4 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับไปปล่อยเกาะลังกา
เอนก นาวิกมูล เขียนค่ำ 18.30 น. เสาร์ 4 กันยายน2564
คนไทยโบราณแทบไม่ได้ออกไปค้าขาย เที่ยวเล่น หรือสำรวจไกลๆอย่างฝรั่ง จีน แขกเลย
มีแต่คนต่างชาติเข้ามายุ่งมาค้าขายกับเราแทบทั้งนั้น
ถ้าเราจะไปนอกประเทศบ้างก็คือรบศึก ซึ่งก็อยู่ในรัศมีพม่า-กัมพูชา-ลาว-ญวน-มลายู
ปัญหาก็คงมาจากการชอบอยู่กับที่ และขาดวิทยาการ ฯลฯ
คนที่มีโอกาสได้ไปต่างประเทศคือทูต กับพระ​ เช่นพระที่ออกไปสืบศาสนาถึงลังกา
เมื่อใกล้เสียกรุงครั้งที่ 2 มีเจ้านายชั้นสูงของไทยองค์หนึ่งคือ “กรมหมื่นเทพพิพิธ” ถูกจับส่งไปปล่อยเกาะลังกา
เจ้านายองค์นี้เป็นคนน่าสนใจมาก ท่านเป็นคนร่วมสมัยกับพระเจ้าตากสิน
หลังจากเราเสียกรุงแล้วท่านก็ไปเป็น “เจ้าพิมาย” และในที่สุดท่านก็.....
พระราชพงศวดาร ฉบับปลีกก็กล่าว พงศ.กรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดโพธิ์เขียนเมื่อสมัย ร.1 ก็กล่าว
พงศ.ฉบับพระราชหัตถเลขา ชำระสมัย ร.4 ก็เขียนถึงยืดยาว
แต่อ่านแค่ชื่อคน ราชาศัพท์ และเหตุกาณ์แทรกต่างๆก็เวียนหัวแล้ว
ผมจะเรียบเรียงเรื่องราวให้อ่านเข้าใจง่ายที่สุดโดยใช้ภาษาชาวบ้านช่วยดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(บางแห่งเขียนโกษฐ์)มีพระโอรสสำคัญ 2 องค์
1.เจ้าฟ้าเอกทัศ หรือกรมขุนอนุรักษ์มนตรี พ่อเห็นว่าปราศจากความเพียร
2.เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ หรือกรมขุนพรพินิต พ่อโปรดมาก จึงตั้งให้เป็นวังหน้า
เมื่อพ่อสวรรคตแล้วขุนนางใหญ่นำโดยกรมหมื่นเทพพิพิธก็ไปอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.2301
กรมหมื่นเทพพิพิธนี้ ฉวีงาม มาเจริญ กล่าวในหนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ข ว่าเดิมชื่อ “พระองค์เจ้าแขก”
 
เข้าใจว่าเป็นลูกพระเจ้าบรมโกศเหมือนกัน น่าจะอายุมากกว่าคนอื่น​ ผมยังไม่มีเวลาหาที่มาของข้อนี้
ท่านเป็นคนอัญเชิญพระแสงดาบและ ฯลฯไปถวายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ
เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อครองราชย์ไปได้หน่อยหนึ่งก็เกรงใจเจ้าฟ้าเอกทัศพี่ชาย ซึ่งอยากได้สมบัติ ชอบเสด็จขึ้นไปอยู่บนพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงถวายราชสมบัติให้พี่ชาย
เราจึงรู้จักเจ้าฟ้าเอกทัศในอีกนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (ที่เสียกรุง) -บางแห่งเขียนสุริยาศน์อมรินทร์
ถวายแล้วตนเองก็ออกไปผนวชที่วัดกระโจม
กรมหมื่นเทพพิพิธกับคณะอยากให้เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อกลับมาเป็นกษัตริย์ต่อ จึงไปเข้าเฝ้า”ขุนหลวงหาวัด” เพื่อวางแผน
กษัตริย์เอกทัศทราบความก็สั่งจับ
พงศ.ฉบับปลีกหน้า 135 ว่าจับกรมหมื่นฯได้ที่บ้านนาเริ่ง ปัจจุบันคือ อ.หนองแค สระบุรี
จับได้แล้วก็ส่งไป “ณ เกาะลังกาทวีป”
ฉบับพระพนรัตน์กล่าวแบบรวบรัดว่า
“ขณะนั้นพอกำปั่นอังกฤษลูกค้าเข้ามา ณ กรุง จึ่งมีพระราชโองการฝากกรมหมื่นเทพพิพิธแก่นายกำปั่น
ให้เอาไปปล่อยเสียที่เกาะลังกาทวีป”
แต่ฉบับพระราชหัตถเลขามีรายละเอียดว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อทราบแผนแล้วกลับคิดว่าต่อไปกรมหมื่นฯอาจจับเราสองพี่น้องฆ่าอีกที
จึงนำความไปบอกพี่ชาย แต่ขอไว้อย่างหนึ่งว่าอย่าทำเขาถึงตาย
กษัตริย์เอกทัศทราบความก็สั่งจับกรมหมื่นฯและพรรคพวก
กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปวัดพนัญเชิง มีคนตามไปสมทบช่วยป้องกันมาก
ฝ่ายกษัตริย์​ แต่งข้าหลวงที่ฉลาดไปเกลี้ยกล่อมว่าเจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อ แต่ถูกเจ้าปลัดกรมคิดอ่านกัน ให้ส่งพวกนั้นมาเถิด จะไม่เอาโทษ
เจ้าปลัดกรมรู้ตัวก็หนีแล้วไปผูกคอตาย คนอื่นๆก็แตกกระจาย
ส่วนกรมหมื่นฯพาลูกชายหนีเหมือนกัน พวกข้าหลวงไปตามจับได้ที่พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี (คนละทางกับฉบับปลีกที่ว่าไปนาเริ่ง)
ตอนนี้เองที่ฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดว่าขณะนั้นทางฝ่ายไทยกำลังจะส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีก
เพื่อไปผลัดกับคณะสงฆ์ชุดก่อนที่ยังคงค้างอยู่ที่ลังกา
ก็เลยให้เอาตัวกรมหมื่นฯลงกำปั่นไปปล่อยเสียที่ลังกาด้วย
เรื่องกรมหมื่นฯยังไม่จบ แต่ไม่ควรเขียนต่อ เพราะประเดี๋ยวจะสับสนงุนงง
ต้องให้คนเขียนกับคนอ่านพักสมองก่อน
กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับไปปล่อยเกาะลังกา
เอนก นาวิกมูล เขียนค่ำ 18.30 น. เสาร์ 4 กันยายน2564
คำบรรยายภาพ
1.เรือกำปั่นพาพระไปเมืองแขก จิตรกรรมสมัย ร.5 วัดโพธินิมิต ตลาดพลู เอนก นาวิกมูล ถ่าย 00706E-075-พฤ4ธค2551-โพธินิมิต
โฆษณา