9 ก.ย. 2021 เวลา 07:15 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กษัตริย์ฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรปและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติกินเวลา ๗๒ ระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๔๓ – ๑๗๑๕ (พ.ศ. ๒๑๘๖ – ๒๒๕๘) ด้วยการที่พระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานนับศตวรรษประกอบกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “สุริยกษัตริย์” (le Roi Soleil) ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างสิ่งต่างๆ มากมาย เช่นรวบพระราชอำนาจจนพระองค์ไม่ต่างอะไรจากเจ้าของประเทศฝรั่งเศสเอง ยุคทองของศิลปกรรม การแต่งกาย วรรณคดี ทรงมีพระราชโองการให้สร้างพระราชวังแวร์ซายส์อันเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่พระราชวังหนึ่งของโลก
ขยายอาณาเขตและอาณานิคมของราชอาณาจักรฝรั่งเศสจนมีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬารแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน กับทั้งทำลายราชวงศ์ฮัพส์บวร์คซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปให้เสื่อมอำนาจลงมาก แต่ความยิ่งใหญ่จนไม่มีประมาณของกษัตริย์ฝรั่งเศสที่มีพระราชอำนาจไม่ต่างจากแสงพระอาทิตย์ กลับกลายเป็นดาบสองคมทำลายราชวงศ์ฝรั่งเศสจนกระทั่งมีการปฏิวัติฝรั่งเศสในรัชสมัยของหลุยส์ที่ ๑๖ และช่วงทศวรรษสุดท้ายของพระองค์ฝรั่งเศสขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนักหลังจากผ่านสงครามมายาวนาน ราษฎรมีความอดอยาก และการอพยพของชาวโปรแตสแตนท์จำนวนมากหลังจากทรงเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองนองต์ ทำให้พระราชอำนาจของพระองค์หายลงไปมากในช่วงปลายรัชกาล
พระองค์ทรงพระราชสมภพในวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๖๓๘ (พ.ศ. ๒๑๘๑) เป็นพระราชโอรสพระองค์โตในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ และอานน์แห่งออสเตรียผู้สืบสายมาจากราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ และพระนางอานน์หลังจากทรงอภิเษกสมรสกันเป็นเวลานาน ทำให้ทรงได้รับพระนามเมื่อแรกพระราชสมภพว่า หลุยส์ – ดิเยอดอนเน (Louis-Dieudonné) แปลว่าหลุยส์ผู้ได้รับประทานจากพระเจ้า
จนกระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ สวรรคตในปี ค.ศ. ๑๖๔๓ ขณะที่เจ้าชายหลุยส์ – ดิเยอดอนเน มีพระชันษาเพียง ๔ ปี ทำให้หลุยส์ – ดิเยอดอนเนครองราชย์ต่อ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ก่อนสวรรคตทรงมีพระราชประสงค์แต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์บริหารบ้านเมืองแทนยุวกษัตริย์ไปพลางก่อน แต่พระนางอานน์ผู้เป็นพระมารดาได้เข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ โดยทรงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการเพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้ทรงได้รับความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดโดยเฉพาะพระคาร์ดินัลมาซาแรง
