2 ก.ย. 2021 เวลา 08:30 • สุขภาพ
รู้จักโควิดสายพันธุ์ใหม่ 'ตัวร้าย' C.1.2 อะไรทำให้นักวิทย์ทั่วโลกจับตา
เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ชนิดใหม่ C.1.2 ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ กลายเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อทั่วโลก หลังจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ได้ออกคำเตือนเมื่อ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา
จากข้อมูลงานวิจัยโดยสถาบัน Communicable Diseases and the KwaZulu-Natal Research Innovation and Sequencing Platform ในแอฟริกาใต้ ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ หรือ 'peer review' ได้รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ว่า
1
นับตั้งแต่มีการพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เมื่อ พ.ค. 64 ต่อมาได้พบมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ทุกรัฐ ใน 9 รัฐของประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 1% ในเดือน มิ.ย. มาเป็น 3% ในเดือน ก.ค.
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ พบผู้ติดเชื้อในเดือน มิ.ย. 67% เพิ่มเป็น 89% ในเดือน ก.ค.
เชื้อโควิด C.1.2 ซึ่งกลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ C.1ซึ่งพบในการระบาดระลอกแรกนั้น เป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เกิดการกลายพันธุ์ในจีโนม (Genome : ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต) มากที่สุดกว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อื่นๆ เพราะได้เกิดการกลายพันธุ์บ่อยครั้งในอัตราสูงถึง 41.8 ครั้งต่อปี หรือเกือบสองเท่าของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่น่ากังวลที่พบในขณะนี้
ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Communicable Diseases and the KwaZulu-Natal Research Innovation and Sequencing Platform ของแอฟริกาใต้ ชี้ว่า เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ C.1.2 อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายติดเชื้อง่ายกว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา และอาจมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์จากการฉีดวัคซีนได้
■ WHO ยังไม่ได้จัดให้อยู่ในสถานะน่าสนใจหรือน่ากังวล
อย่างไรก็ตาม หลังจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ได้แจ้งเตือนเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 และขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้กำลังเฝ้าติดตามเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ รวมถึงตรวจสอบพฤติกรรมของมัน ทั้งในเรื่องของการทำให้เกิดการติดเชื้อและการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการหลบหลีกภูมิจากวัคซีน
ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงในวันต่อมาว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้มีการจัดให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือสายพันธุ์ที่น่าสนใจ อีกทั้งดูเหมือนไม่พบเชื้อนี้มีการแพร่ระบาด
โฆษกองค์การอนามัยโลก มาร์กาเร็ต แฮร์ริส กล่าวว่า ดูเหมือนไม่พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ในวงจรการระบาดเพิ่มขึ้น และขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่จัดให้เป็นเชื้อที่อยู่ในสถานะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
■ ทำไมนักวิทย์ทั่วโลกจับตา C.1.2 ทันที
สาเหตุที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากทันที ขณะที่ตอนนี้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้แพร่ระบาดไปยัง 7 ประเทศ ในทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชียแล้ว ได้แก่ อังกฤษ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มอริเชียส นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์
สาเหตุที่ต้องเฝ้าจับตา คือ ทั้งที่เชื้อโควิด C.1.2 ยังพบการแพร่ระบาดในระดับต่ำ แต่กลับมีการกลายพันธุ์ในจีโนมสำคัญจำนวนหนึ่ง เหมือนกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ก่อนหน้า
จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและยกให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมทั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยพบเจอมาก่อนอยู่ในขณะนี้
■C.1.2 เกิดกลุ่มกลายพันธุ์เหมือน 'เดลตา' ตัวร้าย
ดร.เมแกน สเตน นักไวรัสวิทยาและอาจารย์ด้านระบบภูมิคุ้มกันและโรคติดต่อที่มหาวิทยาลัย Central Clinical School ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้โควิด C.1.2 ได้รับการแจ้งเตือนจากแอฟริกาใต้ เป็นเพราะโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดกลุ่มกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ
'มันมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว เหมือนที่เราเห็นในเชื้อโควิด-19 ที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจและน่ากังวล' ดร.สเตน อธิบายและบอกว่า 'ทุกครั้งที่พวกเราเห็นการกลายพันธุ์เฉพาะ พวกเราต้องจับตาสายพันธุ์เหล่านี้ว่ามันกำลังจะทำอะไรต่อไป?
เพราะการกลายพันธุ์เหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลตามมาหลายเรื่อง อย่างเช่น ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์จากการฉีดวัคซีน หรือการแพร่กระจายได้เร็วขึ้นกว่าเดิม'
ดร.สเตน กล่าวด้วยว่า คงต้องให้เวลาแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ในการทำการวิจัยทดสอบในห้องแล็บเพื่อดูว่าไวรัสโควิด-19 C.1.2 มีความร้ายกาจขนาดไหน'
■มีโอกาส โควิด C.1.2 อาจสูญพันธุ์ก่อนระบาดหรือไม่?
เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่มีการเกิดขึ้นตลอดเวลา และเชื้อโควิดจำนวนมากได้สูญพันธุ์ตายไปหมดแล้ว ก่อนที่พวกมันจะแพร่ระบาดจนเป็นปัญหาอย่างแท้จริงให้กับมนุษย์
มีโควิด-19 สายพันธุ์จำนวนมากที่มีความเปราะบางมาก ด้วยเหตุนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เชื้อโควิด-19 อยู่รอด เพื่อจะได้กลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตัวเองและดำเนินต่อๆ ไป และนี่คือการเริ่มต้นของสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งพวกเราได้เห็นในสายพันธุ์เดลตา
'เชื้อโควิด C.1.2 จะเหนือกว่า ร้ายกว่า และระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาก็ตรงจุดนี้' ดร.สเตน กล่าวและชี้ถึงความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด C.1.2 ว่าอาจสูญพันธุ์ ตายไปหมดก็ได้ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อแพร่ระบาดในอัตราต่ำ
เรียกว่า พวกเราชาวโลกคงได้แต่ติดตามเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 ตัวร้ายใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศ รวมทั้งจีนและอังกฤษ แล้วว่าจะรอดหรือตาย? และมันจะร้ายกว่า "เดลตา" ที่ว่าร้ายที่สุดในตอนนี้หรือไม่ ? ในขณะที่ตอนนี้หลายประเทศกำลังสะบักสะบอมในการสู้กับการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
ที่มา : The Guardian, Dailymail, Reuters
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ผวา พบโควิดกลายพันธุ์เก่งสุด C.1.2 ในอังกฤษ จีนแล้ว หวั่นร้ายกว่าเดิม
โฆษณา