ให้ช่วยศึกษาใบกระท่อม เนื่องจากทราบว่าใบกระท่อมมีส่วนในการช่วยรักษา “อาการลงแดง” จากยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งสมัยก่อนเขานำมาใช้เพื่อช่วยอดฝิ่น
🍀เปิดประวัติกระท่อมในไทย ถูกขึ้นทะเบียนยาเสพติดเพราะเรื่อง “เก็บภาษี”
หมอขวัญชัย เล่าย้อนที่มาของการขึ้นทะเบียน “พืชกระท่อม” เป็นยาเสพติดประเภท 5 ว่า เมื่อก่อนชาวบ้านเขาใช้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมไปถึงภาคใต้ของไทย และมีการบรรจุในตำรับยา ปรากฏข้อมูลในแพทย์แผนโบราณของ “ขุนโสภิต บรรณาลักษณ์” (อำพัน กิตติขจร) หรือตำรับยาแพทยศาสตร์สงเคราะห์ โดยเป็นตำราที่ ก.สาธารณสุขให้การรับรอง
1
“พืชกระท่อมนิยมมาก สำหรับคนที่ทำงานหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะชาวสวน ชาวไร่ เขาจะรูดเนื้อใบกระท่อม (ไม่เอาเส้นใบ) ใส่ปากเคี้ยว น้ำในใบกระท่อมที่เคี้ยวออกมาจะไม่มีรสชาติ จืดๆ เคี้ยวเหมือนหมาก พอเคี้ยวจนพอก็คายกากออกมา สรรพคุณจะช่วยให้ทำงานกลางแดด สู้แดดได้ดี ไม่เหนื่อยง่าย ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ถ้าคนเมืองก็เปรียบเสมือนการดื่มกาแฟ ร้านน้ำชาบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ จะมีถาดใส่ใบกระท่อมบริการด้วย”
3
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยสาเหตุที่พืชกระท่อม ถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 เพราะ “เก็บภาษีไม่ได้” ใช่ครับ...เพราะเก็บภาษีไม่ได้ และนำมาใช้ผิดวิธี
นพ.ขวัญชัย เล่าว่า ในช่วงสมัย ร.8 เข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะสมัยนั้นมีโรงฝิ่นถูกกฎหมาย รัฐบาลเวลานั้นมีการเก็บอากรฝิ่น เก็บเงินภาษีจากตรงนี้ แต่ตอนหลังประชาชนหันมาใช้ใบกระท่อม กัญชา แทน เพราะไม่อยากซื้อฝิ่นในราคาแพง ก็เลยกลายเป็นว่า กัญชาและกระท่อม กลายเป็นยาเสพติด ประเภท 5
3
“เหตุผลต่างๆ มีหลายส่วน รวมถึงเรื่องการเก็บภาษี ประกอบกับ การนำกระท่อมมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปทำ 4 คูณ 100 ของกลุ่มวัยรุ่น โดยใช้น้ำใบกระท่อมเป็นส่วนผสม และอื่นๆ ทำให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งแท้จริงแล้ว ใบกระท่อม ไม่ได้มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา แต่แค่กระตุ้น เมื่อเอามาใช้เป็น 4 คูณ 100 ทำให้มึนเมา และกระตุ้น เรียกว่าเมาจนสามารถเต้นได้ทั้งคืน การนำพืชกระท่อมมาใช้ในทางที่ผิด ส่งผลให้สังคม และทางราชการมองใบกระท่อม รวมถึงกัญชาเป็นสิ่งเสพติด และกลายเป็นผู้ร้ายในที่สุด”
1
🍀สรรพคุณ แก้ท้องร่วง เบาหวาน ปวดเมื่อย ไอ นอนไม่หลับ ฯลฯ
1
นพ.ขวัญชัย ระบุสรรพคุณที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า หลักๆ คือ ใช้ในการแก้ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ในสมัยโบราณ ยังเอามาใช้สำหรับการอดฝิ่น แก้อาการ “ลงแดง”
1
สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับ “กระท่อม” มีชัดเจนว่าใช้สำหรับอาการแก้ปวด โดยเฉพาะสาร “ไมทราไจนีน” (Mitragynine) สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คล้ายกับกาแฟที่ใช้กระตุ้น ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า หมอพื้นบ้านจะนำมาใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ไว้ใช้แก้โรคต่างๆ
1
จากข้อมูลเอกสารวิชาการ พืชกระท่อม : การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุมชนและงานวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อม เพื่อกำหนดนโยบายการแก้ไขพืชกระท่อมของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 โดยอ้างอิงจากรายงานวิจัย ในปี 2548 เกี่ยวกับภูมิปัญญาการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้าน แถบ 14 จังหวัดภาคใต้ ในการรักษาโรคมาอย่างน้อย 10 ปี