พระนางอานน์และพระคาร์ดินัลมาซาแรงเมื่อสามารถกุมอำนาจในราชสำนัก ทั้งสองเริ่มรวบพระราชอำนาจเข้าสู่กษัตริย์มากขึ้น โดยทรงต้องการทำลายอำนาจของขุนนางและสภาแห่งปารีส ความไม่พอใจของขุนนางเกิดขึ้นจนกลายเป็นกบฏฟรองด์ในปี ค.ศ. ๑๖๔๘ (พ.ศ. ๒๑๙๑) ซึ่งทำให้พระราชวงศ์ต้องย้ายราชสำนักหนีออกจากปารีสและทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กลัวการเกิดกบฏไปตลอดพระชนม์ชีพ แต่โชคดีที่ทหารที่กลับมาจากสงครามในเยอรมนีทำให้สามารถช่วยพระราชวงศ์ได้ทันท่วงที และราชสำนักได้ย้ายกลับมาปกครองปารีสได้อีกครั้ง ซึ่งก็เกิดกบฏอีกกินเวลาอยู่ ๓ ปี แต่ในที่สุดก็สามารถปราบได้
ในปี ค.ศ. ๑๖๖๐ (พ.ศ. ๒๒๐๓) พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับมาเรีย เทเรสแห่งสเปน พระราชธิดาในพระเจ้าฟิลิเปที่ ๔ แห่งสเปน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับสเปนหลังจากที่ขัดแย้งมายาวนานนับศตวรรษ
จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๖๖๑ (พ.ศ. ๒๒๐๔) พระคาร์ดินัลมาซาแรงซึ่งกุมอำนาจมากในราชสำนักถึงแก่กรรม พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงฝ่าฝืนราชประเพณีโดยทรงไม่แต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีขึ้นมาอีก แต่จะบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง โดยทรงตรัสว่า “ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าได้มอบความไว้วางใจในการบริหารไว้กับคาร์ดินัล แต่นับจากนี้ ข้าพเจ้าจะปกครองด้วยตัวของข้าพเจ้าเอง พวกท่านจงมอบคำปรึกษาให้ข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าต้องการ ข้าพเจ้าขอสั่งให้พวกท่านห้ามประทับตราและเซ็นลายมือชื่อลงในเอกสารใดๆ ก็ตามแม้กระทั่งหนังสือเดินทางหากไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า”
ทั้งนี้ทรงมองว่าพระองค์ทรงได้รับพระราชอำนาจโดยตรงจากพระเป็นเจ้า กอปรกับทรงต้องการผดุงถึงพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเลือกดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ หลายๆ คนมักจำว่าพระองค์ทรงเป็นสุริยกษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้และไม่มีข้อผิดพลาด ซึ่งทั่วทั้งอาณาจักรล้วนแล้วแต่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ (กษัตริย์) และพระองค์ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าคือรัฐ” อันหมายถึงพระราชอำนาจอันมากมาย สั่งการได้ทุกอย่างตราบใดที่ดินแดนเหล่านั้นเป็นของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ พระองค์ทรงงานหนักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อควบคุมราชอาณาจักรและอาณานิคมโพ้นทะเลได้อย่างเต็มที่ กับทั้งได้คนที่มีความสามารถอย่างฌอง – บัพทิสท์ กอลแบร์ เสนาบดีกระทรวงพระคลังปฏิรูปการคลังอย่างรวดเร็วจนฝรั่งเศสลดรายจ่ายและเพิ่มรายรับมากขึ้น พัฒนาฝรั่งเศสจนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและสินค้าเฟอร์นิเจอร์ สินค้าฟุ่มเฟือยแทนอิตาลี กับทั้งได้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมอย่างมาร์คีส์แห่งลูวัวส์มาขยายกองทัพและจัดระเบียบกองทัพใหม่ นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ต้องการให้ขุนนางมาสวามิภักดิ์และไม่ต้องการให้ขุนนางกระด้างกระเดื่องต่อกษัตริย์แบบตอนกบฏโดยการให้ขุนนางมาเข้าเฝ้าเป็นประจำ ทั้งนี้หลุยส์ต้องการจำหน้าตาของขุนนางให้ได้ ว่ากันว่าคุณสมบัติหนึ่งของพระองค์โดยไม่ได้มีการเยินยอพระเกียรติอะไรเลยคือความจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
ถ้าใครมาเข้าเฝ้าก็จะทรงพระราชทานรางวัลให้ แต่ถ้าไม่มาเข้าเฝ้ากษัตริย์ก็จะทรงลงโทษ สิ่งนี้ทำให้ขุนนางที่มาเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่เป็นประจำและเป็นเวลานานๆ ต้องอยู่ในห้องรับรองและมีการสร้างอพาร์ตเมนต์ขึ้นมาในที่สุด พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ต้องการให้ขุนนางที่มาเฝ้าไม่ให้เบื่อหน่ายโดยการพระราชทานสินค้าฟุ่มเฟือยมากมาย ในพระราชวังมีการจัดงานเลี้ยงรื่นเริงขึ้นเกือบทุกวัน สาเหตุที่พระเจ้าหลุยส์ทำแบบนี้เพื่อให้ขุนนางลุ่มหลงอยู่แต่กับเรื่องความสนุกสนานจนลืมบริหารงาน พอขุนนางพากันละอำนาจของตัวเองก็ทำให้กษัตริย์ต้องบริหารเองแทนและทำให้พระราชอำนาจมั่นคงยิ่งขึ้น ขุนนางก็กระด้างกระเดื่องน้อยลงจนมีคำเรียกกันขำๆ ว่า ขุนนางเหล่านี้เป็น “สุนัขทรงเลี้ยง” ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
ในขณะที่ขุนนางกำลังถูกมอมเมานั้นพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ก็ทรงออกพระราชโองการมากมายโดยที่แทบจะไม่มีใครต่อต้านเลย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามสืบทอดตำแหน่งราชการ ทรงห้ามไม่ให้ขุนนางมีทหารส่วนตัว ทรงโยกย้ายทหารอารักขาขุนนางให้มาเป็นขุนนางพิธีการของกษัตริย์ และทรงเปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่มีความจงรักภักดีกับทั้งมีความสามารถมารับราชการที่แท้จริงให้ไปดูแลพื้นที่ในพระราชอาณาเขต ซึ่งขุนนางเหล่านี้เรียกว่า “ขุนนางผ้าคลุม”
เมื่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ใกล้ถึงจุดสมบูรณ์แล้วกลับมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าองค์ยังรวบพระราชอำนาจไม่ได้เด็ดขาดนั่นก็คือเรื่องของศาสนา พระองค์ต้องการมีพระราชอำนาจเหนือศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่มีอิทธิพลอยู่เหนือและทัดเทียมกับราชสำนักมาโดยตลอด โดยศาสนจักรคาทอลิกนั้นไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐเลยและรายได้ทั้งปีของศาสนจักรหนึ่งในสิบจะเป็นเงินสังฆทานซึ่งก็เข้าสู่ศาสนจักรฝรั่งเศสเอง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ไม่พอพระราชหฤทัยอยู่พอสมควรถึงขนาดทรงแทรกแซงศาสนจักรใหญ่ในกรุงโรมในอิตาลี ด้วยการออกนโยบายกัลลิคันให้ศาสนจักรภักดีต่อกษัตริย์และพยายามกำจัดสิทธิพิเศษของศาสนจักรมากมาย และในการประชุมของศาสนจักรในปี ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕) เองได้มีการเพิ่มอำนาจให้กับกษัตริย์ เช่น การประกาศทางศาสนาใดๆ ล้วนต้องขึ้นกับกษัตริย์ ซึ่งทางศาสนจักรใหญ่ในกรุงโรมไม่ยอมรับในข้อนี้
ด้วยเหตุนี้ทางราชอาณาจักรฝรั่งเศสเลยต้องการกู้หน้าการเป็นชาติคาทอลิกที่เคร่งครัด ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสันตะปาปาและจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์โดยการที่หลุยส์ที่สิบสี่ทรงอภิเษกกัฟร็องซวซ โดบีเญ มาร์กีซ เดอ แม็งต์นง
