13 ก.ย. 2021 เวลา 02:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เรามักจะคิดว่า นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นคนที่ฉลาด มีข้อมูลมาก ตัดสินใจเลือกการลงทุนได้ถูกต้องมากกว่าคนทั่วไป
แต่ความจริงนั้นผิดจากที่เราคาดมาก
โดยทั่วไปเวลาถามว่า "เซียน" คิดถูก หรือซื้อหุ้นแล้วได้กำไรสักกี่ครั้งใน 10 ครั้ง เราอาจจะคิดว่า คนที่เก่งที่สุดและได้กำไรมากที่สุดจะคิดถูก 8-9ครั้ง รองลงมากก็คง 5-6 ครั้ง ส่วน "เม่า" ก็คงคิดถูกแค่ 1-2ครั้งก็เป็นไปได้
ทั้งหมดนี้เป็นกรอบการคิดที่ผิด และไม่ตรงกับความเป็นจริงครับ
#Reading Club
The Art of Execution: How the world's best investors get it wrong and still make millions
Lee Freeman-Shor (2015)
(เล่มนี้ยังไม่มีแปลไทยครับ)
Freeman-Shor เป็นผู้จะการกองทุน และทำงานด้าน Wealth management ให้กับบริษัทและคนรวยหลายๆคนในอังกฤษ ซึ่งเค้าได้ทำการทดลองอย่างหนึ่งคือได้แบ่งเงินไปให้กับทั้งกองทุน Hedge fund หรือ Trader ชื่อดังทั่วโลก โดยใช้เงินจริงๆหลายล้าน
กำหนดให้เลือกลงทุนได้เฉพาะหุ้น หรือการลงทุนเพียง 10 อย่างที่คิดว่าดีที่สุด และวัดผลการลงทุนทุกครั้งออกมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ตอบคำถามเรื่องความเชื่อในการเลือกหุ้นข้างบนได้ชัดเจน
ในกลุ่มนักลงทุนระดับสุดยอดที่ได้รับเงินไปบริหาร Freeman-Shor ได้พบว่ามีทั้งกลุ่มที่ทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยม และก็ทำได้แย่เช่นกัน และบางคนถึงขั้นเสียหายอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์กลับได้พบว่า...
สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ที่การเลือกหุ้นถูกตัวหรือผิดตัวเลย แต่เป็นที่การ "ตัดสินใจลงมือ" หรือ "การบริหาร position" ที่แต่ละคนเลือกต่างหาก หลายกรณีนักลงทุนสามารถเลือกหุ้นผิด 7 ใน 10 ครั้ง แต่ทำกำไรมหาศาล ซึ่งเค้าพบว่าตรงนี้ต่างหากคือ สิ่งที่สำคัญ
การตัดสินใจที่ว่า หมายถึง การเลือกจะทำอะไรกับการลงทุนที่ "ได้กำไร" และ "กำลังขาดทุน" อยู่ครับ
นักลงทุนที่ทำกำไรได้ในระยะยาวมีการตัดสินใจที่ต่างกันชัดเจนกับนักลงทุนที่ขาดทุน เวลาเจอกับเวลาที่ซื้อหุ้นแล้วกำไร หรือ ซืื้อแล้วขาดทุนอยู่
เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Let profit run, cut loss ใช่มั้ยครับ แบบนั้นอาจจะฟังดูธรรมดา แต่หนังสือเล่มนี้เจาะเข้าไปถึงเบื้องหลัง และแนวคิดที่ว่าทำไมบางคนทำได้ และทำไม่ได้ และไม่ใช่แค่เฉพาะนักเก็งกำไรด้วย หลักการนี้กับนักลงทุนระยะยาวก็เหมือนกัน
นักลงทุนจากตัวอย่างเวลาเจอกับหุ้นที่กำลังขาดทุน และกำไรอยู่จะตอบสนองคล้ายๆกันเป็น 5 แบบคือ
-------- เวลาถือหุ้นขาดทุนอยู่ --------
เวลาถือหุ้นที่ขาดทุนอยู่เรามีเพียง 3 ทางเลือกเท่านั้นคือ
ถือ - ขาย - ซื้อเพิ่ม
เบื้องหลังการกระทำง่ายเหล่านี้สร้างผลลัพธ์การลงทุนแตกต่างกันมากครับ
1. กลุ่มกระต่าย หรือ Rabbit ที่ให้ชื่อแบบนี้ก็เพราะกลุ่มนี้จะชอบขุดหลุมฝังตัวเองให้ลึกขึ้นไปอีกเวลาเจอกับสถานการณ์แย่ๆ เป็นกลุ่มที่ทำกำไรน้อยที่สุด จนถึงเสียหายหนัก
สิ่งที่กลุ่มกระต่ายมักทำไม่ใช่ การถัวหุ้นที่ขาดทุนแบบนี้เราได้ยินกับว่า "คนแพ้ถัวขาลง" แต่เป็นแนวความคิดที่ไม่ยอมทำอะไรกับหุ้นนั้นๆมากกว่า หรือก็คือ "ถือ" เฉยๆครับ
เวลาที่เราชอบหุ้นที่ซื้อมาราคา 10 บาท แล้วหุ้นตกไป 8 บาท เราควรจะชอบมันมากขึ้นและน่าจะอยากซื้อเพิ่มใช้มั้ยครับ แต่เอาเข้าจริงๆแล้วมีคนที่ทำได้น้อยมาก เพราะอะไร
1. เราไม่ได้แน่ใจแต่แรกเวลาซื้อ
2. เราไม่มีเงินเหลือให้ซื้อแล้ว
3. และที่รุนแรงที่สุดคือ เราไม่ได้คิดแผนอะไรเลย
กระต่ายมักจะกลัวที่จะ "ผิด" หรือ เลือกหุ้นผิดตัว ทำให้เวลาหุ้นตกและมีข่าวแย่ๆก็ไม่ได้วิเคราะห์ใหม่ว่ามันจริงหรือไม่ บางครั้งอาจจะโทรหาผู้บริหาร หรือใครก็ตามเพื่อถามว่า "บริษัทยังดีอยู่มั้ย" เพื่อความสบายใจ แต่ก็ไม่ได้คิดจริงๆว่า เราอาจจะพลาดอะไรไปหรือไม่
คนเหล่านี้มักลงเอยด้วยการทนถือหุ้นที่ขาดทุนต่อไป และส่วนใหญ่กลับไม่กล้าจะซื้อเพิ่มด้วยเช่นกัน ที่เป็นแบบนี้คือ loss aversion อย่างชัดเจน คือ
"จริงๆไม่ได้ชอบจนขนาดจะกล้าซื้อเพิ่ม แต่ไม่กล้าขายเพราะกลัวมันเด้ง"
ลงเอยด้วยการไม่ทำอะไรเลย และสูญเสียทั้งโอกาสทางด้านเงินทุน และเวลาลงทุน
เวลาที่เราถือหุ้นที่ขาดทุนนั้นถ้าเราไม่ซื้อเพิ่มเลยการขาดทุนจะกลับมาทำกำไรได้นั้นเมื่อ
ขาดทุน 10% ต้องกำไร 11%
ขาดทุน 20% ต้องกำไร 25%
ขาดทุน 50% ต้องกำไร 100%
ขาดทุน 75% ต้องกำไร 300%
ขาดทุน 90% ต้องกำไร 900%
ลองนึกภาพว่าเราไม่กล้าขายหุ้นที่ขาดทุน 50% เพราะหวังจะให้มันกลับมาเท่าทุน คือต้องได้กำไร 100% จากราคาตรงนั้น
ทำไมหุ้นแย่ๆที่ตกไปครั้งนึงจะกลับมากำไรเด้งนึง ทั้งๆที่มีหุ้นที่ดีกว่าอีกเต็มไปหมด
ทำไมเชื่อว่าหุ้นแย่ๆตัวนั้นจะทำกำไรมากกว่าหุ้นอื่นเป็นคำถามที่ดีครับ
Freeman บอกว่า ถ้าเราพบว่า อยากถือหุ้นตัวนั้นต่อแต่ไม่กล้าซื้อเพิ่มแล้ว ขายทิ้งจะดีกว่า และเค้าก็กระตุ้นนักลงทุนของเค้าที่ถือหุ้นขาดทุนให้ซื้อเพิ่มเสมอถ้ายังชอบหุ้นนั้น สุดท้ายกระต่ายกลับไม่เคยซื้อเพิ่มและแพ้ต่อไป
(ส่วนตัวผมมองว่าการถือหุ้นที่ขาดทุนไม่ได้แปลว่า เราคิดแบบกระต่ายเสมอไป แต่มันอยู่ที่แนวคิดมากกว่าว่ามองการขาดทุนนั้นยังไง)
2. กลุ่มนักฆ่า หรือ Assassin ที่เรียกแบบนี้เพราะว่าพวกเค้า "ฆ่า" หรือตัดขาดทุนหุ้นที่ขาดทุนอย่างเป็นปกติ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วกลุ่มนี้จะเป็น Hedge fund หรือ Trader
สิ่งที่กลุ่มนี้มองเรื่องปกติคือ การขายหุ้นที่ขาดทุนไปถึงจุดหนึ่งที่กำหนดไว้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
ถามว่าแนวความคิดแบบนี้แตกต่างกับกระต่ายยังไง?
