8 ก.ย. 2021 เวลา 05:17 • หนังสือ
มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน VS ทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่
4
1.
"ยังไม่ทันได้สบาย ก็เตรียมตัวตายเสียแล้ว" ผมยังจำคำพูดนี้ได้ดี เหมือนเพิ่งได้ยินเมื่อวาน ทั้งที่ป้าข้างบ้านที่ต่างจังหวัดพูดประโยคนี้ไว้ตั้งสิบกว่าปีแล้ว ตอนนั้นแกถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง หลังจากตรากตรำทำงานมาหลายสิบปี ว่าจะสบายได้พักผ่อนเสียหน่อย กลับตรวจพบโรคร้ายที่อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ
4
ปัจจุบันป้าแกตายไปหลายปีแล้วครับ บังเอิญผมไปเปิดดูบันทึกเก่า ๆ จึงนึกถึงความทรงจำนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ภาพที่ผมจำได้ติดตาก็คือลุงป้าทำงานตลอดเวลา ตั้งแต่เช้ายันเข้านอน แทบไม่เคยไปเที่ยวไหนเลย
1
ภาพถ่ายโดย Elena Saharova จาก Pexels
ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับชีวิตพ่อแม่ของผม ทั้งคู่ทำงานหนักไม่เคยพักผ่อน "ชีวิตเอยไม่เคยสบาย" เหมือนเป็นปรัชญาคนรุ่นพ่อแม่ ...สำหรับคนรุ่นนี้ การทำงานคือชีวิต ถ้าไม่ทำงาน แล้วชีวิตจะคืออะไร?
เราจึงเห็นจนเป็นเรื่องปกติว่า คนรุ่นพ่อแม่พวกเขาทำงานหนัก เก็บแต่เงิน ใช้ชีวิตเขียม ๆ ถ้าได้ของดี ๆ มาก็จะไม่ใช้ เก็บไว้ก่อน ทนใช้ของเก่า ๆ ที่ไม่ดีไปก่อน ซึ่งกว่าจะได้ใช้ของดีที่ได้รับมา...ของดีชิ้นนั้นก็เก่าเสียแล้ว
อาจเพราะคนรุ่นพ่อแม่ผ่านความยากลำบากมาเยอะ จึงไม่กล้าใช้ของดี ๆ แม้จะมีปัญญาซื้อหามาใช้ หรือลูกหลานซื้อให้ก็ตาม
ผมนึกถึงที่คุณหนุ่ม โตมร ศุขปรีชา เคยพูดไว้นานมาแล้วว่า คนรุ่นพ่อแม่ที่ตอนนี้อายุ 60 ปีขึ้นไป พวกเขา "Live to Work" คือ มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน ในขณะที่คนวัยประมาณ 30 ปีขึ้นไป พวกเขา "Work to Live" คือ ทำงานเพื่อให้พอมีชีวิตอยู่ได้ แล้วขอเอาเงินนั้นไปกิน เที่ยว ดื่ม ดีกว่าจะมานั่งลำบากทั้งชีวิต ส่วนเด็กรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 30 ปี พวกเขา "Live & Work" คือ ทำงานอะไรก็ได้ ขอแค่ให้สอดคล้องไลฟ์สไตล์ อยากมีชีวิตอิสระในแบบของเขา พวกเขามีชีวิตเพื่อวันนี้
7
เมื่อมองจากมุมนี้ ปรัชญาชีวิตคนแต่ละรุ่นนั้นย่อมต่างกัน และไม่มีใครผิดใครถูก
1
จะเอามาตรฐานคนรุ่นเรา ไปตัดสินมาตรฐานคนรุ่นอื่น...คงไม่ถูกต้อง
2
2.