โดย 5 อันดับ หมอพื้นบ้านใช้พืชกระท่อมเป็นยารักษาโรค คือ
- โรคท้องร่วง ร้อยละ 67.4
- โรคเบาหวาน ร้อยละ 63.3
- โรคปวดเมื่อย ร้อนละ 32.7
- แก้ไอ ร้อยละ 26.5
- ขับพยาธิ
- แก้ปวดท้อง
- นอนไม่หลับ ร้อยละ 14 ตามลำดับ
1
🍀ใบและเปลือกกระท่อม เป็นส่วนเครื่องยาที่เลือกใช้โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
1. การใช้รักษาอาการท้องร่วง ปวดท้อง
- เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียด ดื่มน้ําตาม
- ต้มใบกระท่อม เกลือ น้ําตาลทรายแดง กินแก้ปวดท้อง
- เปลือกต้นกระท่อม เปลือกต้นสะเดา เปลือกต้นมะขาม หนักอย่างละ 50 กรัม หัวขมิ้นชัน (แก่) หัวกระทือ (แก่) อย่างละ 1 หัว เผาไฟพอสุก ต้มรวมกับน้ําปูนใส น้ํา ธรรมดาอย่างละเท่าๆ กัน รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนแกง เมื่อหายจึงหยุด
2. รักษาโรคเบาหวาน
-ใช้กระท่อมทั้ง 5 (ใบ กิ่ง เปลือกต้น รากเนื้อไม้ หรือใช้ต้นกระท่อมต้นเล็ก สูงประมาณ 1 ศอก 1 ต้น) สับใส่หม้อตามวิธี รับประทานครั้งละ 3-5 ซ้อนแกง เช้า-เย็น
- เคี้ยวใบกระท่อม วันละ 1 ใบ นาน 41 วัน
- ต้มใบกระท่อม หญ้าหนวดแมว ไม้ค้อนตีนหมา อย่างละเท่ากัน ต้มน้ํา 3 เอา 1 ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น
- ใบกระท่อม อินทนินน้ํา กระเทียมต้น กระเทียมเถา ต้มน้ําดื่ม
3. แก้ปวดเมื่อย
- เถาวัลย์เปรียง มะคําไก่ มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เถาโคคลาน เถาสังวาล พระอินทร์ หญ้าหนู ต้นผักเสี้ยนผี แก่นขี้เหล็ก ใบมะกา อย่างละ 1 ส่วน เนื้อในฝัก ราชพฤกษ์ 5 ฝัก ใบกระท่อม 2 ส่วน เถากําแพงเจ็ดชั้น 3 ส่วน ต้มตามวิธี ใช้รับประทาน ก่อนอาหาร เช้า-เย็น ครั้งละ ครึ่ง-1 ถ้วยกาแฟ
4. แก้ไอ
- ใช้ใบสด 1-2 ใบ ต้มกับน้ําตาลทรายแดง ดื่มแก้ไอ หรือเคี้ยวใบสด คายกาก และดื่มน้ําตามมากๆ
5. ขับพยาธิ
- ใช้ใบสดขยี้กับปูน (กินหมาก) ทาท้อง ฯลฯ
หมอพื้นบ้าน ทราบดีว่าการเคี้ยวใบกระท่อมทําให้ท้องผูก และวิธีการแก้ไขอาการข้างเคียงนี้คือการใช้ร่วมกับสมุนไพรที่มีคุณสมบัติระบายท้อง เช่น ชุมเห็ดเทศ เป็นต้น ส่วนอาการมึนศีรษะ หลังเคี้ยวใบกระท่อม ก็แนะนําให้ดื่มน้ํามากๆ
สำหรับตำรับยาดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ระบุในงานวิจัยชุดนี้ โดย นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า เท่าที่ไปคุยกับหมอพื้นบ้าน ทราบว่า พืชกระท่อมใช้ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ ราก ต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผล สามารถนำมาปรุงยาได้หมด แต่นี่คือตำรับของหมอพื้นบ้าน แต่...หากเป็นตำราหลวง เราจะใช้ใบเป็นหลัก สาเหตุเพราะใบมีสาร “ไมทราไจนีน” อยู่มาก ส่วนการจะใช้มากน้อยขนาดไหน คงขึ้นอยู่กับผลแล็บ ต้องไปหาคำตอบให้ชัดเจน
“ข้อมูลจากหมอพื้นบ้านเชื่อว่า สารนี้จะออกมาจากการต้ม อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการทดลอง เช่น การหมักในแอลกอฮอล์ หรือสกัดด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อเอาสาร “ไมทราไจนีน” ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการวิจัย ส่วนสาเหตุที่มีการวิจัยเรื่องนี้ไม่มาก เพราะที่ผ่านมา มันกลายเป็น “ยาเสพติด” จึงทำให้ไม่มีใครกล้าจะนำมาวิจัย เพราะกลัวผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีหากไปครอบครองโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีทาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ก็มีการศึกษาอยู่พอสมควร”
⚠️สำหรับ ข้อเสีย...
