9 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ExxonMobil… อีกหนึ่งดีลการควบรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ExxonMobil
📌 มองย้อนต้นกำเนิดของ Exxon และ Mobil
ก่อนที่จะควบรวมกิจการกันจนมาเป็น ExxonMobil ที่เรารู้จักกันในวันนี้ หากมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปเกือบ 200 ปีก่อนหน้า จะพบว่าบริษัททั้งสองนั้นมีจุดกำเนิดร่วมกันอยู่ หากเปรียบเทียบก็คงไม่ต่างจากคู่พี่น้องที่พลัดพรากจากกันมา โดยในปี 1870 John D. Rockefeller และหุ้นส่วนได้ก่อตั้งบริษัท the Standard Oil Company of Ohio ขึ้นมา และได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำมัน ทั้งผลิต ขนส่ง และกลั่นน้ำมัน ซึ่งได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่งผลให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว
John D. Rockefeller
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายสหรัฐฯ ในตอนนั้นมีการจำกัดขนาดของบริษัท John D. Rockefeller และหุ้นส่วนธุรกิจของเขา จึงได้มีการจัดการให้กิจการของพวกเขาเติบโตไปได้อย่างดีที่สุด โดยเขาได้มีการจัดการรวบรวมบริษัทต่างๆ ของเขาที่แยกออกไป ดูแลกิจการในแต่ละพื้นที่ แต่ละมลรัฐ ให้มาอยู่รวมกันภายใต้ชื่อ The Standard Oil Trust ในปี 1882 โดยมี Standard Oil Company of New Jersey และ Standard Oil Company of New York เป็นสองบริษัทที่ใหญ่สุดภายใต้ทรัสต์ดังกล่าว
1
Standard Oil Company of New York
อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของกิจการของ Standard Oil Trust ที่ขยายตัวได้ดีอย่างมาก จนสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันในสหรัฐฯ ได้เกือบทั้งหมด ทำให้ถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลสหรัฐฯ จน Standard Oil Trust ถูกสั่งให้แยกกิจการในปี 1892 โดยกฎหมาย Sherman Antitrust Act ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดการกับบริษัทที่มีพฤติกรรมจำกัดขอบเขตการค้า (Restraint of trade) กล่าวคือมีการผูกขาดตลาด มีการกีดกันไม่ให้ผู้อื่นมาประกอบกิจการเดียวกับตัวเอง
แม้ว่า ภายหลังจากที่ทรัสต์ดังกล่าวถูกยกเลิกไป แต่ Standard Oil ก็ยังคงประกอบกิจการมาเรื่อยๆ มีการจัดตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา โดยมีบริษัท Standard Oil Company of New Jersey เป็นบริษัทโฮลดิ้ง และดูแลกิจการของบริษัทในเครือตัวเองทั่วสหรัฐฯ แต่สุดท้าย ก็ถูกสั่งแยกกิจการอย่างเป็นทางการในปี 1911 โดยคำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐฯ เป็นจุดจบของอาณาจักรน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ของ John D. Rockefeller ไป โดยหลังจากนั้น Standard Oil Company of New Jersey ก็ได้กลายไปเป็นบริษัท Exxon และ Standard Oil Company of New York ก็ได้กลายไปเป็นบริษัท Mobil
1
📌 ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การควบรวมกิจการของ Exxon และ Mobil
1
บริษัท Exxon และ Mobil ได้ประกาศดีลการควบรวมกิจการประวัติศาสตร์ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 8.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 1998 โดยบริษัท Exxon เป็นบริษัทผลิตน้ำมันสัญชาติสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดขณะนั้น และบริษัท Mobil เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับสอง ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนั้นได้ให้กำเนิดบริษัท ExxonMobil ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สามของโลกในขณะนั้น
1
Lee Raymond (ซ้าย) และ Lucio Noto (ขวา)
โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ดีลประวัติศาสตร์ครั้งนั้นคือราคาน้ำมันที่ต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาน้ำมันนั้นค่อนข้างต่ำ โดยเป็นผลมาจากระดับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และจากพฤติกรรมของ OPEC ซึ่งเป็นคาร์เทลน้ำมัน (Oil Cartel) ซึ่งมีการตกลงกันว่าจะผลิตตามโควตาที่กำหนดไว้เพื่อตรึงราคาไว้ให้สูง แต่ความเป็นจริง ประเทศสมาชิกในคาร์เทลกลับผลิตเกินกว่าโควตาที่กำหนดไว้ เพื่อที่ตัวเองจะได้มีกำไรเยอะขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันก็ยิ่งสูงขึ้นไป และราคาน้ำมันก็ยิ่งตกลงไปอีก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับบริษัทค้าน้ำมันอย่าง Exxon ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงมาก
