2 ก.ย. 2021 เวลา 07:12 • สุขภาพ
การขาดแคลนบุคลากรการบินช่วงหลัง COVID-19
อุตสาหกรรมการบินกำลังประสบกับปัญหาอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่องานด้านการบินในระยะยาวอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินหลังการแพร่ระบาด แต่ในขณะนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด สายการบินต่างๆ ได้ลดเส้นทางบินและเที่ยวบินเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 พนักงานภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมถึงนักบิน ได้รับการสนับสนุนให้หยุดงาน หรือใช้การลางานระยะยาวโดยได้รับค่าจ้าง
ทุกวันนี้อุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน และมีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่รออยู่ในอนาคต เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า COVID-19 จะคงอยู่นานแค่ไหน หรือจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างไรในระยะยาว ซึ่งทำให้ยากต่อการวางแผนล่วงหน้าสำหรับอาชีพในสาขานี้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินยังคงเป็นสายงานที่น่าตื่นเต้น และไม่หยุดนิ่ง มีรายงานว่าสายการบินใหญ่ๆในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่ม กลับมาจ้างงาน อีกครั้ง
มีการรายงานว่าสายการบิน American Airlines มีแผนที่จะทำการจ้างงานกว่า 19,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2564 ขณะที่สายการบิน Delta Airlines จะทำการจ้างงานนักบินเพิ่มอีกกว่า 1,900 ตำแหน่งในเดือนเดียวกัน
สายการบินบางแห่ง เช่น Jet Blue Airways, Delta Air Lines และ Southwest Airlines ได้เริ่มการรับสมัครพนักงานสำหรับตำแหน่งที่ว่างของพวกเขาแล้ว หลังจากที่ความหวาดกลัวการระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง
ทางสมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (The Association of Flight Attendants) คาดการณ์ว่าจำนวนตำแหน่งงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเพิ่มจำนวนจาก 80,000 คนในเดือนมิถุนายน เป็น 100,000 คนในภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการพนักงานมากขึ้นเมื่อเหตุการณ์การแพร่ระบาดฯ มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ของไทยเองล่าสุด สายการบิน Thai Smile ก็มีการเปิดรับสมัครงานในหลายตำแหน่ง อาทิ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายขาย และฝ่ายประกันคุณภาพ เป็นต้น
แต่การจ้างงานนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มีหลายบทความเขียนเกี่ยวกับ ปัญหาการขาดแคลนบุคลกรทางการบิน ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื้อหาสรุปได้ว่า
ปัญหาหนึ่งที่อุตสาหกรรมการบินต้องประสบมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีก่อนการแพร่ระบาดฯ คือ การที่สายการบินมีจำนวนนักบินไม่เพียงพอ ซึ่งจำนวนนักบินที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของสายการบินต่างๆ นั้น เนื่องมาจากเหตุผลหลากหลาย อาทิเช่น การเกษียณอายุงานของนักบินที่มีประสบการณ์ ชั่วโมงบินที่กำหนดสำหรับการเป็นนักบิน อุปสรรค์ในการขอวีซ่าการทำงาน หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการฝึกอบรมนักบิน
ถึงแม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดฯ นั้นจะทำให้หลายสายการบินต้องหยุดบินชั่วคราว ส่งผลให้จำนวนนักบินมีมากเกินความต้องการ แต่เหตุการณ์นี้คาดว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อคนกลับมาเดินทางอีกครั้ง ปริมาณความต้องการนักบินก็จะกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดฯ ด้วยจำนวนนักบินที่น้อย สายการบินจึงจะต้องจ่ายเงินเดือนสูงขึ้น เพื่อชดเชยการขาดแคลนนี้
สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้น ก็ประสบปัญหาเหมือนกับตำแหน่งงานอื่นๆ การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกทำให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และลูกเรือต้องหยุดบิน แต่เหมือนกับนักบิน เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นสายการบินก็จะกลับมาทำการบิน ความต้องการพนักงานก็จะกลับมา จะมีการเรียกให้พนักงานกลับมาทำงาน รวมถึงจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น พนักงานจะได้รับการฝึกอบรมที่เข้มข้นขึ้นเนื่องจากกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มข้นขึ้น จะมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพิ่มขึ้น สิ่งนี้นำไปสู่ค่าแรงที่สูงขึ้นในที่สุด
ความยากลำบากของสายการบินในการเติมเต็มจำนวนพนักงานให้พอกับความต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆสายการบินใหญ่ในขณะนี้ นอกเหนือจากเหตุผลด้านอายุ และข้อจำกัดต่างๆที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีปัจจัยด้านการลาออกของพนักงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานด้วยเช่นกัน บทความเกี่ยวกับการลาออกของพนักงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดฯ ระบุว่าจากตัวเลขสถิติของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงการมีจำนวนพนักงานลาออกจากงานเดิมเพื่อหางานใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการลาออกมีสาเหตุมาจากการที่พนักงานได้พบแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับชีวิตมากขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น เช่น ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิต หรือทำงานตามขั้นตอนแบบเดิมอีกต่อไป รวมถึงการได้รับรู้ถึงความห่วงใยขององค์กรที่มีต่อพนักงานในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งบางแห่งก็จะปฏิบัติต่อพนักงานดีกว่าองค์กรที่กำลังทำงานอยู่ ส่งผลให้เกิดการย้ายงาน เป็นต้น
สรุปว่า ยังคงมีโอกาสมากมายในงานด้านการบิน เนื่องจากงานด้านการบินไม่ได้จำกัดเฉพาะนักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเท่านั้น ยังมีงานด้านการบินอีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น การควบคุมการจราจรทางอากาศ (ATC) การอำนวยการบิน การซ่อมบำรุงเครื่องบิน คลังสินค้าทางอากาศ และการดูแลด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการบริการบนเครื่องบิน เป็นต้น
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรทำในช่วงเวลานี้คือต้องแน่ใจว่าในช่วงที่ไม่ได้ทำการบินนี้ ควรเติมเต็มทักษะด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานการบินในอนาคตให้มากขึ้น เช่น “ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์” หรือ “ความรู้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน” เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา