8 ก.ย. 2021 เวลา 02:20 • การศึกษา
เจ็ดเรื่องต้องรู้ก่อนสอบ TOEFL iBT
1. TOEFL iBT เป็นการสอบวัดความสามารถการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษทั้งสี่ด้าน คือการฟัง พูด อ่าน เขียน ว่าผู้สอบมีความสามารถมากเท่าใดในระดับการเรียนมหาวิทยาลัย (Academic English Proficiency) แต่ละส่วนจะมีคะแนนเต็ม 30 คะแนน รวมเป็น 120 คะแนน
เนื่องจากเป็นการวัดความสามารถด้านการสื่อสารในสภาพแวดล้อมแบบสถานศึกษา ผู้สอบต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ทักษะแต่ละด้านไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นอ่านกับฟังแล้วพูดตอบคำถาม, ฟังคำถามแล้วพูดตอบ หรือทั้งอ่านและฟังเพื่อจับประเด็นแล้วเขียนตอบคำถาม
การสอบนี้ไม่มีผ่านหรือตก มหาวิทยาลัยที่จะรับนักศึกษาหรือหน่วยงานที่จะรับพนักงานเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คะแนนที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี กำหนดเอาไว้ที่ 55 และ 65 ตามลำดับ (TOEFL Internet Based)
อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ ETS ก็มีเกณฑ์แปลผลคะแนนที่ได้ว่าผู้สอบมีทักษะในแต่ละด้านอยู่ระดับใด ดังนี้
ฉะนั้นหากเทียบกับเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีกำหนดไว้สำหรับระดับปริญญาเอก ก็ตีความได้ว่าผู้สมัครควรมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 16-17 คะแนนในทุกทักษะ นั่นคือมีทักษะภาษาอังกฤษโดยรวมอยู่ในระดับกลาง (intermediate) ส่วนคำอธิบายโดยละเอียดว่าแต่ละระดับอย่าง Advance หรือ Intermediate นั้นหมายถึงอะไร อ่านได้จากเอกสารเผยแพร่ด้านล่างนี้
Performance Descriptors for the TOEFL iBT® Test
2. มีการสอบ TOEFL iBT Home Edition ที่ให้ผู้สอบทำข้อสอบที่บ้านด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ โดยที่คอมพิวเตอร์ของเราต้องเชื่อมต่อกับกล้องและไมโครโฟน รวมถึงใช้ EST Test Browser ที่เป็นโปรแกรมสำหรับเข้าระบบทำข้อสอบโดยมีผู้คุมสอบ (Proctor) เฝ้าดูเราผ่านหน้ากล้องว่าไม่วอกแวกหรือทำทุจริต
3. การสอบ TOEFL iBT Home Edition มีค่าสมัครสอบ 215 USD (ราวเจ็ดพันบาท) การสอบจะเรียงตามลำดับคือ สอบการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน ตามรายละเอียดในรูปด้านล่าง ใช้เวลารวมสามชั่วโมง เมื่อทดสอบแล้วผู้สอบจะรู้คะแนนผ่านบัญชีผู้ใช้ภายใน 6-10 วันหลังการทดสอบ
4. เมื่อมีบัญชีผู้ใช้แล้ว เราต้องยืนยันตัวตนก่อนจึงจะจองและทดสอบ TOEFL iBT ได้ วิธีการคือเลือก Identification Information แล้วกรอกหมายเลขหนังสือเดินทางหรือรหัสประจำตัวประชาชนลงไป
5. เราต้องตรวจสอบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์เชื่อมต่อคือกล้องและไมโครโฟนของเรามีความพร้อมหรือไม่ด้วยโปรแกรม ProctorU Equipment Check ซึ่งเป็นลิ้งก์ในเว็บไซต์ของ ETS ผมขอยกตัวอย่างผลของโน้ตบุ๊คเครื่องเก่าที่เตรียมจะใช้สอบ จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของเครื่องค่อนข้างด้อยกว่าโน้ตบุ๊คสมัยนี้แต่มันก็ผ่านการประเมินเบื้องต้นได้
อันที่จริงก่อนหน้านี้ข้อกำหนดเรื่องแรมนั้นเป็น 4 GB ซึ่งเครื่องของผมไม่ผ่าน (เครื่องมีแรม 4 GB แต่มันจะเห็นแค่ 3.8 GB ซึ่งก็มากพออยู่แล้ว) ผมเดาว่าทาง ETS คงปรับความเข้าใจกับฝ่ายเทคนิคเรียบร้อยแล้วว่าคุณสมบัติเครื่องโดยรวมแค่ไหนจึงเพียงพอสำหรับการเชื่อมต่อนานสามชั่วโมงโดยไม่ติดขัด จึงปรับลดข้อกำหนดคุณสมบัติลงมา แล้วโน้ตบุ๊คของผมก็เลยมีคุณสมบัติครบถ้วน
6. นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก เช่นผู้สอบใช้ headset ได้แต่ต้องเป็นแบบไม่มีไมโครโฟนติดอยู่ หรือก็คือ headset ที่ทำงานเป็นหูฟังเท่านั้น หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับการสอบที่อนุญาตให้ใช้คือกระดานไวท์บอร์ดกับปากกาเขียนไวท์บอร์ด หรือใส้แฟ้มใสใส่กระดาษกับปากกา non-permanent ใช้จดบันทึกเป็นการทดความจำระหว่างทำข้อสอบได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมนั้นมีรายการคำแนะนำตามลิงก์ด้านล่างนี้
7. เว็บไซต์ ETS มีส่วนที่เป็นแหล่งรวมเนื้อหาฟรีสำหรับแนะแนวทางการฝึกฝนเพื่อทำข้อสอบ ได้แก่
การเตรียมตัวสำหรับผู้เข้าสอบ (For Test Takers) https://www.ets.org/toefl/test-takers/ibt/about/content/ ที่เน้นส่วนเนื้อหาและแบบทดสอบ
และการเตรียมตัวสำหรับครูกวดวิชาเพื่อสอนนักเรียนที่จะเข้าสอบ (For Teachers, Advisors and Agents) https://www.ets.org/toefl/teachers-advisors-agents/advising ที่เน้นการวางแผนกับเสริมสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจ
ทั้งหมดก็ครบเจ็ดเรื่องเบื้องต้นแล้ว หลังจากนี้จะเป็นบทความสรุปเกี่ยวกับภาพรวมการสอบ มาตรฐานข้อสอบ และการเตรียมพร้อมทักษะทั้งสี่ด้านตามแนวทางของ ETS ผมขอสนับสนุนให้ใครก็ตามที่พอจะอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้และคิดจะสอบ TOEFL iBT เข้าเว็บไซต์ไปศึกษาทันทีเลย ไม่ต้องรอกัน รวมถึงใครมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบนี้หากแวะมาแสดงความคิดเห็นไว้ด้วยก็จะขอบคุณอย่างยิ่ง แล้วเจอกันในบทความถัดไปครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา