Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6
•
ติดตาม
10 ก.ย. 2021 เวลา 07:45 • ประวัติศาสตร์
“ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาแลปีศาจอสูรอันเปนสัมมาทิฏฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกลายพระองค์แลบริพารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสครั้งนี้ ก็มีผู้ป้องกันภยันตรายเหมือนกัน อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย”
2
(พระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
หากกล่าวถึงเทพผู้อารักขา และป้องกันภยันตราย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คนส่วนใหญ่มักนึกถึง “ท้าวหิรัญพนาสูร” เป็นองค์แรก ด้วยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นที่เคารพบูชามาเป็นเวลากว่าร้อยปี
รูปท้าวหิรัญพนาสูร ประดิษฐานหน้ารถยนต์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตำนานท้าวหิรัญพนาสูร เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ โดยระหว่างที่ขบวนเสด็จเข้าไปในป่า มีข้าราชบริพารผู้หนึ่งฝันเห็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต ได้บอกแก่ผู้ที่ฝันว่าตนชื่อ “หิรันย์” เป็นอสูรชาวป่า ผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ครั้งนี้จะมาตามเสด็จฯ เพื่อคอยอารักขา ดูแลมิให้ภยันตรายทั้งปวง อันพึงจะบังเกิดมีขึ้นได้ในระยะทางป่านั้น มากล้ำกลายพระองค์ และข้าราชบริพารได้
พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหาร ไปเซ่นสังเวยที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุกๆ วัน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องต้นไปเซ่นสรวงเสมอ ตลอดการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ก็มิได้เกิดภยันตรายใดๆ ขึ้นเลย
จนกระทั่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงคำนึงถึงหิรันยอสูร ซึ่งนิยมกันว่าได้เคยตามเสด็จมาหลายแห่งหน และการเสด็จพระราชดำเนินก็เป็นไปโดยสวัสดิภาพ เป็นที่อุ่นใจของเหล่าข้าราชบริพารทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปหิรันยอสูร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สวมชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ ถือไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสังเวยพร้อมทั้งอัญเชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตในรูปสัมฤทธิ์ที่ปั้นหล่อขึ้น พระราชทานนามใหม่ว่า “ท้าวหิรัญพนาสูร” เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๔
รูปท้าวหิรัญพนาสูร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในตอนต้นรัชกาล
ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “วังพญาไท” ขึ้นเป็น “พระราชวังพญาไท” แล้ว ทรงพระราชดำริที่จะสร้างศาลเทพารักษ์ โดยให้ท้าวหิรัญพนาสูรเป็นเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท
พระราชวังพญาไท
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) นำตัวนายตาบ พรพยัคฆ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนหิรัญประสาท) มหาดเล็กผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าดุดัน ทั้งยังมีจิตใจกล้าหาญอดทน ไปเป็นแบบให้พระยาอาทรธุระศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร) ดำเนินการจัดสร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร ซึ่งมีพระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เป็นผู้ปั้นหุ่นขนาดเท่านายตาบ และมิสเตอร์ แกลเลตตี ประติมากรชาวอิตาเลียน เป็นผู้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีลักษณะคล้ายกับรูปท้าวหิรัญพนาสูรที่สร้างเมื่อตอนต้นรัชกาล คือ สวมชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ ถือไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
ใบหน้าของขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) เมื่อเทียบกับรูปท้าวหิรัญพนาสูร
ครั้นการจัดสร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูรแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ศาล ริมคลองสามเสน ในเขตพระราชฐานพระราชวังพญาไท ที่ฐานมีแผ่นทองแดงจารึกข้อความประวัติการจัดสร้าง ดังนี้
รูปท้าวหิรัญพนาสูร ณ พระราชวังพญาไท
“รูปท้าวหิรัญพนาสูรนี้ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ ณ วันเสาร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เวลา ๕ นาฬิกา กับ ๙ นาที ๔๑ วินาที หลังเที่ยง”
ศาลท้าวหิรัญพนาสูรในอดีต
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด และบวงสรวงสังเวยท้าวหิรัญพนาสูร ณ ศาลแห่งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๖
ศาลท้าวหิรัญพนาสูรในปัจจุบัน
แม้กาลเวลาผ่านมานับร้อยปี แต่ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวหิรัญพนาสูร ก็ยังคงเล่าขานสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยและญาติมิตร ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวหิรัญพนาสูร เทพผู้อารักขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเทพารักษ์ประจำภูมิสถานอันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน
แผ่นทองแดงจารึกข้อความประวัติการสร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร
ศาลท้าวหิรัญพนาสูร ที่ในปัจจุบันยังคงมีประชาชนเดินทางมาสักการบูชาอย่างต่อเนื่อง
1 บันทึก
4
5
1
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย