6 ก.ย. 2021 เวลา 07:12 • ประวัติศาสตร์
Abu Rayhan Muhammad ibn Ahmad Al-Biruni- อัลไบรูนี หนึ่งในนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกอิสลามยุคก่อน
“อบู อัรรอยฮานฺ มุฮำมัด อิบนุ อะฮฺมัด อัลไบรูนี (Abu Rayhan Muhammad ibn Ahmad Al-Biruni)”  หรือ “อัลไบรูนี” เป็นนักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย เกิดในปี ค.ศ. 937 ที่เมืองคอส ในแคว้นควอแรซม์ (Kath, Khwarezm) ในภูมิภาคเอเชียกลาง  และอัลไบรูนีเสียชีวิตลงที่คัซนี (Ghazni) ในปี ค.ศ. 1048 อัลไบรูนีไม่เพียงแต่เป็นนักดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังโดดเด่นในวิชาคณิตศาสตร์ การแพทย์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เภสัชกรรม และธรณีวิทยา ด้วยความปราดเปรื่องและฉลาดเฉลียวอย่างโดดเด่นในด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ทำให้เขาสามารถคิดหาสูตรอย่างง่ายสำหรับการวัดรัศมีของโลก เส้นรอบวงของโลก เป็นการพิสูจน์ได้ว่าโลกมีสัณฐานเป็นทรงกลม ยิ่งไปกว่านั้นเขาคิดว่าเป็นไปได้ที่โลกมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์
รูปที่ 1 ภาพวาดแสดงอัลไบรูนี นักปราชญ์ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคทองแห่งโลกอิสลาม (The Islamic Golden Age)
รูปที่ 2 หลุมอุกกาบาต “อัลไบรูนี” บนดวงจันทร์ ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง
 
George Sartor ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ได้เสนอว่า อัลไบรูนี เป็นหนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในบรรดานักปราชญ์ในอารยธรรมอิสลามที่อาศัยอยู่ในเอเซียกลาง และเขาได้ค้นพบผลงานอันยอดเยี่ยมแต่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับนักวิชาการในยุคนั้น
       อัลไบรูนีมีความรู้ที่ดีเยี่ยมด้านภาษากรีกโบราณ เขาศึกษาผลงานของนักปราชญ์กรีกโบราณแบบดังเดิมหลากหลายผลงาน ศึกษาจากตำราอ้างอิงที่เป็นต้นฉบับของกรีก เช่น ตำราดาราศาสตร์ De Caelo ของอริสโตเติล (Aristotle)  ตำราคณิตศาสตร์ของยุคลิด (Euclid) อาร์คิมิดีส (Archimedes)  และตำราอัลมาเจสท์ (Almagest) เป็นตำราทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ของปโตเลมี (Ptolemy)
รูปที่ 3 ภาพประกอบจากตำราดาราศาสตร์ของอัลไบรูนี (Al-Biruni) อธิบายการเกิดเสี้ยวของดวงจันทร์
 
อัลไบรูนีใช้ชีวิตอยู่ในแคว้นควอแรซม์จนมีอายุได้ 23 ปี จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นเขาจึงย้ายถิ่นฐานสู่แคว้นซียอร์ยันและอาศัยอยู่ที่นั่นถึง 15 ปี ระหว่างนั้นเขาเขียนตำราเล่มแรกที่ชื่อว่า “อัลอาซารฺ อัลบากียะฮฺ มินัล กุรูน อัลคอลียะฮฺ” (บรรดาร่องรอยที่เหลืออยู่นับแต่ยุคอดีต) ในปี ค.ศ.1017 อัลไบรูนีเดินทางกลับสู่ถิ่นเกิดของตน ณ ช่วงเวลานั้น สุลต่านมะฮฺมูดแห่งคัซนีได้ทำศึกและยึดครองแคว้นควอแรซม์ อัลไบรูนีและเหล่านักปราชญ์จำนวนหนึ่งได้ตกเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนสู่ราชธานีคัซนี สุลต่านมะฮฺมูดแห่งคัซนีได้เลือกให้อัลไบรูนีเป็นโหราจารย์ประจำราชสำนักของพระองค์ เมื่อสุลต่านมัสอู๊ด อิบนุ มะฮฺมูด แห่งคัซนีขึ้นครองราชย์ พระองค์โปรดให้อัลไบรูนี เป็นคนสนิทของพระองค์ อัลไบรูนีจึงพำนักอยู่ในอาณาจักรกัซนาวียัน เมื่อสุลต่านยกทัพเข้าทำศึกกับอินเดียตอนเหนือ พระองค์ก็โปรดให้อัลไบรูนีติดตามไปด้วยในการศึกหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้อัลไบรูนีจึงมีโอกาสเรียนรู้ภาษาสันสกฤต และอีกหลายภาษาของอินเดีย
ในระหว่างที่เขาใช้เวลาอยู่ในอินเดีย เขาได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของชาวอินเดียพร้อมกับได้เขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของอินเดียขึ้นมาเล่มหนึ่ง ต่อมาอัลไบรูนีได้กลับสู่นครคัซนี (Ghazni) และเขียนตำราสารานุกรมดาราศาสตร์ที่ชื่อ “อัลกอนูน อัลมัสอูดีย์” ซึ่งมีถึง 143 บทด้วยกัน ซึ่งเป็นตำราที่อาศัยหลักการค้นคว้าและการทดลองส่วนตัวที่อัลบีรูนีย์ได้ค้นพบและมอบตำราเล่มนี้แก่สุลต่านมัสอูดแห่งคัซนี ในช่วงเวลานี้เองที่ระบบคณิตศาสตร์ของอินเดียได้แพร่เข้าสู้โลกอาหรับ พัฒนาผสมผสานกับคณิตศาสตร์ของกรีกโบราณจนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ เกิดเป็นตรีโกณมิติ จึงทำให้อัลไบรูนีสามารถคิดค้นวิธีการวัดขนาดของโลกโดยอาศัยหลักการทางตรีโกณมิติได้ จากนั้นยุโรปก็รับระบบตัวเลขนี้ไปใช้ต่อในนามระบบตัวเลขฮินดูอารบิก ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
รูปที่ 4 ตรีโกณมิติที่นำไปสู่สมการ การคำนวณรัศมีของโลก ของอัลไบรูนี
 
เรียบเรียง: รอยาลี  มามะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ - สดร.
 
อ้างอิง:
1 หนังสือ อารยธรรมอิสลาม โดย อาลี  เสือสมิง
 
อ้างอิงรูปภาพ
โฆษณา