4 ก.ย. 2021 เวลา 03:37 • การตลาด
สรุปความเป็นมาของธุรกิจ Lotus's
จากอดีด ถึง ปัจจุบัน #จบครบในโพสเดียว
.
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงจะได้ยินข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพี อย่าง Lotus's ซึ่งการปรับในครั้งนี้จะส่งผลให้ Makro จะกลายเป็นเจ้าของ Lotus’s ทั้ง 100% ทั้งที่ไม่เคยมี Lotus’s อยู่พอร์ทมาก่อนเลย จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดมีความเป็นมาอย่างไร เล่าเรื่องการตลาด จะขอเล่าสรุปให้เข้าใจกันง่ายๆ ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย
ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว
ประเทศไทยยังไม่มีไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย หรือ ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในไทยเลยแม้แต่รายเดียว จนกระทั่งในปี 2537 กลุ่ม CP ได้เปิดตัวไฮเปอร์มาร์เก็ตไทย เจ้าแรกของประเทศไทยในชื่อว่า Lotus Supercenter ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ จัดตั้งโดยบริษัท บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP
แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2540 หรือ หลังเปิดกิจการได้เพียง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เจ้าสัวธนินท์จำใจต้องขายกิจการของโลตัสไปให้กับ ‘TESCO’ ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกในประเทศอังกฤษ
เจ้าสัวได้กล่าวว่า "กิจการโลตัส เปรียบเสมือนลูกรักของผม ตอนช่วงวิกฤติจำเป็นต้องขายไปฝากคนอื่นไปเลี้ยง มาในตอนนี้เขาจะขายออกมา ผมต้องซื้อ"
ปี 2541 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ TESCO Lotus ในประเทศไทย หลังจากที่เจ้าสัวธนินท์ตัดสินใจขายหุ้น 75% ของ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ให้กับกลุ่ม TESCO จากสหราชอาณาจักรด้วยมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราจึงได้ยินชื่อเรียก TESCO Lotus ติดหู ติดตา มาจนถึงปี 2564
ปี 2545 สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม CP ใน Lotus ค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกกลุ่ม CP ยังคงถือหุ้นอยู่ 25% แต่ภายหลังก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึง 1%
กลุ่ม TESCO ยังคงเป็นผู้ดูแลกิจการ TESCO Lotus เรื่อยมานับแต่ปี 2541 จนกระทั่งในปี 2562 กลุ่ม TESCO ได้พิจารณาการขายกิจการ TESCO Lotus ในประเทศไทยและมาเลเซีย ณ เวลานั้นมีผู้ที่ให้ความสนใจในการเข้าประมูล 3 กลุ่ม ธุรกิจใหญ่ของประเทศไทย ประกอบไปด้วย เครือซีพี เครือไทยเบฟ และ เครือเซ็นทรัล ข่าวดังกล่าวได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ดีลการประมูลในครั้งนี้กลายเป็นที่จับตามองของคนไทยทั้งประเทศ
ปี 2563 Lotus ในประเทศไทย และ มาเลเซีย ได้กลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่ม CP อีกครั้ง หลังจากชนะการประมูลด้วยมูลค่ากว่า 338,000 ล้านบาท แบ่งกระจายการลงทุนโดย 3 บริษัทใหญ่ในเครือ CP ประกอบไปด้วย CPall ถือหุ้น 40% รองลงมา CPH ถือหุ้น 40% และสุดท้าย CPM ถือหุ้น 20%
ช่วงต้นปี 2564 หลังจากที่ Lotus กลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของเครือ CP ไม่นาน ก็ได้ดำเนินการรีแบรนด์ (Rebrand) จากชื่อ TESCO Lotus ให้กลายเป็น Lotus's พร้อมปรับเปลี่ยนโทนสี และภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยหากเราสังเกตุดีดีจะพบว่าสาขาใหญ่ๆ ใจกลางเมืองจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโฉมไปบ้างแล้ว
ข่าวใหญ่ล่าสุดที่ตามมาในช่วงเดือน สิงหาคม ปี 2564 กลุ่ม CP ได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่ โดยการโยกกิจการทั้งหมด 100% ของ Lotus's ไปให้ Makro ดูแล โดยแลกกับการที่ Makro ต้องออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ ได้แก่ CPall CPH และ CPM
ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และ การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของกิจการ Lotus's ในประเทศไทยในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับการแข่งขันทางธุรกิจอย่างไร ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ และ ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร เราคงต้องมารอติดตามกัน เพราะต่อไปนี้ ไม่ว่าเราจะเลือกเดินเข้าไปซื้อสินค้าจาก Lotus's หรือ Makro ต่างก็เป็นกิจการของเจ้าของคนเดียวกัน
เมื่อก่อนเราอาจจะมีชื่อเรียกติดปากว่า "Tesco Lotus"
แต่ต่อไปเราอาจจะได้ยินชื่อเรียกใหม่ "Makro - Lotus" ก็เป็นได้
รู้หรือไม่ว่า ... ?
's ที่เพิ่มเข้ามาต่อท้ายชื่อ Lotus's
ไม่เพียงแต่แสดงความเป็นเจ้าของโดยกลุ่ม CP แต่ยังต้องการสื่อถึง ' สัญลักษณ์ของ Drop Pin หรือ การปักหมุด สื่อถึงการปักหมุดให้โลตัสเป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า และ S ต้องการสื่อถึง คำว่า “SMART” หรือ การสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Smart เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันและในอนาคตนั้นเอง
ติดตามบทความสาระความรู้ใหม่ๆ ได้ที่
โฆษณา