ในขณะเดียวกันทรงเปลี่ยนพระราชวังแวร์ซายส์จากวิลล่าล่าสัตว์ขนาดเล็กให้กลายเป็นพระราชวังอันโอ่อ่า ให้ขุนนางมาอยู่เพื่อให้หลงระเริงกับความสุขจนลืมหน้าที่และพระองค์ก็ทรงรวบพระราชอำนาจเอง โดยทรงใช้พระราชทรัพย์มากมายและใช้เวลานานกว่า ๓๐ ปีในการแปลงโฉมกระท่อมพักล่าสัตว์ให้กลายเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทรงหมดสิ้นพระราชทรัพย์ไปมากมายจนไม่สามารถประเมินได้ ทั้งนี้พระราชวังแวร์ซายส์อันโอ่อ่านั้นแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่เหมือนกับตัวพระราชวัง
ในขณะเดียวกันในนโยบายด้านการต่างประเทศพระองค์ทรงต้องการทำลายชาติต่างๆ ที่เป็นศัตรูของพระองค์โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรือเยอรมนี ออสเตรียและสเปน
โดยเฉพาะจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ออสเตรียกับสเปนซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค การที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองเยอรมนีและมีอิทธิพลในอิตาลี กับทั้งปกครองราชอาณาจักรสเปนในเวลาเดียวกันทำให้ฝรั่งเศสมีประเทศเพื่อนบ้านเป็นราชวงศ์ฮัพส์บวร์คทั้งสองฝั่ง และทำให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คล้อมรอบฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน ซึ่งฝรั่งเศสถือว่าการที่มีราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองล้อมฝรั่งเศสถือเป็นภัยร้ายแรงต่อฝรั่งเศส เพราะแน่นอนว่าเมื่อเกิดสงครามราชวงศ์ฮัพส์บวร์คก็ล้อมฝรั่งเศสอยู่สองด้านซึ่งส่วผลเสียต่อฝรั่งเศสอย่างมาก
โดยราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองดินแดนต่างๆ ในดินแดนเยอรมนีหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนในราชสมบัติออสเตรีย นอกจากดินแดนออสเตรียแล้วยังปกครองดินแดนเบลเกรดหรือเนเธอแลนด์ (ในที่นี้หมายถึงบริเวณประเทศดัตช์ ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมในปัจจุบัน) คาบสมุทรไอบีเรียหรือสเปนและโปรตุเกส ดินแดนเหล่านี้รวมกันอย่างหลวมๆ แต่ใช้พระประมุขพระองค์เดียวกัน และเรืองอำนาจที่สุดในรัชกาลของคาร์ลที่ ๕ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์
ซึ่งการที่พระองค์นั้นทรงปกครองดินแดนเยอรมนี เนเธอแลนด์ทั้งหลาย ออสเตรีย อิตาลี และสเปนนั้นทำให้ดินแดนเหล่านี้ไปล้อมราชอาณาจักรฝรั่งเศสได้พอดี และเรียกชื่อดินแดนของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คที่ไปล้อมฝรั่งเศสนี้ว่า “วงล้อมแห่งราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค” การที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คซึ่งแต่เดิมปกครองดินแดนในราชสมบัติออสเตรีย และเริ่มขยายเข้าไปมีอิทธิพลในดินแดนยุโรปตะวันตกหรือสเปนนั้นทำให้ฝรั่งเศสระแวงอย่างมาก ทั้งยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝรั่งเศสอยู่บ่อยครั้ง
ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คมีอิทธิพลขยายเข้าสู่รัฐต่างๆโดยมากมักมาจากการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชวงศ์ชั้นสูงและหมู่พระญาติ ซึ่งประดุจหนึ่งกับการขยายดินแดนโดยที่ไม่ต้องทำสงคราม ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คก็กระทำโดยวิธีนี้เพื่อประโยชน์ของพระราชวงศ์เองจนในที่สุดทำให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองดินแดนประปรายทั่วยุโรปและเรืองอำนาจมาก