1. ก็คือการเลือกจะถือหุ้นที่ลงมาแล้ว 33% เราต้องได้กำไรจากจุดนั้นถึง 50% กว่าจะกลับไปเท่าทุนได้ ซึ่งในจำนวนการลงทุนที่ผู้เขียนได้ศึกษาจากผู้จัดการทั้งหมดที่เค้าได้ให้ลงทุนมีเพียงแค่ 11% ของการลงทุนทั้งหมดเท่านั้นที่กำไรได้มากกว่า 50%
ดังนั้นการที่เราปล่อยให้หุ้นเราตกไปเกินถึงจุดนี้หรือเกินกว่าจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะหวังให้การลงทุนที่แพ้ก้อนนั้น เหนือกว่าหุ้นผู้ชนะตัวอื่นๆ
2. จบที่ -20% การตัดขาดทุนที่จุดนี้แตกต่างกันมากเพราะเราต้องการกำไร 25% เท่านั้นในการกลับเท่าทุน ซึ่งโอกาสทำกำไร 25% นั้นมากกว่า 50% หลายเท่า
3. การทนถือการลงทุนที่ขาดทุนนั้นทำให้เสียโอกาสทั้งต้นทุนเงินที่อาจจะไปลงทุนหุ้นที่ดีกว่า และเสียเวลาการลงทุน
อีกเรื่องคือ มุมมองในการยอมรับความผิดพลาดแน่นอนว่า การขาดหุ้นที่ขาดทุนมันเจ็บปวดและยิ่งถ้าขายแล้วหุ้นขึ้นไปก็ยิ่งตอกย้ำว่า เราคิดผิดเต็มๆ
แต่การยอมรับความผิดพลาดนี้แหละครับที่ทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกัน....
กลุ่มกระต่ายไม่แม้แต่จะยอมรับผิด แต่ก็ไม่ได้มั่นใจขนาดจะกล้าซื้อ หรือลงทุนเพิ่มไปอีก
กลุ่มนักฆ่ามองว่าตังเองผิดและยอมรับโดยการออกจากการลงทุนนั้นมาก่อน และแน่นอนว่า กลุ่มนี้สามารถกลับไปซื้อหุ้นเดิมที่ราคาสูงกว่าที่เค้าขายได้อย่างไม่กลัวโดนติถ้ามันกลับมาดีแล้วจริง
แน่นอนแค่ Cut loss ธรรมดาไม่ได้แสดงความเป็นนักฆ่าเสมอไป บางครั้งการที่ Cut เร็วเกินก็ทำให้เสียโอกาสจากความผันผวนเล็กๆ ทำให้เสียโอกาสได้หุ้นผู้ชนะดังนั้น จุดยอมตัดขาดทุนก็สำคัญโดยส่วนมากในหนังสือเสนอที่ขาดทุน 15-20% ครับ
3. กลุ่มนักล่า หรือ Hunter เพราะกลุ่มนี้เป็นเหมือนผู้ล่าที่มั่นคงตามล่าเหยื่อที่อ่อนแรง และโอกาสชนะของเค้าก็มากขึ้นเรื่อยๆ ใช่ครับ คนกลุ่มนี้ซื้อหุ้นที่ขาดทุนเพิ่ม ยิ่งลงยิ่งซื้อเพิ่ม เพราะมองว่าโอกาสชนะสูงขึ้นเรื่อยๆ เค้าซื้ออย่างมีเหตุผลไม่ปิดพอร์ตทิ้ง ไม่ดูเฉยๆ ไม่ถือทน แต่วิเคราะห์และซื้อเพราะมั่นใจ กลุ่มนี้ส่วนมากคือ Value Investor นั่นเองครับ
ทำไมมีบางคนเลือกหุ้นผิดคือ ซื้อที่ราคา 10 บาท แต่ผ่านไป 2 ปี หุ้นยังไม่ไปไหนหรือลงมาที่ 9.5 บาท แต่ยังทำกำไรได้ นั่นก็เพราะคนกลุ่มนักล่านี้ไล่ซื้อหุ้นเพิ่มทุกครั้งเมื่อราคาลดลง ต่างกันกับนักฆ่าที่ Cut Loss เมิื่อขาดทุน 20% นักล่าซื้อหุ้นเพิ่มที่จุดนี้และไม่ใช่แค่นั้นยังซื้อเพิ่มมากอีกเมื่อราคาลง การเฉลี่ยต้นทุนนี้ทำให้หลายๆครั้ง ทำกำไรได้แม้จะเลือกหุ้นผิดตัว...