3
การประชุมครั้งแรกของเหล่าผู้นำ OPEC ปี 1960 กรุงแบกแดด ประเทศอิหร่าน
เพราะฉะนั้น ในยามที่ราคาน้ำมันต่ำ เพิ่มรายได้ยาก สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น เพื่อสร้างกำไรให้ได้ จึงนำไปสู่การควบรวมกิจการดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อที่จะได้ปรับโครงสร้างองค์กร ตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (Cost reductions) เพื่อให้ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ทั้งการปลดพนักงาน และขายโรงงานต่าง ๆ ที่บริษัททั้งสองออกไป ตลอดไปถึงการผสมผสานเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน
1
ทั้งนี้ จากประเมินโดย Deutsche Bank ในปี 2001 พบว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ถึงราว 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หลังควบรวมกิจการ โดยมีสัดส่วนสำคัญมาจากการปรับโครงสร้างการผลิต (Rationalization of production programs) ซึ่งส่งผลให้ลดต้นทุนได้ถึงราว 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอีก 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านการปรับโครงสร้างองค์กร และท้ายที่สุดคือ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมาจากการเลือกใช้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้น
3
นอกจากนี้ อีกจุดประสงค์ในการควบรวมกิจการครั้งนั้นก็เพื่อเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรและศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตในอนาคตอีกด้วย โดยในตอนนั้น บริษัท Exxon นั้นมีความเชี่ยวชาญในด้านการสำรวจหาน้ำมันในบริเวณน้ำลึกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ Mobil มีฐานการดำเนินงานอยู่แล้ว
1
เพราะฉะนั้น เมื่อควบรวมกิจการกับ Mobil จะทำให้เข้าถึงพื้นที่สำรวจขุดเจาะน้ำมันต่าง ๆ อย่างเช่น ในคาซัคสถาน เติร์กมินิสถาน และภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น ในอเมริกาใต้ และรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในอนาคตอีกด้วย
ดีลครั้งนั้นก็ใช่ว่าจะผ่านฉลุย เพราะถึงแม้ว่า European Commission และ the United States Federal Trade Commission ซึ่งเป็นสององค์กรสำคัญของยุโรปและสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด จะได้อนุมัติการควบรวมกิจการดังกล่าว แต่ก็ได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญขึ้นมาคือบริษัท Mobil จะต้องยกเลิกความร่วมมือกับทาง BP บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อีกแห่ง และบริษัท Exxon เองก็จำเป็นต้องขายปั๊มน้ำมันหลายพันแห่งทั่วสหรัฐฯ เพื่อที่ว่าบริษัท ExxonMobil จะไม่มีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไป
1
ในช่วงหลังควบรวมกิจการ ระหว่างปี 2000 – 2006 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้สุทธิได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 19.78% เมื่อเทียบกับก่อนรวมกิจการที่อยู่เพียงแค่ 12.9% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินทรัพย์ก็ได้เพิ่มจาก 6.8% ในช่วงก่อนควบรวมกิจการ มาเป็น 12% ในช่วงหลังควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ระดับของหนี้สินโดยรวมของกิจการก็ยังลดลงด้วยภายหลังจากที่มีการควบรวมกิจการ และในช่วงไม่กี่ปีต่อมา
ในปี 2008 บริษัท ExxonMobil ก็ได้รายงานรายได้สุทธิออกมาซึ่งอยู่สูงถึง 45.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของธุรกิจสหรัฐฯ ในขณะนั้น
บริษัท ExxonMobil ซึ่งเกิดจากการควบรวมกันของสองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เติบโตอย่างมาก และได้ก้าวมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีรายได้สูงถึง 264.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 และมีอัตราการผลิตน้ำมันที่สูงถึงประมาณ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของดีลการควบรวมกิจการดังกล่าว สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น Archetype of Successful Cases อย่างแท้จริง
สำหรับในสัปดาห์หน้า Bnomics จะพาทุกคนไปพูดคุยกันถึงดีลการควบรวมกิจการที่ล้มเหลวในประวัติศาสตร์กันบ้าง ขอเชิญชวนทุกคนติดตามกันครับ
#ExxonMobli #Exxon #Mobli #ควบรวมกิจการ
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา