Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Suchada Nimnuan
•
ติดตาม
8 ก.ย. 2021 เวลา 15:39 • ข่าว
แม่รวมกลุ่มทำ "Homeschool" แก้ปัญหาลูกเรียนออนไลน์ไม่ได้
2
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการเรียนออนไลน์ยังคงสร้างความหนักใจให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองไม่หยุดหย่อนจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กๆ การเรียนออนไลน์บางครอบครัวบอกว่ามันคือ หายนะ ถึงขนาดทำให้ครอบครัวร้าวฉาน ลูกเครียด มีภาวะกระทบกระเทือนสภาพจิตใจ ผละภาระให้พ่อแม่ต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โค้ชแหม่ม เป็นหนึ่งในคุณแม่ที่ต้องรับมือกับปัญหานี้เช่นกัน จึงได้นำประสบการณ์ที่ทดลองกับน้องลานิและลูกๆของเพื่อนมาแชร์ผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ในช่วงที่หลายครอบครัวกำลังเผชิญมรสุมการเรียนออนไลน์
เท่าที่เฟิร์นได้พูดคุยกับคุณแม่สุทธินันท์ หรือโค้ชแหม่ม เล่าให้ฟังว่า ตนเองก็เป็นหนึ่งในครอบครัวที่เจอกับปัญหาการเรียนออนไลน์ของลูกมาตลอด น้องลานิ อายุ 4 ขวบเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ทางโรงเรียนต้องการให้คุณพ่อคุณแม่มาเป็นครูผู้ช่วยสอนลูก โดยจัดตารางเรียนรายวิชาหลักๆ และส่งคลิปมาให้ เช่น วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาจีน โดยให้เรียนสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 45 นาที ระหว่างที่เรียนออนไลน์จะต้องอัดเนื้อหาหนักๆให้ครบตามจำนวนชม.ที่ รร.กำหนด
พอสอนไปได้ระยะนึงเริ่มรู้สึกว่า ลูกเครียด กดดันมากๆ เรียนไม่รู้เรื่อง วิชาภาษาอังกฤษ ภาษาจีนที่เสียค่าเทอมไปแสนแพงลูกก็ไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร และเริ่มสังเกตุเห็นว่าลูกเริ่มโลกส่วนตัวสูงขึ้น ขาดปฎิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ได้ทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการเลย ก่อนหน้านี้เคยพยายามแก้ปัญหาคุยกับทางรร.หาทางออกร่วมกัน แต่ก็ไม่เป็นผล กลายเป็นว่า เราต้องรับภาระสอนเขาเองทั้งๆที่จ่ายค่าเทอมไปแล้ว
หนักเข้า สอนไม่ได้ก็เริ่มมีอารมณ์ถึงขึ้นดุลูก ประกอบกับต้องบริหารธุรกิจส่วนตัวไปด้วยก็เครียดหนัก ท้ายที่สุดจึงแก้ปัญหาปลายทางด้วยการตัดสินใจให้ลูกลาออกจาก รร. และคิดว่าลองมาปรับรูปแบบเป็น Home School น่าจะดีกว่า จึงไปชวนคุณแม่เพื่อนลูก มาเรียนด้วยกัน 3 คน และจ้างครูปฐมวัยที่มีความรู้ความเข้าใจในเด็กให้มาสอนที่บ้าน ทั้งวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ผลปรากฎว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก เรียนเข้าใจมากขึ้น และเป็นรูปแบบการเรียนที่ค่อนข้างปลอดภัยในยุคโควิดด้วย
“พอคิดดูแล้วสิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการจ้างครูปฐมวัย ต้องการให้ลูกเรียนภาษาจีนทุกวัน ค่าใช้จ่ายสูงเราอาจจะต้องหาตัวหาร บวกกับการที่ต้องการให้น้องได้เจอเพื่อนด้วย ได้ทักษะเข้าสังคมเกิดความคิดว่าลองชวนเพื่อนของน้องอนุบาล 2 เหมือนกัน เรารู้จักกับผู้ปกครองอยู่แล้วเกิดความคิดอยากทำแบบนี้ดู”
