10 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
6 วิธีรับมือกับความกังวล! เมื่อต้องกลับมาทำงานที่ ‘ออฟฟิศ’
ไม่อยากเจอคนเยอะ?
ต้องเหนื่อยกับการเดินทาง?
กลัวการออกจากคอมฟอร์ตโซน?
1
ความกังวลมากมายถาโถมใส่เราทันทีที่มีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และหลายบริษัทเริ่มกลับไปทำงานที่ ‘ออฟฟิศ’ เหมือนเดิม นั่นหมายความว่าชีวิตประจำวันของเรากำลังจะ ‘เปลี่ยน’ ไปด้วย จากที่ได้นอนยัน 8:30 และตื่นมาประชุมทั้งๆ ที่ยังใส่ชุดนอน กลายเป็นต้องตื่นตั้งแต่ตี 5:30 เพื่อรีบออกบ้านก่อนที่รถจะติด
จริงอยู่ที่เราเคยรับมือกับวิถีชีวิตเช่นนี้มาก่อน แต่การห่างหายจากกิจวัตรเดิมๆ ไปนาน ไม่ว่าจะแค่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็สามารถทำให้เราเกิดอาการ ‘วิตกกังวล’ ขึ้นมาได้ทั้งนั้น!
3
มาดูกันดีกว่าว่าทำไมเราถึงรู้สึกกลัวการกลับออฟฟิศ
และมีวิธีไหนที่จะช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
‘ความเปลี่ยนแปลง’ ทำให้เรากังวลได้เสมอ
2
หลายคนอาจคิดว่าแค่กลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ คงไม่ได้หนักหนาอะไร เราเคยใช้ชีวิตออฟฟิศแบบนี้มาก่อนแล้วนี่นา! แต่อย่าลืมว่าช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันในห้องสี่เหลี่ยมไปแล้ว เช่น การตื่นมารดน้ำต้นไม้ การชงชาร้อนๆ ดื่มขณะอ่านข่าวไปด้วย การทานมื้อเที่ยงไปดูซีรีส์ไป หรือการออกไปเดินเพื่อเคลียร์หัวให้โล่ง
6
“สมองของเราไม่ชอบความไม่แน่นอน” Dr.Judson Brewer ผู้อำนวยการ Mindfulness Center แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์กล่าว กิจวัตรที่เราสร้างมาในช่วงทำงานที่บ้าน แม้ตอนแรกเราอาจไม่ชิน แต่ตอนนี้มันก็กลายเป็นโซนปลอดภัยของเราไปแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ในบ้านเป็นพื้นที่ที่เรา ‘ควบคุมได้’ ต่างกับในออฟฟิศที่เราไม่สามารถบังคับคนและสภาพแวดล้อมได้ จู่ๆ แอร์อาจหนาวขึ้น เพื่อนร่วมงานอาจพูดไม่หยุด เคี้ยวขนมเสียงดัง หรือวีนใส่เรา
2
สำหรับมนุษย์ ความคุ้นเคยมักจะให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่าเสมอ และสภาพแวดล้อมใหม่ (แม้จะเคยคุ้นชิน) ทำให้เรารู้สึกระแวดระวังอยู่ลึกๆ จนเกิดอาการวิตกกังวลขึ้นมาได้ แม้ว่าการปรับตัวนี้จะเป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ แต่ขั้นตอนการปรับตัวนั้น ก็สร้างความเหนื่อยกายเหนื่อยใจได้เหมือนกัน
การกลับไปทำงานในออฟฟิศจึงให้ความรู้สึกไม่ต่างกับการเริ่มงานใหม่ 6 เดือนแรกเลย
2
หรือมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เรา ‘หลีกเลี่ยง’ การไปทำงานที่ออฟฟิศ
3
สำหรับผู้ปกครองบางคน การทำงานที่บ้านนั้นหมายความว่าเราได้ใช้เวลากับลูกทั้งวัน เลยอยากหลีกเลี่ยงการกลับออฟฟิศเพราะไม่อยากห่างจากลูก ส่วนคนที่บ้านอยู่ไกลที่ทำงาน อาจเครียดขึ้นมาบ้างเพราะเมื่อต้องเดินทางไปทำงาน นอกจากจะเหนื่อยมากขึ้นแล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก
คนที่มักทานข้าวไม่เป็นเวลาเมื่ออยู่ที่ออฟฟิศ อาจมีเวลาดูแลอาหารการกินของตัวเองมากขึ้นตั้งแต่ล็อกดาวน์ พอต้องกลับออฟฟิศ เลยกังวลว่าสุขภาพที่กำลังดูแลได้ดี ต้องกลับมาแย่อีกแล้ว
2
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เรารู้สึกกลัวการกลับไปทำงาน ตั้งแต่นิสัย Introverted ชอบทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ชอบรถติด อยากประหยัดเงิน อยากอยู่กับคนในครอบครัว ฯลฯ แต่ในเมื่อจะต้องกลับไปทำงานจริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องตอบ ‘คำถาม’ ตัวเองให้ได้ก่อนว่า ‘เหตุผลที่แท้จริง’ ที่ทำให้เราไม่อยากกลับออฟฟิศคืออะไร
เมื่อได้คำตอบแล้วก็หาวิธีผ่อนคลายความเครียดนั้น หากไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มาลองเรียนรู้ 6 วิธีรับมือกับความกังวลไปด้วยกันดู
1) ฝึกให้ชิน
หากความกังวลของเราคือเรื่อง ‘การเดินทาง’ ลองหาเวลาว่างสักวันในการซ้อมเดินทางผ่านเส้นทางเดิมๆ ที่ใช้ไปทำงานดู การซึมซับตึกรามบ้านช่องที่คุ้นตาจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมกับวันจริงได้ดีขึ้น
1
