Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วัดเชียงใหม่ พุทธศิลป์ถิ่นล้านนา
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2021 เวลา 06:41 • ท่องเที่ยว
อารามนามมงคล (EP.๒/๖)
ชัยยะศรีสถาน
พระเจ้าอุ้มบาตร “วัดศรีดอนไชย”
วัดศรีดอนไชย ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ ข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ บันทึกว่ามีสถานะเป็นวัดราษฎร์ราวพ.ศ.๒๔๓๙ จากคำบอกเล่าของพระปลัดจรินทร์ ธมฺมวโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เดิมมีชื่อว่า “วัดป่ากล้วย” ท่านพระครูสุคันธศีล (ศรีโหม้ คนฺธาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย หรือ พระโพธิรังสีมารชีศาสนาธิการ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่รูปที่๕ พร้อมด้วยศรัทธาอุปถัมภ์หลวงโยนการพิจิตร(หม่องปันโย่ อุปโยคิน) คหบดีค้าไม้ชาวพม่าในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้นครเชียงใหม่ องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาได้ร่วมกันฟื้นฟูวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง จากเดิมเคยมีสถานะเป็นวัดร้างมาอยู่ช่วงหนึ่ง พร้อมกับให้นามมงคลใหม่ว่า “วัดศรีดอนไชย” มีความหมาย ถึงสถานที่แห่งความมีชัยชนะ
เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตกำแพงเวียงชั้นนอก มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ วัดแห่งนี้เป็นที่ปลงศพเจ้าอุตรการโกศล(เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่) รวมถึงเหตุการณ์ความเกี่ยวเนื่องกับพระศรีวิชัย (ครูบาศรีวิชัย) เคยเป็นที่พำนักเมื่อครั้งต้องอธิกรณ์ ณ บริเวณศาลาบาตร วัดศรีดอนไชย เป็นเวลานานถึง ๓ เดือนจึงเดินทางไปกรุงเทพ มหานคร
พระพุทธรูปสำริดปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปสำริดเก่าแก่หลายร้อยปี ขนาดความสูงเท่าตัวคน(ราว ๑.๕๐-๒.๐๐เมตร) สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำริด ๑ใน ๕ พญามังรายมหาราชได้ทรงสร้างขึ้น โดยเป็นพระนั่ง ๓ องค์ และพระยืน ๒ องค์สูงเท่าพระองค์จริง สำหรับองค์พระยืน ๑ องค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าเม็งราย และพระยืนอีก ๑ องค์ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานอยู่ภายในอุโบสถ รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นอุโบสถที่มีความเก่าแก่หลายร้อยปี สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาพระพุทธศาสนาโดย “พ่อเฒ่าหม่องคำ-แม่เฒ่าบัวจันทร์ ส่วยสุวรรณ” คหบดีค้าไม้ชาวพม่าจากเมืองมะละแหม่ง และมีบ้านอยู่ริมน้ำปิงถนนเจริญประเทศ
วิหาร อาคารก่ออิฐถือปูนในลักษณะโถง ๒ ชั้นรูปทรงสถาปัตกรรมล้านนา ชั้นล่างเป็นที่สำหรับพิธีสงฆ์ ชั้นบนโครงสร้างหลังคาในแบบม้าต่างไหม เสาปูนคู่แบบเหลี่ยมส่วนปลายหัวเสาประดับบัวแวงลวดลายรักปิดทอง ตั้งเรียงเป็นแนวนำสายตาไปสู่ฐานชุกชีทรงสูงประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัยเป็นองค์พระประ ธานของพระวิหาร
เจดีย์ ศิลปะพม่าผสมผสานศิลปะล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนสามชั้นย่อเก็จ องค์เจดีย์ทรงระฆังตันไม่มีบัลลังค์ ยอดเจดีย์ประดับฉัตรโลหะปิดสีทอง องค์เจดีย์ล้อมรอบด้วยกำแพงเตี้ย มุมทั้งสี่ของฐานเจดีย์ชั้นล่างสุดประดับประติมากรรมรูปปั้นสิงห์ สร้างโดยหลวงโยนการพิจิตร
หอไตร สถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา อาคารทรงสูงรูปสี่เหลี่ยมหลังค้าซ้อนชั้นแบบจตุรมุข ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัด ชั้นบนเป็นเครื่องไม้แบบปิด บานประตูหน้าต่างจิตรกรรมรักปิดทองลวด ลายปูรณฆฏะ เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก และตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
กุฏิร้อยปี (กุฎิหลวงโยนการพิจิตร) อาคารรูปทรงศิลปะตะวันตกผสมผสานศิลปะพื้นถิ่นล้านนา ในลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ มีโถงมุขกึ่งกลางทำหน้าที่เชื่อมอาคารโครงสร้างไม้ปีกซ้ายและปีกขวาเข้าไว้ด้วยกัน กรอบประตูหน้าต่างทรงสูงประดับซุ้มโค้งบัวปูนปั้นลวดลายแบบตะวันตก ด้านหลังปลูกดอกเอื้องและดอกไม้หลายกลีบ(ดอกไม้ สัญลักษณ์ของหลวงโยฯ) สันนิษฐานว่าสร้างกุฎิหลังนี้เพื่ออุทิศให้กับนางบัวแก้ว ภรรยาคนที่ ๑ และ นางบัวจีน ภรรยาคนที่๒
พญาสีหราช ประติมากรรมปูนปั้นพญาสีห์ขนาดใหญ่คู่หนึ่ง ด้านซ้ายมีชื่อว่าพญาสีหบรรลือราชสีห์ ส่วนด้าน ขวาชื่อพญาสีหไจยโยราชสีห์ ยืนเป็นสง่าอยู่บนแท่นสูงราว ๑ เมตร ทำหน้าที่ทวารบาลก่อนเข้าสู่เขตพุทธาวาสภายในวัดศรีดอนไชย
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ " แนะนำข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มเติมได้ที่
email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
https://harnggoonchorn.business.site
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย