9 ก.ย. 2021 เวลา 13:19 • สิ่งแวดล้อม
ไม่มีวัคซีนสำหรับโลกที่ป่วย
สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอีกช่วงเวลาที่เราได้ข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติรุนแรงเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่นิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ (ซ้ายบน) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คนไปแล้ว อันเป็นผลมาจากหางพายุเฮอริเคนไอดา (กลางบน) ที่มองเห็นได้จากอวกาศ ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของประเทศยังคงเกิดไฟป่ารุนแรงหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนียเช่น เปลวเพลิงที่กำลังโหมลุกไหม้รอบสกีรีสอร์ตใกล้ทะเลสาบทาโฮในเมือง Twin Bridge (ขวาบน) เป็นภาระหนักหนาสำหรับพนักงานดับเพลิงกว่า 3,500 คน
เมื่อคืนนี้ยังเป็นการเริ่มต้นงานประชุมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่โลกเผชิญกับวิกฤติโควิดที่เมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง เข้าร่วมเป็นประธาน พร้อมกับตอกย้ำ วิกฤติหลายอย่างที่กำลังเผชิญหน้ามนุษยชาติว่า “ไม่มีวัคซีนสำหรับโลกที่กำลังป่วย เราต้องแก้ปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องธรรมชาติไปพร้อมๆกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันสำเร็จ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนับเป็นวิกฤติที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน”
มาครง อธิบายถึง สิ่งที่โลกต้องเร่งลงมือแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การลดและเลิกการใช้ยาฆ่าแมลง การแก้ปัญหามลภาวะจากพลาสติก และยุติการใช้วัตถุดิบที่มาจากการทำลายป่า รวมไปถึง การระดมทุนด้านการเงินเพื่อต่อสู้กับการสูญเสียธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่โลกร่วมกันต่อสู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ
งานประชุมการอนุรักษ์โลก (World Conservation Congress) ที่จัดขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN) เป็นงานประชุมสุดยอดว่าด้วยการอนุรักษ์ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยปกติจะมีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคนจากภาคีสมาชิกกว่า 190 ประเทศ งานประชุมครั้งนี้ถูกเลื่อนออกมาจากปีที่แล้วเนื่องจากวิกฤติโควิด และจะมีการจัดขึ้นทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งแต่วันที่ 3-11 กันยายนนี้
นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน ร่วมการเปิดในวิดีโอว่า “เราได้เห็นภูมิภาคต่างๆทั่วโลกเผชิญกับภัยพิบัติมากมาย วิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามความอยู่รอดและการพัฒนาของมนุษยชาติ และกำลังจะเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงระดับโลก”
แฮริสัน ฟอร์ด ดาราภาพยนตร์ฮอลิวูดชื่อดัง เข้าร่วมการประชุมในฐานะรองประธานองค์กร Conservation International ยกย่องบทบาทของเยาวชนทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาปกป้องธรรมชาติและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน
เป้าหมายหลักสำคัญอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพคือการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั่วโลกให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลจากกลุ่มชนพื้นเมืองว่าการประกาศขยายพื้นที่คุ้มครองอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในบางประเทศ การมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่คุ้มครอง และรูปแบบการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ จึงนับเป็นความท้าทายที่สำคัญอีกด้าน ในความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติการสูญพันธุ์และวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศไปพร้อมๆกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวจากงานประชุมครั้งนี้ได้ที่ IUCN
โฆษณา