6 ก.ย. 2021 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
โคบายาชิ เซไก : เจ้าของร้าน Mirai Shokudo ร้านอาหารที่เปิดให้ลูกค้ามาช่วยงาน 50 นาที แลกกับอาหารฟรี 1 มื้อ
3
ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ห่างจากสถานี Jimbōchō ออกไปเพียง 3 นาที มีร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ ‘ถ้าคุณไม่มีเงินจ่าย ก็สามารถล้างจานแลกค่าอาหารได้’ โดยร้านอาหารแห่งนี้มีชื่อว่า ‘Mirai Shokudo’ แปลว่า ร้านอาหารแห่งอนาคต (Future Eatery)
2
“เรามอบอาหาร แทนค่าแรง 50 นาทีที่ร้าน ฉันใช้ระบบนี้เพราะต้องการเชื่อมต่อกับคนหิวโหยที่ไม่สามารถกินอาหารที่ร้านอาหารได้ เพราะพวกเขาไม่มีเงิน”
1
‘โคบายาชิ เซไก’ (Sekai Kobayashi) หญิงสาววัยกลางคนผู้เป็นทั้งเจ้าของและพนักงานเพียงคนเดียวในร้านเล่าถึงที่มาของนโยบายทำงานแลกค่าอาหาร แน่นอนว่าแนวคิดแสนน่ารักนี้อยู่ภายใต้กรอบธุรกิจที่จำเป็นต้องมีกำไร แต่เหตุใดร้านอาหารของเธอยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แถมยังสร้างความสุขให้กับลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาทุก ๆ วัน ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
1
วิศวกรสาวผู้หลงรักการเข้าครัว
1
โคบายาชิเกิดในจังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1984 เธอคลุกคลีอยู่กับการจัดการร้านอาหารตั้งแต่วัยเรียน ทั้งคว้ารางวัลจากการเปิดร้านกาแฟในงานเทศกาลของมหาวิทยาลัย และทำงานที่บาร์ในย่าน Golden Gai ของชินจูกุ ในช่วงวัย 20 ต้น ๆ
หลังจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology’s Faculty of Science) มีใครบางคนบอกกับเธอว่า “การออกไปเจอโลกภายนอก ไม่ได้แย่ขนาดนั้น” เธอจึงตัดสินใจหันหลังให้งานในครัว แล้วลองคว้าโอกาสในสายงานที่เรียนมา
โคบายาชิเริ่มงานด้านวิศวกรรมใน IBM Japan Ltd. ก่อนจะย้ายไปที่ Cookpad Inc. ซึ่งบริษัทนี้มีห้องครัวให้ทุกคนสามารถเตรียมอาหารรับประทานได้ เมื่อเพื่อนร่วมงานได้กินอาหารฝีมือโคบายาชิ ต่างก็ติดอกติดใจจนเธอเริ่มคิดจะเปิดร้านอาหารอย่างจริงจัง และทุกครั้งที่เข้าครัว โคบายาชิจะรู้สึกเสมอว่า เธอไม่อาจละจากความหลงใหลในการทำอาหารได้ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาลงทะเบียนเรียนสายอาชีพเพื่อเปิดร้าน Mirai Shokudo ในเดือนกันยายน ปี 2015 ด้วยความตั้งใจอยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน และโอบรับบรรยากาศแสนอบอุ่นกลับไป พร้อมอาหารที่มาจากความใส่ใจของเธอ
5
วันละหนึ่งเมนู
ภายในร้าน Mirai Shokudo จะมีเก้าอี้ 12 ตัววางล้อมรอบเคาน์เตอร์เป็นรูปตัวยู เพื่อให้ลูกค้ารวมทั้งตัวเธอเองสามารถแลกเปลี่ยนบทสนทนากันได้สะดวก ไม่ว่าจะรู้จักกันหรือไม่ก็ตาม
ความพิเศษอย่างแรกของร้านนี้ คือ เซตเมนูหลักจะมีเพียงหนึ่งเมนูเท่านั้น และจะผลัดเปลี่ยนให้ไม่ซ้ำกันในช่วงเวลา 2 เดือน ยกเว้นเมนูอาหารยอดนิยม เพื่อตอบโจทย์คนทำงานที่ต้องการความรวดเร็วและคุณภาพอาหารในมื้อกลางวัน
1
ส่วนมื้อเย็น ลูกค้าสามารถเพิ่มราคาเซตเมนู 400 เยน เพื่อให้โคบายาชิออกแบบเมนูใหม่ได้ โดยเธอจะแนะนำว่าวัตถุดิบของวันนี้สามารถทำเป็นอาหารแบบไหนได้บ้าง เพื่อให้ลูกค้าเลือกได้ตามต้องการ
1
ความพิเศษต่อมาคือวิธีการคิดเมนูในแต่ละวัน โคบายาชิจะถามลูกค้าทุกบ่ายวันเสาร์ว่า ‘อยากกินอะไรในสัปดาห์หน้า’ ยิ่งมีเพียง 12 ที่นั่งยิ่งทำให้การพูดคุยกับคนในร้านทั่วถึงมากขึ้น และนับว่าเป็นการคิดเมนูจาก ‘การฟังเสียงของลูกค้า’ อย่างแท้จริง และไม่แน่ว่าวิธีนี้อาจจะเป็นสาเหตุให้ลูกค้าหลายคนกลับมากินที่ร้านอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นได้
1
50 นาทีแลกหนึ่งมื้ออาหาร
แม้ร้านอาหารของเธอจะมีลูกค้าหลากหลายช่วงวัยและอาชีพแวะเวียนเข้ามาเสมอ แต่โคบายาชิคิดว่าคงจะดีกว่านี้ ถ้า Mirai Shokudo สามารถต้อนรับผู้คนได้หลากหลาย รวมทั้งคนที่ไม่สามารถจ่ายค่าอาหารได้
“ปัญหาที่ยากที่สุดในการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม คือการรวมคนที่อาจมีเงินไม่เพียงพอ”
เธอจึงใช้ไอเดียเดียวกับร้านอาหารหลายแห่งที่มีสวัสดิการอาหารฟรีสำหรับพนักงาน โดยทุกคนสามารถลงทะเบียนเพื่อทำงานแลกกับอาหารมื้อใหญ่ กะละ 50 นาที โดยช่วงกลางวันมักจะเป็นงานเกี่ยวกับการเปิดร้าน เตรียมงานในครัวและบริการลูกค้า ส่วนช่วงเย็นจะเป็นงานทำความสะอาดหลังปิดร้านเป็นหลัก โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบตารางเวลาและคู่มือการทำงานได้จากเว็บไซต์ http://miraishokudo.com/
เวลาผ่านไปเพียง 2 ปี มีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามา ‘ทำงานแลกอาหาร’ ร่วมกับโคบายาชิกว่า 500 คน โดยมีทั้งคนที่ต้องการอาหารแต่ไม่มีกำลังทรัพย์ นักท่องเที่ยวที่สนใจ นักศึกษาที่อยากประหยัดงบ หรือคนที่อยากเปิดร้านอาหารแล้วอยากศึกษาระบบการทำงาน
ส่วนบางคนที่อยากจะช่วยงานในร้าน แต่ไม่ต้องการอาหารฟรี ก็สามารถเปลี่ยนเป็นตั๋วอาหารฟรีวางไว้หน้าร้านได้ โดยสามารถเขียนข้อความ เช่น ‘ขอให้เป็นมื้อที่อร่อยนะ’ ไว้บนตั๋ว เพื่อบริจาคให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ ซึ่งตั๋ว 1 ใบสามารถใช้แทนอาหารสำหรับ 1 คนเท่านั้น และเมื่อกินเสร็จ โคบายาชิจะขอให้ผู้ใช้ตั๋วเขียนวันที่ที่เข้ามากิน รวมทั้งฝากข้อความไว้ด้านหลังตั๋ว เผื่อคนที่เคยบริจาคจะกลับมาอ่านข้อความเหล่านั้นอีกครั้ง
2
Mirai Shokudo จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศอันเป็นมิตร และนับว่าเป็นร้านอาหารแห่งอนาคตสมชื่อ แต่ไม่ได้เป็นภาพอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าทางวัตถุ หากเป็นภาพของผู้คนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความสุข และการเกื้อกูลกัน เพราะทุกคนได้มีส่วนร่วมในร้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ออกแบบเมนู ดูแลร้าน ไปจนถึงการบริจาคที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านการช่วยเหลือโคบายาชิ เซไก ส่งต่อความสุขให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ ในร้านอาหารแสนน่ารักแห่งนี้
5
เรื่อง ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ที่มา
ที่มาภาพ
#ThePeople #BUSINESS #Mirai_Shokudo #Sekai_Kobayashi
โฆษณา