โดยเฉพาะถนนสเปน (Spanish Road)ซึ่งเป็นถนนทางการค้าและทหารที่เชื่อมระหว่างเนเธอร์แลนด์ของสเปน ราชรัฐมิลาน และมณฑลฟรองซ์ – กงเต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่ค่อนข้างดี เพราะในเวลานั้นการจะแล่นเรือไปอังกฤษ ฝรั่งเศสและดัตช์ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เนื่องจากรัฐเหล่านี้เป็นศัตรูของสเปนทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ถนนสเปนจึงเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยเพราะดินแดนเนเธอร์แลนด์ของสเปน (ในที่นี้หมายถึงดินแดนประเทศเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน) ดินแดนฟรองซ์ – กงเต้ และอิตาลีล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนทั้งสิ้น
จึงทำให้ปลอดภัยหากขนย้ายทรัพยากรผ่านดินแดนเหล่านี้ในการค้าขายทางอ่าวเมดิเตอร์เรเนียน
มีการกล่าวถึงการที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คใช้การอภิเษกสมรสกับพระราชวงศ์ต่างชาติเพื่อขยายพระราชอาณาเขตนั้นว่า "ปล่อยให้ผู้อื่นทำสงครามกัน ส่วนเจ้าออสเตรียมีความสุขแต่งงานกันเถอะ!” ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๕ เจ้าชายแม็กซิมิลีอานแห่งราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค (ในเวลาต่อมาคือพระเจ้าแม็กซิมิลีอานที่ ๑ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์) ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมารีแห่งบูร์กอญ (เบอร์กันดี) เจ้าผู้ปกครองพระองค์สุดท้ายจากราชวงศ์วาลัวส์ของบูร์กอญและเนเธอร์แลนด์
ผ่านมาเป็นเวลาสิบเก้าปีพระราชโอรสของพระองค์พระนามว่าฟิลิปผู้รูปงามทรงอภิเษกกับพระนางฆัวนาแห่งกัสติยาซึ่งในเวลาต่อมากัสติยาคือสเปน และรวมเข้าด้วยกันในปี ค.ศ ๑๕๑๙ (พ.ศ. ๒๐๖๒) ในรัชกาลของพระเจ้าคาร์ลที่ ๕ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ ซึ่งทำให้ดินแดนในราชวงศ์ฮัพส์บวร์คไปล้อมฝรั่งเศสพอดีและทำให้ฝรั่งเศสมีราชวงศ์ฮัพส์บวร์คเป็นเพื่อนบ้านทั้งสามด้าน และเป็นอริต่อกันหลายศตวรรษ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐฝรั่งเศสและจักรวรรดิฮัพส์บวร์คไปได้ไม่ค่อยดีนัก แม้ว่าในเวลาต่อคาร์ลที่ ๕ จะทรงแบ่งดินแดนราชวงศ์ฮัพส์บวร์ออกเป็น ๒ สายคือ ฝั่งออสเตรียและฝั่งสเปนก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงปกครองดินแดนเหล่านี้ด้วยพระองค์เองไม่ไหวกับปัญหาทางด้านศาสนาและปัญหาจากทางด้านฝรั่งเศสที่ต้องการทำลายวงล้อมของราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยแบ่งราชวงศ์ฮัพส์บวร์คในปีค.ศ. ๑๕๕๖ (พ.ศ. ๒๐๙๙) โดยสเปนนั้นได้ปกครองแคว้นบูร์กอญและเนเธอร์แลนด์ ส่วนดินแดนเยอรมนีและอิตาลีทางตอนเหนือยังคงอยู่กับราชวงศ์ฮัพส์บวร์คออสเตรีย ถึงแม้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คจะแบ่งออกเป็นสองส่วนแต่ทางฝรั่งเศสนั้นมีความประสงค์ต้องการทำลายราชวงศ์ฮัพส์บวร์คอยู่ดี เพราะถือว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับตน และเป็นนโยบายหลักในช่วงรัชสมัยของหลุยส์ที่ ๑๔
การทำสงครามนั้นฝรั่งเศสสามารถขยายอาณาเขตได้มากมาย โดยเฉพาะยึดดินแดนต่างๆ ในเยอรมนีและสเปนซึ่งเป็นอาณาเขตของราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค ซึ่งในช่วงรัชสมัยของพระองค์เกิดสงครามใหญ่ๆ อยู่ ๔ ครั้งคือ
๑.) สงครามฝรั่งเศส –สเปน ค.ศ. ๑๖๖๗ – ๑๖๖๘ (พ.ศ. ๒๒๑๐ – ๒๒๑๑)
ในปี ๑๖๖๗ – ๑๖๖๘ เป็นสงครามครั้งแรกที่หลุยส์ทรงบรรลุนิติภาวะเป็นครั้งแรกและต้องการจะเผยพระเดชานุภาพให้ยุโรปได้เห็น โดยที่ฝรั่งเศสฉวยโอกาสที่สเปนทำสงครามกับโปรตุเกส ฝรั่งเศสเองได้เข้าไปรุกรานเขตฟลานเดอร์ซึ่งในปัจจุบันเป็นภาคเหนือของเบลเยียมแต่ในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คสเปน ดัตช์กับอังกฤษเองก็ไม่นิ่งนอนใจโดยต้องการต่อต้านฝรั่งเศสและเข้าข้างสเปน ผลลัพธ์คือสนธิสัญญาเอกซ์-ลา-ชาแปล ปี ๑๖๘๘ ซึ่งฝรั่งเศสได้อาณาเขตฟลานเดอร์ครึ่งหนึ่งจากสเปนแต่ต้องเสียมหาอำนาจด้านการค้าซึ่งก็คือดัตช์ (ช่วงนั้นเนเธอแลนด์ถือเป็นยุคทองยุคหนึ่ง และถือว่าเป็นมหาอำนาจอันดับต้นของยุโรปเลยทีเดียว) ทั้งนี้เพราะดัตช์ชอบการค้าเป็นชีวิตจิตใจ แน่นอนการที่ฝรั่งเศสสูญเสียความสัมพันธ์กับดัตช์ก็เท่ากับสูญเสียพันธมิตรที่แข็งแกร่งด้วย
๒.) สงครามฝรั่งเศส – ดัตช์ ปี ค.ศ. ๑๖๗๒ – ๑๖๗๘ (พ.ศ. ๒๒๑๕ – ๒๒๒๑)
ฝรั่งเศสต้องการกำจัดอิทธิพลทางทะเลของดัตช์ซึ่งได้ผันแปรกลายมาเป็นคู่แข่งด้านทางทะเล ซึ่งสเปน,จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรือเยอรมนี (ซึ่งก็ถูกปกครองโดยออสเตรีย) และเดนมาร์กเข้าร่วมด้วย ส่วนฝรั่งเศสในตอนนั้นมีราชอาณาจักรอังกฤษและสวีเดนซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจฝั่งสแกนดิเนเวียร์ สงครามนี้ปะทะกันในประเทศต่ำ จักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์และทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งฝรั่งเศสเองชนะสงครามครั้งนี้และได้ผลประโยชน์อย่างมากมาย คือ ฝรั่งเศสได้ดินแดนของสเปนบริเวณฟลานเดอร์หรือเบลเยียมมาเพิ่ม อาณาเขตฟลานเดอร์นี้เป็นอาณาเขตในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ด้วย ในสงครามครั้งนี้เองทำให้พระราชอำนาจของหลุยส์ที่ ๑๔ อยู่ในจุดที่สูงที่สุด แต่ทำให้ฝรั่งเศสมีอำนาจมากเกินไปและขาดมิตรซึ่งจะส่งผลเสียในอนาคต
๓.) สงครามเก้าปี ปี ค.ศ. ๑๖๘๘ – ๑๖๙๗ (พ.ศ. ๒๒๓๑ – ๒๒๔๐)
การที่ฝรั่งเศสชนะสงครามต่างๆ ก่อนหน้านี้ทำให้หลายๆ ชาติเริ่มตีตัวออกห่างโดยเฉพาะอังกฤษที่อยู่ดีๆ กลายเป็นว่าเจมส์ที่ ๒ ถูกเจ้าชายแห่งแคว้นออรานเยปฏิวัติราชบัลลังก์จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องย้ายฝั่งออกจากฝรั่งเศส กับการที่ตอบสนองอย่างล่าช้าต่อการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันที่ปิดล้อมกรุงเวียนนาก็สร้างความไม่พอใจแก่ศาสนจักร ซึ่งในสงครามครั้งนี้หลุยส์เองคาดหวังว่าฝรั่งเศสอาจจะมีชัยในสงครามนี้ ในสงครามครั้งนี้อังกฤษต้องเผชิญกับกบฏจาโคไบท์ซึ่งเป็นผลจากการที่พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ต้องการทวงราชบัลลังก์คืนภายใต้การสนับสนุนของฝรั่งเศส
กับทั้งออสเตรียซึ่งเป็นแก่นหลักของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คและจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับชาวเติร์กหรือจักรวรรดิออตโตมัน แต่พอตั้งตัวได้สงครามที่หลุยส์คิดว่าจะเป็นสงครามสั้นๆ กลับกินเวลานานถึงทศวรรษ สงครามครั้งนี้ทะเลาะกันอย่างประปรายทั้งทั่วอาณานิคมด้วย หลายๆ คนเรียกสงครามครั้งนี้ไม่ต่างจากสงครามโลกครั้งแรก
