10 ก.ย. 2021 เวลา 03:25 • ข่าว
อ่าวกวนตานาโมพร้อมคำอธิบายด้วยแผนที่และแผนภูมิ
เครดิตภาพ : Aljazeera
หลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านไปครบ 4 เดือน สหรัฐฯ ได้จัดตั้งเรือนจำความปลอดภัยสูงในอ่าวกวนตานาโม
นับตั้งแต่นั้น “กิตโม” (Gitmo) ได้กลายเป็นที่คุมขังนักโทษ 780 รายภายใต้สโลแกนที่เรียกกันว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ซึ่งปัจจุบันยังเหลือนักโทษอีก 39 ราย
กิตโมหรือเรือนจำกวนตานาโมถูกจัดตั้งในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีเป้าหมายเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะฮ์ (al-Qaeda) ที่ถูกจับกุมระหว่างการบุกรุกอัฟกานิสถานในปีค.ศ.2001
อ่าวกวนตานาโมอยู่ที่ไหน?
เครดิตภาพ : Aljazeera
ฐานทัพเรืออ่าวกวนตานาโมตั้งอยู่ส่วนปลายดินแดนตะวันออกของคิวบา ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 800 กิโลเมตรจากปลายสุดของฟลอริดา มีขนาด 116 ตารางกิโลเมตรและอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สิ้นสุดศตวรรษที่ 19
ฐานทัพแห่งนี้เป็นประเด็นถกเถียงอย่างถึงพริกถึงขิงระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบามานานหลายศตวรรษ คิวบายืนกรานว่าสหรัฐฯ ได้ส่งคืนดินแดนที่ถูกยึดไปด้วยกำลังในปีค.ศ.1898 และต่อมารัฐบาลของนายโทมัส เอสตราดา พัลมา ประธานาธิบดีคนแรกของคิวบาก็ปล่อยฐานทัพแห่งนี้ให้สหรัฐฯ เช่าอย่างถาวร
เริ่มแรกถูกใช้เป็นสถานที่กักขังชั่วคราวที่มีชื่อว่า “Camp X-Ray” ในปีค.ศ.2002 ปัจจุบันมีค่ายกักกันรวม 7 แห่งที่มีป้ายกำกับตามลำดับการสร้าง ขณะที่กองทัพสหรัฐกล่าวว่าผู้ต้องขังทั้งหมดที่เหลือถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายลำดับที่ 5 และ 6 เท่านั้น
มีผู้ต้องขังจากที่ไหนบ้าง?
เครดิตภาพ : Aljazeera
นับตั้งแต่ 11 มกราคม 2002 ผู้ต้องขังอย่างน้อย 780 รายจาก 48 ประเทศถูกควบคุมตัวอยู่ในอ่าวกวนตานาโม ทว่ามีเพียง 16 คนเท่านั้นที่เคยถูกตั้งข้อหากระทำความผิดทางอาญาตามการรายงานของกลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (HRW)
ประเทศที่มีผู้ต้องขังสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อัฟกานิสถาน 219 ราย, ซาอุดิอาระเบีย 134 ราย, เยเมน 115 ราย, ปากีสถาน 72 ราย, แอลจีเรีย 23 ราย ตามข้อมูลของนิวยอร์กทามส์
ผู้ต้องขังที่อายุน้อยที่สุดคือนายอุมัร ค็อฎร์ อายุ 15 ปี สัญชาติแคนาดาซึ่งถูกปล่อยตัวในปีค.ศ.2015 หลังถูกคุมขังนาน 13 ปี
ในปีค.ศ.2017 รัฐบาลแคนาดาจ่ายเงินให้ค็อฎร์ 10.5 ล้านดอลลาร์แคนาดา (กว่า 270 ล้านบาท) และขอโทษอย่างเป็นทางการต่อบทบาทใดๆ ที่รัฐบาลได้มีต่อการละเมิดที่ทำให้เขาได้รับความทรมานในฐานะนักโทษของอ่าวกวนตานาโม
ผู้ต้องขังอายุสูงสุดคือนายซัยฟุลลอฮ์ ปาราชา อายุ 73 ปี สัญชาติปากีสถาน เขาถูกคุมขังนาน 17 ปีโดยไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ อนุมัติปล่อยตัวปาราชาโดยสรุปเพียงแค่ว่าเขา “ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว” ทนายความของเขากล่าวว่าเขาจะสามารถกลับบ้านที่ปากีสถานได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