ที่ทำแบบนี้ได้เป็นเพราะแนวคิดที่ "พร้อม" จะรับว่าหุ้นที่ตนเองซื้ออาจจะลง และเราอาจจะซื้อผิดจังหวะ ทำให้นักล่าไม่ได้ซื้อหุ้นรวดเดียวทั้งหมด แต่มีไม้ 2 ไม้ 3 เผื่อไว้เสมอซึ่งทำให้สามารถทำให้การเลือกที่ผิดในตอนแรกกลายเป็นถูกได้นั้นเอง
บทสรุปของเวลาที่ขาดทุน
ผู้เขียนแบ่งนักลงทุนเป็น 3 กลุ่มตามการกระทำที่ตัดสินใจเวลาถือหุ้นที่ขาดทุน ซึ่งเค้าตีความออกมาผ่านแนวคิดเบื้องหลัง คือ การยอมรับว่าตัวเองผิดได้ และมีแผนไว้สำหรับตอนที่ผิดหรือไม่
----- กระต่าย-----
มักไม่ได้ยอมรับว่าตัวเองคิดผิด ทำให้ไม่ค่อยจะมีแผนไว้สำหรับตอนที่ผิด ส่งผลให้เวลาเจอหุ้นขาดทุนจะทำได้แค่ "ถือ" แม้บางครั้งการถือหุ้นที่พื้นฐานไม่เปลี่ยนอาจจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่กับการขาดทุนระดับ 30% ขึ้นไปโดนไม่มีแผนที่ทำอะไรเลยนั้น ทำให้ถึงหุ้นจะกลับขึ้นไปก็มักไม่ได้ทำกำไรได้ และถ้าหุ้นลงต่ออีกก็ยิ่งเสียหายหนัก
-----นักฆ่า-----
ยอมรับว่าตัวเองผิดได้เสมอ และมีแผนที่ชัดเจนแล้วคือ เมื่อผิดถึงจุดหนึ่งต้องขายการลงทุนนั้นทันที การมีแผนที่แน่นอนมั่นคง ทำให้กลุ่มนี้ไม่เจ็บตัวหนัก และมักจะกลับมาได้เสมอหลังจากที่เจอกับการขาดทุนไป เพราะถึงขายและหุ้นเด้งกลับเค้าก็เสียหายไม่หนัก และหาการลงทุนอื่นได้ ถ้าหุ้นลงไปต่อเค้าก็ได้หยุดความเสียหายไว้แล้ว
-----นักล่า-----
ยิ่งกว่ายอมรับว่าตัวเองอาจจะผิด แต่เตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าตัวเองจะผิด และมีแผนเพื่อจะซื้อเพิ่ม กลุ่มนี้จะไม่ลงหมดหน้าตัก และมีไม้อื่นๆไว้ถัวเสมอ ทำให้ถ้าจุดที่หุ้นลงมากลายเป็นโอกาสแทนและได้ทำตามแผนที่วางไว้
ความแตกต่างคือ เรื่องการยอมรับว่ามีโอกาสผิด และมีแผนเวลาผิดนั่นเองครับ
คราวนี้มาลองดูแนวคิดเบื้องหลังการถือหุ้นที่กำไรบ้างครับ
-------- เวลาถือหุ้นที่กำไรอยู่ --------
1.กลุ่มนักฉกชิง หรือ Raider คนเหล่านี้เป็นเหมือนนักล่าสมบัติที่เข้าไปแค่หยิบเหรียญออกมาจากปากถ้า โดยไม่ได้เข้าถึงห้องมหาสมบัติ พวกเค้าจะเลือกเก็บกำไรเล็กๆน้อยๆตลอดดีกว่า ไม่ได้อะไรเลย แต่นั้นกลับเป็นกำไรที่แน่นอนที่ไม่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี
ทำไมการขายเร็วหรือทำกำไรเล็กๆน้อยๆถึงไม่ดี