ผลจากสงครามนี้ทำให้เกิดสนธิสัญญาไรส์วิก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตกลงเกี่ยวกับดินแดนในยุโรปและเป็นการปักเขตแดนต่างๆ ส่วนฝรั่งเศสเองก็ต้องเสียอิทธิพลในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์และต้องถอนทหารออกจากสเปน ปรับสนธิสัญญาการค้ากับดัตช์ทั้งต้องยอมรับราชวงศ์ฮาโนเวอร์ให้ปกครองหมู่เกาะบริทิชได้ ทั้งนี้การค้ากับตะวันออกที่กำลังเป็นไปได้โดยดีกลับขาดสะบั้นลงเช่นการค้ากับอยุธยา เพราะเกิดการล้มราชวงศ์ปราสาททองและกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสโดยเฉพาะด้านการทูต
๔.) สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ปี ๑๗๐๑ – ๑๗๑๔ (พ.ศ. ๒๒๔๔ - ๒๒๕๗)
ในปี ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓) พระเจ้าการ์ลอสที่ ๒ แห่งสเปนเสด็จสวรรคตโดยไร้รัชทายาท ทำให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คสายสเปนสิ้นสุดลงและสเปนในยุคนั้นขึ้นชื่อว่าเรืองอำนาจมากนอกจากนี้ยังมีอาณานิคมเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ก่อนที่การ์ลอสที่ ๒ จะสวรรคตนั้นพระองค์ทรงประกาศให้เจ้าชายฟิลิป ดุ๊คแห่งอองฌูพระราชนัดดาในหลุยส์ที่ ๑๔ ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แห่งสเปน ซึ่งทำให้มีผู้อ้างสิทธิอีกพระองค์คืออาร์ชดุ๊คคาร์ลแห่งออสเตรีย ซึ่งออสเตรียนั้นอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เนื่องจากปกครองโดยราชวงศ์ฮัพส์บวร์คเช่นเดียวกับสเปน และถือว่าสเปนเป็นดินแดนหนึ่งของราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค โดยราชสมบัติสเปนเป็นราชสมบัติที่ใหญ่มากๆ ในยุคนั้น ประกอบไปด้วยดินแดนสเปนเอง ดินแดนฟลานเดอร์ทั้งอาณาเขตในอิตาลี ในจักรวรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์อาณานิคมในทวีปอเมริกาเป็นต้น มีปัญหาหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการแบ่งราชสมบัติที่ไม่ลงตัวโดยเฉพาะดินแดนราชสมบัติและอาณานิคมโพ้นทะเล อังกฤษก็กลัวว่าหากรัฐอิตาลีบางส่วนตกเป็นของเจ้าชายฟิลิปแห่งฝรั่งเศสอาจเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในตะวันออกกลางก็เป็นไปได้
ในฝรั่งเศสเองมีปัญหาเกี่ยวกับการคลังที่แก้ไม่หายกับทั้งขาดแคลนทรัพยากร เศรษฐกิจก็เริ่มย่ำแย่ รวมทั้งหลุยส์ที่ ๑๔ ก็เริ่มพระชราภาพด้วยซึ่งทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเทวสิทธิราชาไม่แข็งแกร่งอีกต่อไป ทั้งหลุยส์ที่ ๑๔ เองก็ทรงเกือบยอมรับในเงื่อนไขของฝ่ายพันธมิตรและก็เกือบถอนสิทธิของเจ้าชายฟิลิปออกจากราชบัลลังก์สเปน แต่พันธมิตรได้เพิ่มเงื่อนไขว่าหลุยส์ต้องหักหลังฟิลิปซึ่งเป็นหลานโดยการโจมตีสเปน เงื่อนไขข้อนี้ทำเอากษัตริย์หลุยส์ที่ ๑๔ ทรงรับไม่ได้อย่างรุนแรงทั้งยังทำสงครามต่อไปจนชนะได้อย่างปาฏิหาริย์
ซึ่งอาร์ชดุ๊คคาร์ลที่ ๖ ต่อมาได้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์และถ้าหากคาร์ลที่ ๖ ได้ครอบครองราชบัลลังก์สเปนก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าราชวงศ์ฮัพส์บวร์คจะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับช่วงสมัยคาร์ลที่ ๕ จักรพรรดิฮัพส์บวร์คผู้ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดและทำให้ฮัพส์บวร์คมีอำนาจมากเกินไปเช่นเดียวกับฝรั่งเศส ทางบริเตนใหญ่จึงหันมาเจรจา ส่วนทางออสเตรียเมื่อขาดพันธมิตรก็เริ่มหันมาเจรจาด้วยเช่นกัน สงครามครั้งนี้รบกันกว่า ๑๓ ปี จบลงด้วยสนธิสัญญา ๓ ฉบับ คือ