เกิดอะไรขึ้นกับผู้ต้องขัง 780 ราย
เครดิตภาพ : Aljazeera
นับตั้งแต่ปีค.ศ.2002 ผู้ต้องขัง 732 รายได้ถูกส่งกลับบ้านหรือไปยังประเทศที่ 3 ผ่านข้อตกลงส่งตัวนักโทษ มีผู้เสียชีวิต 9 รายระหว่างถูกควบคุมตัว คงเหลือผู้ต้องขังอีก 39 ราย
ประเทศที่รับนักโทษจากกิตโมมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ อัฟกานิสถาน 203 ราย, ซาอุดิอาระเบีย 140 ราย, ปากีสถาน 63 ราย, โอมาน 30 ราย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 24 ราย ตามรายงานของนิวยอร์กทามส์
ผู้ต้องขัง 39 รายที่ยังเหลืออยู่ ในจำนวนนี้ 17 รายถูกควบคุมตัวโดยไม่มีคำแนะนำให้ส่งตัว อีก 10 รายสามารถส่งตัวได้หากตรงตามเงื่อนไขด้านความปลอดัย อีก 10 รายถูกตั้งข้อหาโดยกองทัพสหรัฐฯ และอีก 2 รายถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิด
ปิดเรือนจำ
เครดิตภาพ : Aljazeera
ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คน “กิตโม” ศูนย์กักกันที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายกลุ่มรวมถึงฮิวแมนไรท์วอช, องค์การนิรโทษกรรมสากล (AI) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้ประณามเรือนจำแห่งนี้อย่างต่อเนื่องด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้วิธีสอบปากคำที่โหดร้ายซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นการทรมาน
ในปีค.ศ.2006 นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนข้อสรุปที่สำคัญของคณะกรรมการอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งจาก UNว่าสหรัฐฯ ควรปิดเรือนจำในอ่าวกวนตานาโมโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ระหว่างที่จอร์จ บุช ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้กล่าวว่าเขาอยากเห็นการปิดเรือนจำในอ่าวกวนตานาโม แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องง่าย
บารัก โอบามา ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากบุช ได้ให้สัญญาว่าจะปิดเรือนจำในกวนตานาโมและในวันที่ 2 ของการทำงานเขาได้ลงนามในคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีให้ปิดมันภายในกรอบเวลา 1 ปี แต่มันกลับไม่เป็นไปเช่นนั้น
ในปีค.ศ.2018 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยังเปิดทำการเรือนจำแห่งนี้ต่อไปและเขาได้ลงนามในคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเพื่อยกเลิกคำสั่งของโอบามา
ในปัจจุบันประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รื้อฟื้นความพยายามของรัฐบาลโอบามาในการปิดเรือนจำขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม นายอับดุลละฏีฟ นาศิร สัญชาติโมร็อกโก ได้กลายเป็นผู้ต้องขังคนแรกที่ถูกส่งตัวภายใต้การบริหารงานของไบเดน หลังถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2002 โดยไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ
ในสมัยการบริหารงานของบุช (2001-2009) มีนักโทษถูกปล่อยตัวราว 540 ราย ขณะที่ในสมัยของโอบามา (2009-2017) มีนักโทษถูกปล่อยตัวราว 200 ราย ขณะที่ในสมัยของทรัมป์ (2017-2021) มีนักโทษถูกปล่อยตัวเพียง 1 ราย เช่นเดียวกับสมัยของไบเดน
อ้างอิง
โฆษณา