6 ก.ย. 2021 เวลา 01:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับดอกทานตะวัน
(เรียบเรียงโดย ยิ่งยศ ลาภวงศ์)
“ดอกไม้จะบาน และหันไปตามแต่แสงจากดวงอาทิตย์”
บทเพลงๆหนึ่งมีเนื้อร้องแบบนั้น ทำให้หลายคนฟังแล้วเชื่อว่าในแต่ละวัน ทานตะวันจะคอยหันดอกตามดวงอาทิตย์อยู่ตลอดเวลา แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นคือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก
ดอกไม้หลายชนิดมีพฤติกรรมการหันดอกตามดวงอาทิตย์ตลอดทั้งวัน เรียกว่า Heliotropism โดยดอกไม้จะหันไปทางทิศตะวันออกในตอนเช้า และค่อย ๆ หมุนตามดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกในตอนเย็น พวกมันจะใช้ช่วงเวลากลางคืนค่อย ๆ หันกลับไปทิศตะวันออกอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าพฤติกรรมการหันดอกตามดวงอาทิตย์มีส่วนในการช่วยให้เกสร และเมล็ดเจริญเติบโตได้ดีหรือช่วยให้แมลงเห็นกลีบดอกที่สะท้อนรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ได้ชัดขึ้น
Heliotropism ที่มา : Thomson Learning
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากเรานำดอกไม้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเข้ามาเก็บในห้องที่มีแสงสว่างคงที่?
นักวิทยาศาสตร์พบว่าการหันดอกจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกนั้นยังจะคงเกิดขึ้นต่ออีก 2 – 3 วัน ก่อนที่ดอกจะหยุดหมุน นั่นหมายความว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกควบคุมโดยแสงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ถูกควบคุมด้วยนาฬิกาชีวิตของมันด้วย เหมือนกับที่เรานอน และตื่นนอนช่วงเวลาเดิม ๆ ทุกวัน และเมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้กลับไปไว้กลางแจ้งเหมือนเดิม พวกมันก็จะต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของดวงอาทิตย์เพื่อที่จะหันดอกตามอีกครั้ง
สำหรับทานตะวันนั้น มันจะมีพฤติกรรมนี้ในช่วงพัฒนาดอกอ่อนเท่านั้น แต่เมื่อดอกเจริญเต็มที่ ทานตะวันจะหยุดหันดอกตามดวงอาทิตย์ สาเหตุมาจากดอกทานตะวันนั้นมีขนาดใหญ่และหนักมาก ก้านดอกจึงต้องพัฒนาเนื้อเยื่อที่แข็งแรงเพื่อรองรับดอกทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก ในขณะที่ญาติของมันอย่างดอกเดซี่ ที่มีขนาดเล็กว่าจะสามารถหันดอกตามดวงอาทิตย์ได้ตลอดช่วงอายุเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อทานตะวันหยุดการหันดอกตามดวงอาทิตย์ พวกมันมักจะหันดอกไปทางทิศตะวันออกตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะหากพิจารณาเฉพาะเรื่องแสงแล้ว การหันดอกไปทางทิศเหนือ หรือใต้ หรือตั้งฉากกับพื้น เอียงตามตำแหน่งละติจูดของโลก เหมือนกับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ น่าจะทำให้มันรับแสงได้มากกว่า
ที่มา : Pexels
ล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 ทีมนักวิจัยนำโดย Nicky M. Creux ได้ทำการศึกษาและพบว่า ในช่วงเช้านั้น ดอกทานตะวันที่หันไปทางทิศตะวันออกตามธรรมชาติจะอุ่นกว่าดอกที่ถูกจับหันไปทางทิศตะวันตก และความอบอุ่นนี้จะช่วยเรียกแมลงที่เพิ่งตื่นจากกลางคืนอันหนาวเหน็บให้เข้ามาผสมเกสรในขณะที่ช่วงบ่ายได้ แม้ดอกทานตะวันที่หันไปทางทิศตะวันตกจะได้รับความร้อนมากกว่า แต่มันก็ไม่มีผลอะไรนัก เพราะอากาศโดยรวมอบอุ่นพอสำหรับแมลงแล้ว
นักวิจัยพบว่าดอกทานตะวันที่หันไปทางทิศตะวันออกตามธรรมชาติมีผึ้งมาตอมมากกว่าดอกที่ถูกจับหันไปทางทิศตะวันตก ที่มา : Nicky Creux and Stacey Harmer, UC Davis
นอกจากนี้ความอบอุ่นนั้นยังทำให้ดอกทานตะวันผลิตละอองเกสรตัวผู้ได้มากกว่าด้วย การหันดอกไปทางทิศจะวันออกจึงช่วยเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ของทานตะวันนั่นเอง
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อทีมนักวิจัยเปิดเครื่องทำความร้อนให้กับดอกทานตะวันที่หันไปทางทิศตะวันตก ก็พบว่าจำนวนแมลง และละอองเกสรที่ผลิตได้ มีความใกล้เคียงกับดอกที่หันไปทางทิศตะวันออกตามธรรมชาติ นั่นหมายความว่า สิ่งที่ดอกทานตะวันต้องการจากดวงอาทิตย์ ไม่ใช่แสงสว่าง แต่เป็นความร้อนต่างหาก
“จุดตัวเอง ก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟ ขึ้นมา เพียงปรารถนา ดอกทานตะวัน หันมอง สักครั้ง”
นับว่าโชคดีที่ไม้ขีดไฟให้ความร้อนด้วย ไม่เช่นนั้นหากเป็นแค่ไฟฉาย LED ที่มีแต่แสง ดอกทานตะวันก็คงไม่หันมามองเป็นแน่
อ้างอิง
Creux, N. M., E. A. Brown, A. G. Garner, S. Saeed, C. L. Scher, S. V. Holalu, D. Yang, J. N. Maloof, B. K. Blackman, and S. L. Harmer. (2021). Flower orientation influences floral temperature, pollinator visits and plant fitness. New Phytologist.
โฆษณา