คุณแม่โค้ชแหม่มเล่าว่า การเอาลูกออกมาจากระบบการศึกษาของโรงเรียน ไม่ได้มองว่า รูปแบบการสอนออนไลน์ไม่มีประสิทธิ์ภาพ แต่ความสามารถการเรียนรู้ของลูกและความสามารถในการสอนของพ่อแม่เองมีจำกัด ลองคิดดูให้เราเป็นคนสอนภาษาจีนเราจะสอนเขายังไง ถึงแม้เราเป็นครู เป็นอาจารย์บรรยายที่มหาลัย เราก็สอนเขาไม่ได้ บริบทมันต่างกัน
ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่อภาคเรียนก็สูงมาก ซึ่ทางรร. ขอให้จ่ายค่าเทอมให้ครบถึงจะให้ส่วนลด 10% สุดท้ายประเมินแล้วคิดว่าไม่คุ้มค่า ต้องตัดสินใจลดภาระและหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูก และหากสถานการณฺกลับมาดีขึ้นก็จะส่งลูกกลับเข้าเรียนตามระบบอีกครั้ง หลายคนอาจจะมองว่า โค้ชมีกำลังทรัพย์ ไม่ใช่แบบนั้นเลย ภาระเราก็มีแต่เราก็ดิ้นรนบนจุดที่เรารับไหว เข้าใจว่าแต่ละครอบครัวมีปัจจัยต่างกันและเราต้องทำเพื่อลูก
จริงๆแล้ว โค้ชแหม่มไม่ใช่เคสแรกที่เอาลูกออกจากระบบการศึกษา เพราะปัญหาเรียนออนไลน์ อีกหลายๆครอบครัวก็เลือกเส้นทางนี้เป็นทางออก ตราบใดที่สถานการณ์โควิด 19 ไม่คลี่คลาย การเรียนรู้ในห้องเรียนจำลองที่บ้านน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเมื่อระบบไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ให้ความเห็นสะท้อนภาพปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้นจนพ่อแม่ต้องตัดสินใจให้ลูกดรอปเรียนเอาไว้น่าสนใจว่า ต้นตอของปัญหาการเรียนออนไลน์ เกิดจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ยังใช้ระบบตัดเกรด แพ้คัดออกอยู่ หลักสูตรการเรียนออนไลน์ ไม่ได้ถูกปรับให้เข้ากับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเลย เด็กๆทุกวันนี้ ประถม มัธยม ยังต้องเรียนรายวิชาที่ไม่จำเป็น ครูให้การบ้านเยอะมากๆ เน้นส่งงานแลกเกรด
การเรียนรูปแบบนี้เท่ากับว่า ไปสร้างภาระให้กับครูผู้สอน และผลักภาระให้พ่อแม่โดยปริยาย ท้ายที่สุดประสิทธิผลการเรียนรู้จึงไม่เกิด พ่อแม่ก็ต้องเอาลูกออกมาจากระบบการศึกษาเพื่อหาทางออกอย่างที่เห็น
แม่รวมกลุ่มทำ "Homeschool" แก้ปัญหาลูกเรียนออนไลน์
“ มันติดที่คำสั่งทอปดาวน์ เป็นไปตามคำสั่งว่า ต้องมีฟอร์มมาจากข้างบน สั่งการลงมาข้างบนลงมาเป็นทอดๆ ฝ่ายนิเทศก็ไปสั่งการตามนโยบายข้างบนสั่งมาแบบนี้คุณทำแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้น “
คุณหมอเดว เสนอทางออกกระทรวงศึกษาฯ อย่าช้าไปมากกว่านี้ ควรเลิกใช้ระบบแข่งกันเรียน ลดรายวิชาที่ไม่ได้เสริมสร้างคุณภาพทางการศึกษา เพราะถ้ายังยืนหยัดทำนโยบายแบบนี้ สุดท้ายเด็กไทยจะทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษามาขึ้นเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำไม่มีทางแก้ได้
บันทึก
3
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย