12 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
"ฟีนิกซ์" ปั๊มเล็กใจใหญ่
กลยุทธ์แทรกตัวในชุมชน ปั๊มใหญ่เข้าไม่ถึง
1
(ทินกร เชาวน์ชื่น)
"ฟีนิกซ์" หรือ Phoenix Station ปั๊มน้ำมันน้องใหม่ที่ประกาศเข้าชิงตลาดธุรกิจปั๊มน้ำมันที่มีกลุ่ม ปตท.ในนาม OR และ PT ที่ขับเคี่ยวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในแง่จำนวนปั๊มน้ำมัน โดยข้อมูลถึงไตรมาส 2 ปี 2564 แต่ละแห่งมีจำนวนปั๊มดังนี้
OR มีจำนวน 2,027 แห่ง
PT มีจำนวน 1,902 แห่ง
บางจาก มีจำนวน 1,247 แห่ง
โมเดลปั๊มฟีนิกซ์ ที่จะขยายไปในถนนรองและชุมชนชนบท
ในขณะที่ 'ฟีนิกซ์' ประกาศที่จะมีบริษัทเปิดสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบไมโคร สเตชั่น ในไตรมาส 4 ปี 2564 หลังจากปีนี้นำร่องเปิดสถานีบริการน้ำมันที่ศาลายา จ.นครปฐม และที่อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นการเข้ามาแข่งขันในธุรกิจปั๊มน้ำมันที่กำลังเข้าสู่ยุค 'เปลี่ยนผ่าน' ของเชื้อเพลิงรถจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถ EV
กลยุทธ์ที่น้ำมาใช้ย่อมต้องแตกต่างจากเจ้าตลาดไม่เช่นนั้นยากที่จะเบียนเข้าไปอยู่ในตลาดปั๊มน้ำมันได้ โดย 'ฟีนิกซ์' วางตำแหน่งของตัวเองเป็น 'สถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก' ขนาด 200 ตารางวา เป็นกลยุทธ์ 'ปั๊มเล็ก' ปิดจุดอ่อนของปั๊มใหญ่ที่เข้าถึงพื้นที่ชุมชนไม่ได้
การเข้าถึงชุมชนของ 'ฟีนิกซ์' มองไปที่ถนนสายรองทั่วประเทศ โดยเริ่มที่ปริมณฑล และมองตลาดชุมชนชนบททั่วประเทศที่ยังมีช่องว่างของปั๊มน้ำมันสมัยใหม่ในชุมชน
ปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก 200 ตารางวา แต่มีครบเหมือนปั๊มใหญ่ทั้งร้านค้า ร้านกาแฟและจุดอัดประจุไฟฟ้า
ด้วยความที่เป็นปั๊มขนาดเล็กทำให้ง่ายต่อการก่อสร้าง การติดตั้งระบบจ่ายน้ำมัน และที่สำคัญใช้เงินลงทุนต่อปั๊มไม่สูงจึงเป็นอีกเหตุผลสัญที่ทำให้ขยายปั๊มได้อย่างรวดเร็ว
การแข่งขันของธุรกิจปั๊มน้ำมันในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การจำหน่ายน้ำมัน แต่มีส่วนอื่นที่ดึงลูกค้า คือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ นี่จึงทำให้ 'ฟีนิกซ์' วางอีกกลยุทธ์ให้ปั๊มขนาดไมโคร แต่มีครบทั้งร้านสะดวกซื้อและคาเฟ่ที่ปั๊มใหญ่มี แต่ 'ฟีนิกซ์' แทรกตัวเข้าไปในชุมชนได้ในแบบที่ปั๊มใหญ่ทำไม่ได้
'ฟีนิกซ์' เป็นการลงทุนของบริษัทภาคภิญโญ จำกัด ที่จดทะเบียนทำธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ ซึ่งที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ 3 คน คือ พักตร์พิลัย เชื้อประทุม, ชาติชาย จันตรา และไพรัช จงเสรีจิตต์ จดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2553 ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท
การดำเนินธุรกิจปั๊มฟีนิกซ์ ดำเนินการผ่านบริษัท พาวเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท ฟีนิกซ์ พี-วัน จำกัด ที่บริษัทภาคภิญโญ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่ง 'ชาติชาย จันตรา' เป็นกรรมการบริษัททั้ง 2 แห่ง แต่ในเชิงการบริหารธุรกิจจะให้ 'โกศล แสงรังษี' กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟีนิกซ์ พี-วัน จำกัด และบริษัท พาวเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้ขับเคลื่อนปั๊มฟีนิกซ์
แต่ในแง่การตลาดถือว่าได้มือดีที่คลุกคลีในแวดวงการพัฒนาธุรกิจ SME มาช่วยงาน คือ "โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ" รับหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์การตลาด บริษัท ฟีนิกซ์พี-วัน จำกัด
กลยุทธ์สำคัญของปั๊มฟีนิกซ์ คือ ไม่แข่งกับปั๊มใหญ่ ทำตลาดในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในสายตาของปั๊มใหญ่
"โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ" คนนี้ในอดีตเคยนั่งเก้าอี้ MD ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เมื่อปี 2546 ก่อนที่จะลาออกไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่นาน แต่ก็การันตีได้ถึงคอนเน็กชั่นที่ไม่เบา
ด้วยประสบการณ์ทางการเงินจากการเป็นผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทยและ SME Bank ทำให้ 'โชติศักดิ์' ไม่รีรอที่จะให้คำแนะนำปั๊มฟีนิกซ์ให้ขยายการลงทุนในช่วงนี้ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ เป็นช่วงที่ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ และยึดแนวคิดไม่แข่งบนถนนหลักกับปั๊มใหญ่เด็ดขาด
รวมทั้งจะสร้างโอกาสให้ชุมชนชนบทเข้าถึงปั๊มที่มีบริการครบ และที่สำคัญมีแผนที่จะรองรับ EV ด้วยสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามเทนด์ที่กำลังมาด้วย
โฆษณา