7 ก.ย. 2021 เวลา 01:50 • หนังสือ
"ความเปราะบาง...บ่อเกิดแห่งความเบิกบาน" เป็นข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือชื่อ The Book of Joy บทสนทนาระหว่างองค์ทะไลลามะ (เทนซิน กยัตโส) และอัครมุขนายกเกียรติคุณแห่งแอฟริกาใต้ อาร์ชบิชอป (เดสมอนด์ ตูตู) ในปี 2015 ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย โดยมีผู้เขียนร่วมคือ ดักลาส เอบรัมส์ สำนักพิมพ์ Cornerstone Publishers
หนังสือแปลไทยชื่อ "จงมีชีวิตที่เบิกบาน" แปลโดย ธีรา สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางจิตวิญญาณ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เกิดขึ้นระหว่างการเยือนธรรมศาลาของอาร์ชบิชอปเพื่อร่วมฉลองวันคล้ายวันประสูติครบ 80 พรรษาขององค์ทะไลลามะเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
ทั้งสองท่านแลกเปลี่ยนมุมมองและแง่คิดเกี่ยวกับความสุข การดำเนินชีวิต การวางใจและฝึกฝนจิตใจเพื่อชีวิตที่เบิกบานท่ามกลางความทุกข์ โดยเนื้อหาหลักประกอบด้วย หลัก 8 ประการแห่งความสุข ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสุข อุปสรรคของความสุข รวมถึงหลักการฝึกฝนจิตใจ
3 สื่งที่ได้เรียนรู้
1. ความเจ็บปวดช่วยให้เรายอมรับความอ่อนแอและเปราะบางของตัวเอง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและความเบิกบานในชีวิต
องค์ทะไลลามะและอาร์ชบิชอปต่างผ่านการเผชิญกับบททดสอบทางร่างกายและจิตใจอย่างเข้มข้น ภายหลังเกิดเหตุจลาจลในทิเบตเพื่อต่อต้านการยึดครองของจีน องค์ทะไลลามะได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ในอินเดียกว่า 50 ปี ส่วนอาร์ชบิชอปนั้นต่อสู้กับการเหยียดผิวในยุคนโยบายแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิว (Apartheid) ในแอฟริกาใต้และกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากกว่า 20 ปี
องค์ทะไลลามะมองว่า คนเราไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรหรือมีหลักความเชื่อแบบไหนล้วนอยากมีความสุข ซึ่งความสุขที่แท้จริงนั้นคือความเบิกบานภายในจิตใจ ไม่ใช่สิ่งภายนอกที่อาจจะให้ความสุขได้แบบชั่วคราว
การลี้ภัยได้เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตของตนในหลากหลายมิติ อาทิ การวางใจ การยอมรับและเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม และที่สำคัญคือ เราไม่สามารถหลีกหนีความเจ็บปวด แต่สามารถเลือกวิธีการตอบสนองต่อความเจ็บปวดนั้นได้
ในขณะที่อาร์ชบิชอปเห็นว่า การค้นพบความเบิกบานไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เจออุปสรรคหรือความทุกข์ในชีวิตอีก ในทางกลับกัน เราอาจจะร้องไห้ง่ายขึ้น แต่จะหัวเราะได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
1
2. บ่อยครั้งที่ความเครียดของเราเกิดจากความคาดหวังของตัวเอง การยอมรับความจริง (acceptance) คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเบิกบาน
1
องค์ทะไลลามะยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนบ้าน เราเลือกได้ว่าจะยอมรับและมองสถานการณ์นี้ในแง่บวกหรือในแง่ลบ ถ้าเรามองบวกและพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่เราจะไม่ทุกข์ใจ
1
อาร์ชบิชอปมองว่า การยอมรับความจริงไม่ใช่การยอมจำนน ตรงกันข้าม นี่เป็นการเข้าใจสถานการณ์และเปลี่ยนมุมมองของตัวเองต่อสถานการณ์นั้นในเชิงบวกเพื่อรับมืออย่างเหมาะสม ในช่วงที่พระองค์กำลังต่อสู้กับ Apartheid ท่านเลือกที่จะมองความลำบากเป็นแรงผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
3. ความรู้สึกขอบคุณ (gratefulness) และความเมตตากรุณา (compassion and generosity) เป็นยาที่ดีในการรักษาอุปสรรคต่อความสุข เช่น ความโกรธ ความเศร้า หรือความอิจฉา และเป็นหนทางสู่ความเบิกบานในจิตใจ
ขณะรู้สึกขอบคุณ เรามักจะมีความรู้สึกพอมากกว่าความรู้สึกขาดและพร้อมจะแบ่งปัน นอกจากนี้ ความรู้สึกขอบคุณยังช่วยให้เราเห็นโอกาสในทุก ๆ ประสบการณ์และเห็นคุณค่าของชีวิต
โฆษณา