คนที่ไม่ชอบ ‘คุยกับคนอื่น’ หรือ ‘ทานข้าวร่วมกับคนอื่น’ ช่วงนี้ระหว่างพักก็ลองอ่านบทความที่พูดถึงเรื่องทักษะ Small Talk ดู เผื่อลองฝึกแล้วจะได้ไม่ตื่นตัวเกินไปเมื่อต้องเจอคนเยอะๆ ในวันจริง
(ลองฟังพอดคาสต์ “5 วิธีชวนคุยให้เก่งขึ้น” ได้ที่ >> https://bit.ly/38VhQhB)
1
2) พักผ่อนให้เพียงพอ
กลับออฟฟิศวันแรกเหนื่อยแน่นอน! ทั้งการเดินทาง การพูดคุยกับผู้คน และการทำงาน แนะนำว่า 2-3 วันก่อนหน้านั้นให้ออกกำลังกาย เริ่มปรับเวลานอน พักผ่อนให้เพียงพอ และงดการดื่มแอลกอฮอลล์ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ กระตุ้นให้เรากังวลมากพอแล้ว อย่าให้ความอ่อนเพลียจากการนอนน้อยหรือดื่มเยอะ มาทำให้ทุกอย่างแย่ไปกว่าเดิมเลย
1
3) ใจดีกับตัวเองกว่าปกติ
อย่างที่บอกไปว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ อาจปรับตัวยากคล้ายกับ 6 เดือนแรกของการเริ่มงานใหม่เลย เราจะเหนื่อยมากกว่าปกติและประสิทธิภาพในการทำงานอาจยังไม่คงที่ แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นในไม่ช้าแน่นอน ระหว่างนี้ก็ใจเย็นกับตัวเองไปก่อนนะ
2
4) เตรียม ‘เครื่องมือ’ ช่วยผ่อนคลายให้พร้อม
อะไรที่จะช่วยให้เราคลายความกังวลได้บ้าง? ชากลิ่นโปรด ของเล่นเพิ่มสมาธิ (Fidget Toy) หรือหมอนนุ่มๆ ใบเล็กที่เราชอบกอดขณะทำงาน? อย่าลืมหยิบของเหล่านี้ติดมือกลับออฟฟิศไปด้วย เพราะความคุ้นเคยจะช่วยให้เรากังวลน้อยลง
2
บทความใน The New York Times ได้แนะนำเทคนิคการหายใจที่ชื่อว่า “Five-Finger Breathing” ซึ่งทำได้ง่ายๆ ด้วยการยื่นมือข้างหนึ่งออกไปด้านหน้า กางนิ้วทั้ง 5 ออกมา จากนั้นก็ใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้างไล่ตามขอบมือที่กางออกช้าๆ ขณะที่หายใจเข้าออกช้าๆ ไปด้วย (ชมวิธีสอนได้ที่ >> https://youtu.be/67JDaNcX3gE?t=22) วิธีนี้เองจะช่วยให้ความคิดเราวิ่งช้าลง หัวใจเต้นช้าลง เพราะสมองเราโฟกัสที่สัมผัสทางกายและการหายใจแทน
2
5) บอกตัวเองว่าเราไม่ได้ ‘เริ่มจากศูนย์’
การทำงานที่บ้านเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ เราเรียนรู้ ทดลอง และค้นพบว่าอะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผล เราได้พัฒนา ‘กิจวัตรประจำวัน’ ใหม่ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นมาในระหว่างนั้น เช่น การออกกำลังกายทุก 5 โมงตรง การออกไปเดินเล่นรอบคอนโดตอนเช้า หรือการลุกขึ้นมายืดเส้นทุก 15 นาทีตอนบ่าย พอต้องกลับเข้าออฟฟิศ กิจกรรมที่ทำมาต่อเนื่องเหล่านี้จะต้องชะงักไป จนเรารู้สึกว่าสถิติที่เก็บมามันพังเสียหมด!
1
ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น แน่นอนว่าเราอาจไม่ได้ออกกำลังกายทุกวันเช่นเคย แต่ตราบใดที่เรายังหาเวลาออกอยู่ในวันที่ทำได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การดูแลสุขภาพแล้ว ความถี่ที่น้อยลงนั้นไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมามันไม่มีค่าอะไรเลย
ส่วนกิจกรรมบางอย่างที่สามารถปรับไปทำที่ออฟฟิศได้ ก็ลองนำไปปรับดู อย่างการลุกขึ้นมาขยับตัว ยืดเส้นยืดสาย หรือออกไปเดินเล่นให้สมองโล่ง
6) ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ในช่วงล็อกดาวน์ เราหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ทั้งอาการใหม่ที่พึ่งเคยเป็น และโรคเดิมๆ แต่เป็นหนักขึ้น สำหรับคนกลุ่มนี้ การปรับตัวกลับมาออฟฟิศอาจเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษ หากเป็นไปได้ การปรึกษาหัวหน้าหรือ HR ก็เป็นตัวช่วยที่ดี เพราะการพูดคุยอาจนำมาซึ่งทางออกที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย เช่น มีมาตรการเริ่มกลับออฟฟิศสัปดาห์ละ 2 วันก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มตามเวลา
1
ช่วงเวลาแห่งการปรับตัวนั้น ‘ยาก’ สำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหตุการณ์ตอนนี้ ที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะกลับไปออฟฟิศได้นานไหม หรือสถานการณ์โควิดจะแย่ลง จนต้องกลับไปทำงานที่บ้านกันอีกรอบหรือเปล่า ดังนั้นจงยืดหยุ่นกับตัวเอง กับคนรอบข้าง และกับพนักงานของเราให้มาก มาเป็นกำลังใจให้กันและกันจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นนะ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
โฆษณา