3 ก.ย. 2021 เวลา 12:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
EP.4 ทำไมรอยสักถึงไม่เลือนหายไป
หลังจากที่ไม่ได้เขียบบทความไปนาน (ปีกว่าๆ) วันก่อนผมนั่งไถ feed facebook ไปข่าวหนึ่งน่าสนใจมาก "สวทช คิดค้นวัคซีน Covid-19 แบบพ่นทางจมูก" ก็เลยนั่งคิดเล่นๆว่า จริงๆวัคซีนพ่นทางจมูกเป็น "สุดยอดนวัตกรรมเพื่อคนไทยโดยแท้จริง" ลองคิดสิครับว่า ประชากรไทยไม่น้อยที่ "สักยันต์หนังเหนียว" แล้วคนเหล่านี้จะฉีดวัคซีนได้อย่างไร ??? ในเมื่อเข็มแทงไม่เข้า !!!
4
ภาพข่าว สวทช คิดค้นวัคซีน COVID-19 แบบพ่นจมูก
เอาเข้าจริงๆผมไม่ได้มีความรู้เรื่อง "สักยันต์หนังเหนียว" เลย แต่อยู่ๆก็นึกขึ้นได้ว่า "ทำไมรอยสัก" ถึงไม่ลบเลือนหายไป อย่างมากก็แค่จางๆ เลยไปนั่งอ่านข้อมูล อ่านไปอ่านมารู้สึกน่าสนใจเลยเอามาเล่าให้ฟังดีกว่า
ก่อนอื่นต้องรู้จักโครงสร้างของผิวหนังคล่าวๆก่อนนะครับ ผิวหนังประกอบมีชั้นอยู่ 2 ชั้นนั่นคือ หนังกำพร้า (epidermis) ซึ่่งหลุดออกตลอดเวลา และ ชั้นหนังแท้ (dermis) ซึ่งเป็นชั้นที่ประกอบด้วยต่อมเหงื่อ เส้นประสาท เส้นเลือด และที่สำคัญคือ เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า macrophage ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญมากเกี่ยวกับรอยสักที่ไม่ลบ
เรามาเริ่มต้นด้วยการสักกันก่อนนะครับ หลายคนคิดว่าการสักคือการเอาเข็มจุ่มกับน้ำหมึกแล้วแทงเอาน้ำหมึกลงในชั้น "หนังแท้ (dermis)" แต่จริงๆแล้วการสักคือการเจาะให้ผิวหนังเป็นรู หลังจากการถอนเข็มออกต่างหากน้ำหมึกจะไหลลงไปติดในรู ถ้าพูดให้เห็นภาพเหมือนกับการที่เอาเท้าเหยียบโคลนนิ่มๆแล้วตอนที่เรายกเท้าออกน้ำจะไหลลงไปอยู่ในรอยเท้า ไม่แปลกที่ช่างสักจะรู้ดีว่าการสักบริเวณร่างกายที่นิ่ม (ลำตัว แขน น่อง) จะง่ายกว่าสักบริเวณร่างกายที่แข็งติดกระดูก (ใบหน้า หน้าแข้ง) เพราะผิวหนังที่นิ่มหมึกจะซึมลงไปได้ง่ายกว่าคล้ายๆกับโคลนนิ่ม
4
หมึกสักที่ค้างในชั้นหนังแท้
เมื่อสักมาใหม่ๆพบว่ารอยสักจะเข้มมากๆ และเมื่อเวลาผ่านไปสัก 1 เดือนรอยสักจะจางลง และเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 2-3 เดือน ความเข้มของรอยสักจะคงที่ไม่จางลงไปเหมือนตอนช่วงแรก เนื่องจากในช่วงแรกน้ำหมึกติดที่ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และหนังแท้ (dermis) เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2 เดือน หมึกที่ติดอยู่ที่หนังกำพร้า (epidermis) จะหลุดไปพร้อมๆกับหมึก จึงทำให้ในช่วงแรกรอยสักจางลง แล้วรอยสักที่เข้มคงที่คือหมึกที่ติดอยู่ในชั้นหนังแท้
3
รอยสักที่จางลงในช่วงแรกหลังสักใหม่ๆ
ตัวละครถัดมาคือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่า macrophage โดยปกติเซลล์นี้จะประจำการอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายรวมไปถึงใต้ชั้นผิวหนังคอย "ดักกิน" (ชีวะ ม.ปลาย คือ phagocytosis) สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และทำหน้าที่กินเศษเซลล์ที่ตายไปแล้วด้วย
1
การเอาเข็มจุ่มน้ำหมึกและแทงเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนัง เป็นการนำสิ่งแปลกปลอม (น้ำหมึก) เข้าไปในร่างกายซึ่งแน่นอนว่า macrophage ต้องเข้าไป "กิน" น้ำหมึก และเศษเซลล์ที่บาดเจ็บจากการสัก
2
ตอนแรกๆน้ำหมึกที่เข้าไปในชั้นหนังแท้จะถูกกินโดยเซลล์ที่ชื่อว่า fibroblast และ macrophage เมื่อนานๆเข้าเซลล์ fibroblast และ macrophage ชุดแรกตายลง macrophage ชุดใหม่จะเข้าไปกินซาก fibroblast และ ซาก macrophage พร้อมกับน้ำหมึกที่มันปล่อยออกมาใต้ผิวหนัง การกินนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านานหลายปี นี่จึงเป็นสาเหตให้ "รอยสัก" ไม่หายไปไหน แต่สามารถจางลงได้
2
macrophage ที่กินน้ำหมึก
การสักว่าเจ็บปวดแล้วการลบรอยสักจะยิ่งเจ็บปวดมากกว่า น้ำหมึกโมเลกุลใหญ่จะติดอยู่ใต้ชั้นหนังแท้กำจัดไม่ออก การลบรอยสักทำได้โดยการยิงเลเซอร์เข้าไปใต้ชั้นผิวหนังทำให้โมเลกุลของน้ำหมึกที่มีขนาดใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลเล็กๆ เมื่อน้ำหมึกแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กแล้วเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปกำตจัดได้และน้ำหมึกโมเลกุลเล็กจะเข้ากระแสเลือดในเลือดและสามารถกำจัดออกได้ทางตับและไต
2
พบว่าหมึกสีดำลบออกง่ายที่สุดเนื่องจาก สีดำสามารถดูดกลืนแสงได้ดี (วิชาฟิสิกส์ ม.ปลาย) จึงทำให้ได้รับพลังงานมากและแตกตัวง่ายกว่าหมึกสีอื่นๆ เพราะฉะนั้นการลบรอยสักดำจึงง่ายกว่าการลบรอยสักสีมาก
1
โมเลกุลของน้ำหมึกก่อนและหลังยิงเลเซอร์
จากการไถ feed facebook ไปเจอข่าว "วัคซีน covid19 แบบพ่นจมูก" คิดค้นมาเพื่อ "คนสักยันต์หนังเหนี่ยว" รึเปล่าไม่ทราบ แต่ก็ทำให้คิดเลยเถิดไปหาความรู้เกี่ยวกับ "รอยสักทำไมไม่หายไป"
ถ้าอ่านแล้วรบกวนติชมได้เลยนะครับ (ถ้าติเบาๆหน่อยก็ดีนะครับ) มือใหม่หัดเขียนครับ
by lazybio
เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียน ชีวะ-เคมี
สามารถ add QR code สอบถามรายละเอียดได้เลยนะครับ
โฆษณา