นพ.ขวัญชัย เชื่อว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะการใช้ใบกระท่อมก็เหมือนกับกาแฟ กินมากไม่ดี แต่ถามว่ามีข้อเสียร้ายแรงหรือไม่...ถึงเวลานี้ ยังไม่เคยได้ยิน
เมื่อถามว่า ผลข้างเคียงจะรุนแรงถึงขั้นนอนไม่หลับ หรือหัวใจเต้นเร็ว เลยไหม นพ.ขวัญชัย บอกว่า ถ้าขนาดนั้นก็แสดงว่ากินเกินขนาด ถ้ากินกันตามปกติ จะไม่ถึงขนาดนั้น ฤทธิ์มันก็เหมือนกาแฟ
แต่คำเตือนที่ชาวบ้านบอกกันรุ่นสู่รุ่น คือ “ห้ามกลืน” เมื่อเคี้ยวเสร็จต้องคายทิ้ง เพราะเส้นใยของใบกระท่อมจะเหนียวมาก ถ้าใครกลืนเข้าไปมากๆ มันอาจจะไปจับตัวเป็นก้อน ก่อให้เกิด “ลำไส้อุดตัน” นอกจากนี้ ก็คือการเลือกใช้ให้ถูกวิธี อย่าเอาไปทำอะไรผิดๆ เช่น ไปทำเครื่องดื่ม 4 คูณ 100
1
อนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจ กลายเป็น เครื่องดื่มชูกำลัง❓
1
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า พืชกระท่อม ถ้าปลูกในพื้นที่ภาคใต้จะได้คุณภาพดี เพราะฝนตกชุก เพราะกระท่อมเป็นพืชที่ชอบน้ำ ส่วนที่ใช้ภาคเหนือ...ต้องดูดีๆ เพราะมันไม่ใช่กระท่อม นั่นเขาจะเรียกว่า “กระทุ่ม”
“ตอนนี้เราทราบว่า มีนักธุรกิจหลายรายสนใจใบกระท่อมเป็นอย่างมาก เราเองได้ประสานกับ มอ. เพื่อจะมาให้ข้อมูลการวิจัยมาให้ความรู้ ซึ่งเราจะจัดงานเร็วๆ นี้ และนักธุรกิจเหล่านี้ก็สนใจ และเชื่อว่า เร็วๆ นี้ อาจจะมีผลิตภัณฑ์ Energy Drink ออกมาเร็วๆ นี้ เหมือนกาแฟ กระป๋อง ก็เป็นกระท่อมกระป๋อง
1
ทางกรมฯ เอง ก็อาจจะช่วยให้ความรู้ รวมถึงร่วมประเมินเรื่องความปลอดภัย ให้นำไปใช้อย่างถูกต้องและไม่เกิดผลข้างเคียงและเสียหายภายหลัง
เชื่อว่าในอนาคต “กระท่อม” อาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่อาจช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิดได้ ส่วนตัวก็หวังว่า “กระท่อม” จะสามารถทดแทนยาบ้า (สมัยก่อนเป็นยาม้า ที่กินเพื่อให้ทนทำงานหนักได้) จะมีส่วนช่วยในบำบัดรักษาการติดยาเสพติด ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทาง ป.ป.ส. ประสานทางกรมให้มาช่วย ที่สำคัญ จากตำรับยาดั้งเดิม กระท่อม ก็เป็นตัวยาหนึ่งที่ใช้อดฝิ่น นอกจากนี้ยังมีกัญชา รวมทั้งยางฝิ่นด้วย ซึ่งยาในตำรับไทย มักจะใช้แบบ “พิษแก้พิษ”
ฉะนั้น การเอายาเสพติด มารักษาการติดยาเสพติด ก็คล้ายกับการแพทย์ยุคใหม่ที่ใช้ เมทาโดน (methadone) ซึ่งก็คือ ยาเสพติด มาใช้ในการรักษาการติดเฮโรอีน ซึ่งใช้อย่างมีประโยชน์มันก็จะได้ประโยชน์ โดยอาจจะค่อยๆ ลดขนาดลง เพื่อ “ถอน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา