5 ก.ย. 2021 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย จะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม ถ้าการท่องเที่ยวไม่ฟื้น
1
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่โควิด 19 สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลก
หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มาจนถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้ง่าย ๆ
สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้น
แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามกระตุ้นให้ผู้คนกลับมาท่องเที่ยว แต่คงยังไม่มีใครสามารถบอกได้ชัดว่า สถานการณ์จะกลับไปในระดับเดิม ก่อนวิกฤติครั้งนี้ ได้เมื่อไร
คำถามก็คือ แล้วมีแนวทางอะไรบ้าง ที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทย กลับมาเหมือนเดิม
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เพื่อให้เห็นภาพรวมกันชัด ๆ เราลองมาดูภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด 19
ปี 2009 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน
รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 0.5 ล้านล้านบาท
ปี 2019 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน
รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท
เราจะเห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2019 คิดเป็นเกือบ 3 เท่า ของปี 2009 ขณะที่รายได้ก็คิดเป็นเกือบ 4 เท่า
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยช่วงที่ผ่านมา มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นมาเรื่อย ๆ
1
และถ้าลองมาดูสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เทียบ GDP ของไทย
- ปี 2009 สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นประมาณ 6% ของ GDP ไทย
- ปี 2019 สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นประมาณ 11% ของ GDP ไทย
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโต ยังทำให้มีการจ้างงานในภาคนี้รวมกันกว่า 7.5 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของแรงงานในระบบ
ซึ่งแรงงานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนวนมาก เช่น โรงแรม, ร้านอาหาร, ร้านขายของที่ระลึก, ร้านสปาและนวด, การขนส่ง
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตได้ดี ก็มีหลายปัจจัย เช่น
- รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในจีนและอินเดีย และความนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในจุดหมาย
1
- สถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่มีชื่อเสียงในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีความท้าทายบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น
- ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวหลักไม่กี่สัญชาติ
ในปี 2019 ประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็นชาวจีน ซึ่งการพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นได้
โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มากระทบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว เช่น อุบัติเหตุเรือล่ม และการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วงเวลานั้น และกระทบกับรายได้การท่องเที่ยวของไทยไม่น้อย
1
- แหล่งท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ไม่กี่แห่ง ไม่กี่จังหวัด
ในปี 2018 กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และภูเก็ต 3 จังหวัดนี้มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกัน คิดเป็น 65% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวทั้งประเทศ สะท้อนได้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของไทย ยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น
1
Cr.travel.mthai
- การเติบโตของรายได้จากภาคการท่องเที่ยว มีน้ำหนักไปที่จำนวนนักท่องเที่ยว มากกว่าด้านราคา
1
มากกว่า 85% ของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ปานกลางถึงต่ำ และเพียง 15% เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง หรือพูดง่าย ๆ ว่า การเติบโตของรายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้น “เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ”
- ขีดจำกัดทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยว
อ้างอิงสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและระบบการคมนาคม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวกว่า 13% ของรายได้จากการท่องเที่ยว
แต่ตัวเลขนี้ก็ยังถือว่าน้อยกว่า ฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่มีสัดส่วนที่ 21% และ 27% ตามลำดับ
แม้หลายคนจะรับรู้ปัญหาที่ว่ามานี้ แต่เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมยังเติบโต ทำให้หลายคนอาจมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไป
จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทั้งหมด ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้
ในปี 2020 นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน
ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2021 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 58,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
คำถามคือ จากปัญหาเหล่านี้ที่เราเห็น ถ้าอยากให้อนาคตการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวกลับมา และเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น จะมีแนวทางไหนบ้าง ?
แนวทางเบื้องต้นที่น่าจะช่วยได้ก็อย่างเช่น
- เน้นดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงให้มากขึ้น
อ้างอิงจากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับ Visa ปี 2019 ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยอยู่ที่เฉลี่ยคนละ 48,000 บาท
ซึ่งถ้าเรามองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาในระดับเดิม เช่น จากที่เคยมากถึง 40 ล้านคน อาจเหลือเพียง 24 ล้านคน ในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า
หากลองสมมติว่า ประเทศไทยยังต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวเท่าเดิมที่ 1.9 ล้านล้านบาท สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 80,000 บาท
โดยวิธีที่จะเพิ่มรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้ ก็อย่างเช่น
อาจต้องหันมาเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง เช่น กลุ่ม Medical & Wellness Tourism ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึงประมาณเฉลี่ย 80,000-120,000 บาทต่อคน
รวมไปถึงต้องพยายามดึงดูดกลุ่มนักลงทุน และพนักงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย ซึ่งนับเป็นอีกกลุ่มศักยภาพที่ใช้จ่ายสูง
- ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
ประเทศไทยควรลงทุนในระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเชื่อมระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ให้สามารถเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวให้มากกว่าเดิม
1
และพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ไม่จำกัดเพียงแค่ช่วงฤดูท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ แต่ยังช่วยลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในเมืองหลักในยามที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา
แน่นอนว่ายังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนา และยกระดับเพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้มีทักษะการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี ที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
รวมไปถึงการที่ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย
สร้างจิตสำนึกไม่ให้เอาเปรียบนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งจัดการผู้ที่ทำผิดและฝ่าฝืนกฎระเบียบจนสร้างความเสียหายให้แก่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อีกเรื่องที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ ก็คงไม่พ้น
การสร้างภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด
และต้องประเมินการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดี
เพราะสุดท้ายแล้ว คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้ ถ้าการท่องเที่ยว ไม่ฟื้นตัวกลับมา..
1
โฆษณา