– สนธิสัญญาอูเทรคต์ คือ ฝรั่งเศสต้องเสียอาณานิคมบางส่วนให้อังกฤษ สเปนเสียดินแดนในยุโรปทั้งหมดยกเว้นดินแดนสเปนให้กับออสเตรียหรือจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์– สนธิสัญญาราสตัดท์ คือ ให้เจ้าชายฟิลิปจากฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์สเปนในนามฟิลิเป้ที่ ๕ แห่งสเปนได้ แต่ห้ามให้ฝรั่งเศสกับสเปนรวมราชอาณาจักรเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน – สนธิสัญญาราสตัดท์ คือ ให้เจ้าชายฟิลิปจากฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์สเปนในนามฟิลิเป้ที่ ๕ แห่งสเปนได้ แต่ห้ามให้ฝรั่งเศสกับสเปนรวมราชอาณาจักรเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน
– สนธิสัญญาบาเดิน คือ ฝรั่งเศสยังมีอิทธิพลในบางส่วนของจักวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ได้ ส่วนคาร์ลที่ ๖ แห่งออสเตรียก็สามารถเป็นกัตริย์สเปนได้แต่เป็นในนามเท่านั้น
ในยุคหลุยส์ที่ ๑๔ ฝรั่งเศสยังสามารถไปได้ด้วยดีแม้จะมีปัญหาในช่วงปลายรัชกาล แต่ก็ยังดำรงความเป็นรัฐผู้นำได้ทั้งยังสามารถทำลายราชวง์ฮัพส์บวร์คที่มีอำนาจในสเปนมานานได้ด้วย ส่วนความสูญเสียในสงครามก็มากมายนับไม่ได้ทั้งยังต้องสูญเสียความรุ่งโรจน์มากมาย ถึงขนาดที่ก่อนที่หลุยส์ที่ ๑๔ จะสวรรคตทรงตรัสกับหลุยส์ที่ ๑๕ ว่า “จงอยู่อย่างสันติ”
รายการอ้างอิง
(๑) The French Revolution ปฏิวัติฝรั่งเศส.-- กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2562.
(๒) ความยิ่งใหญ่ของ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” แห่งฝรั่งเศส, https://www.ch3thailand.com/news/scoop/11070
(๓) พระราชประวัติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฉบับย่อ, https://m.pantip.com/topic/37450282?
(๖) 7 Fascinating Facts About King Louis XIV, https://www.biography.com/news/louis-xiv-biography-facts
(๗) RJW Evans, The Making of the Habsburg Monarchy, 1550-1700: An Interpretation (Oxford: Clarendon Press, 1979), p
(๘) The World of The Hapsburgs. (2011). "Tu felix Austria nube 1430–1570".
ดูเพิ่ม
- พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
- พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕
- พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖
- สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส
เว็บไซต์เพิ่มเติม
Was Louis XIV a truly great monarch?, https://www.quora.com/Was-Louis-XIV-a-truly-great-monarch
If Louis XIV and his brother Philippe were illegitimate, who would be the King of France today?, https://www.quora.com/If-Louis-XIV-and-his-brother-Philippe-were-illegitimate-who-would-be-the-King-of-France-today?top_ans=291415276
***บทความของวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
โฆษณา