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นความต่างระหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับคนวัยทำงานรุ่น ๆ นี้ ดูเหมือนว่าคนรุ่นพ่อแม่ไม่คิดมากเรื่องชอบหรือไม่ชอบในงานที่ทำ พวกเขาก็แค่ทำไปเรื่อย ๆ เลี้ยงดูครอบครัวได้ก็พอแล้ว ในขณะที่คนวัยทำงานยุคนี้ดูเหมือนจะมีปัญหา พวกเขาจำนวนหนึ่งไม่ชอบงานที่ทำอยู่ และกลายเป็นความทุกข์ของยุคสมัย
2
หลายคนไม่ชอบวันจันทร์ เพราะคือวันที่ต้องไปทำงาน ถามว่าความรู้สึกแบบนี้มันเริ่มมาจากไหน? ...ผมเคยถามตัวเอง แล้วก็ได้คำตอบว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่วัยเรียน
1
ตอนเด็กเราถูกพรากจากอกพ่อแม่ให้ไปเรียน มีกี่คนที่ชอบไปโรงเรียน? ผมว่าน้อยมาก กว่าเด็กน้อยจะปรับตัวได้ก็นานแสนนาน พอปรับตัวได้ ก็เจอครูดุ เจอครูสอนน่าเบื่อ (หมายถึงครูบางคน ไม่ใช่ครูทุกคน) ทำให้หลายคนยิ่งไม่ชอบไปโรงเรียน...เราจึงเกลียดวันจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา
1
พอถึงวัยทำงาน จึงคล้ายเราถูกฝึกมาแล้วจากโรงเรียน จันทร์ถึงศุกร์เคยเป็นวันเรียน ก็แค่เปลี่ยนเป็นวันทำงานเท่านั้นเอง พักเที่ยงเคยกินข้าวโรงอาหาร ก็กลายเป็นลงจากตึกไปกินข้าวที่ร้าน แล้วซื้อผลไม้รวมขึ้นมากินบนออฟฟิศ
ที่เคยมีครูออกคำสั่ง ก็กลายเป็นมีเจ้านายมาสั่งแทน กริ่งเลิกเรียน ที่รอคอยมาทั้งวัน กลายเปลี่ยนเป็นนาฬิกาฝาผนังที่เราจ้องมอง ครูขานเช็คชื่อ มาครับ มาค่ะ กลายเป็นเครื่องตอกบัตรเข้าออกงาน
3
เราคุ้นชินกับชีวิตแบบนี้มาทั้งชีวิต จันทร์ถึงศุกร์อยู่ด้วยการทำตามคำสั่ง เสาร์อาทิตย์คือวันมีชีวิตในแบบของฉัน ธุรกิจบันเทิงเริงอารมณ์จึงเบ่งบาน อาจเพราะเราไม่มีความสุขกับการทำงาน จึงต้องหาที่ระบายความกดดัน
2
พูดแบบแรง ๆ เหมือนเราถูกสอนมาตลอดว่า ชีวิตก็แบบนี้แหละ ยอมรับสภาพไปเหอะ
3
นี่คือรูปแบบชีวิตที่ใครเขาก็ต้องเป็นกัน
3.
เปล่า...ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนจะไม่มีความสุขกับชีวิตรูปแบบนี้ เพราะบางคนเขาก็ชอบชีวิตแพทเทิร์น เลิกงานก็จบที่ตรงนั้น ไม่ต้องเก็บไปคิดมาก ชีวิตแบบนี้ดีและเหมาะกับใครหลาย ๆ คน
4
เพียงแต่ผมกำลังพูดถึงคนที่ไม่มีความสุขกับวันจันทร์ คนที่ทนทุกข์ 5 วัน เพื่อไปสุขสันต์ 2 วัน คนที่มองเห็นวันหยุดบนปฏิทินล่วงหน้าเป็นปี
หนึ่งในปัญหาระดับชาติก็คือ ทำอย่างไรคนกลุ่มนี้จึงจะหลุดจากวัฏจักร "เกลียดวันจันทร์"? ...ผมไม่มีคำตอบที่ใช้ได้กับทุกคน รู้แต่เพียงว่าคนที่ไม่เกลียดวันจันทร์ มักเป็นคนที่ "หางานที่รัก" เจอ
คำถามต่อมา ถ้าอย่างนั้นจะหางานที่รักเจอได้อย่างไร? คำถามนี้ผมเคยถูกถามอยู่บ่อย ๆ และมักตอบเหมือนเดิมทุกครั้งว่า...
1
1. ลองใช้ชีวิตให้หลากหลาย
2. อย่าคิดว่าตัวเองมีความสามารถเดียว
3. ลองไปในดินแดนที่ไม่เคยไป
4
4. ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
5. ไม่จำเป็นต้องทำงานตรงตามที่จบมา
6. หัดคบคนกลุ่มใหม่ ๆ ที่คิดไม่เหมือนเราเสียบ้าง
7. ยอมผิดพลาด ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
1
สิ่งเหล่านี้จะ "แงะ" เราออกจากความคุ้นชิน ความคุ้นชินที่จริง ๆ เราก็ไม่ได้ชอบ เพียงแค่เรากลัวการเปลี่ยนแปลง
4
เมื่อกล้าออกจากพื้นที่คุ้นชิน เราจะเริ่มพบเจอสิ่งใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ จะพาเราไปพบคนใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ จะพาเราไปพบโอกาสใหม่ ๆ โอกาสใหม่ ๆ จะพาเราไปพบอาชีพใหม่ ๆ และอาชีพใหม่ ๆ จะพาเราไปพบชีวิตใหม่ ๆ
...นี่คือขั้นตอนของการ "ค้นหางานที่รัก" ซึ่งเมื่อนั้นเส้นแบ่งระหว่างเสาร์อาทิตย์กับจันทร์ถึงศุกร์...จะไม่มี
ไม่มีคำว่า "วันธรรมดา" กับ "วันหยุด" จะมีก็แต่ "วันไม่ธรรมดา" วันที่พักผ่อนกับงานคือเรื่องเดียวกัน
...และเราจะไม่เกลียดเช้าวันจันทร์อีกต่อไป.
โฆษณา