1. เพราะการทำกำไรที่ละน้อยหมายความว่าเราต้องถูกหลายครั้ง แต่ตามที่ข้อมูลแสดงออกมาว่าในการลงทุนของระดับสุดยอดกองทุนยังมีอัตราเลือกหุ้นที่กำไรได้เพียง 49% จากที่เลือกมาทั้งหมด หมายความว่าการหวังพึ่งจำนวนครั้งที่ถูกอาจจะไม่เหมาะ
2. การขายเร็วทำให้กลายเป็นเปิดโอกาสในกำไรขาขึ้นน้อย ซึ่งจริงๆแล้วกลุ่มนี้มักจะเป็นคนเดียวกับ "กระต่าย" ยิ่งทำให้ "เวลากำไรได้น้อย เวลาขาดทุนเสียมาก"
3. หุ้นผู้ชนะเป็นของหายาก และควรค่าแก่การเก็บรักษา นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนมากนั้น กำไรมักมาจากกำไรหุ้นไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า เค้าเลือกมันออกมาได้แต่แรก หลายต่อหลายครั้ง คนเหล่านี้ค่อยๆขายผู้แพ้ออก และซื้อผู้ชนะเพิ่มเรื่อยๆจนกลายเป็นพอร์ตใหญ่มากกว่า
ส่วนผสมของนักฉก กับ กระต่าย ทำให้โอกาสเป็นผู้แพ้ยิ่งสูงขึ้นครับ
2. กลุ่มนักชิม หรือ Connoisseurs คนเหล่านี้เหมือนคนที่ลิ้มรสชาติของความสำเร็จ และผู้ชนะที่ตัวเองได้รับมา พวกเค้าประเมินความเป็นไปได้ และความแข็งแกร่งของผู้ชนะอย่างแน่วแน่เสมอ พวกเค้าต้องการจะชนะมากๆ และรู้ว่าผู้ชนะนั้นหายาก แต่เมื่อเจอแล้วพวกเค้าจะค่อยๆเพิ่มสัดส่วน และเดินทางไปกับผู้ชนะอย่างยาวนาน
หลายครั้งกลุ้มนี้ถือหุ้นตัวเดียวมากถึง 25% ของพอร์ตผ่านการค่อยๆสะสม
นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ได้พบอีกอย่างคือ ความยากในการอดทนถือ เพราะระหว่างทาง เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะเจอเหตุการณ์ที่กำไรเราลดลง เช่น กำไร 50% ลงมาเหลือ 30% หลายคนพบว่า "การขาดทุนกำไร" เจ็บปวดยิ่งกว่าการขาดทุนจริงเลยเสียอีก
ทำให้คนเหล่านี้มักจะมีการขาดทำกำไรส่วนน้อยๆออกระหว่างทางเสมอ ทำให้สามารถจะรักษาจิตใจไม่ให้หวั่นไหวในการถือผู้ชนะ
เช่น ในหนังสือมีตัวอย่างคนที่ถือ Kbank ด้วยครับ
โดยนักชิมคนนี้ซื้อ Kbank ที่ราคา 42 บาท ตอน 20 มิถุนายน 2008 และขายออกตอน 1 พฤจิกายน 2010 ที่ 102 บาท ซึ่งถ้าไม่มีการขายเลยเค้าจะได้กำไรถึง 143% แต่มีการขายระหว่างทางทำให้เฉลี่ยขายได้ที่ 72 บาทซึ่งก็ยังเป็นกำไรที่ 79% อยู่ดีการยอมขายน้อยๆเรื่อยๆนี้ก็เป็นทางที่ดีในการรักษาการลงทุนไว้ได้ครับ
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ กลุ่มนักชิมนักกว่าค่าเฉลี่ยอีกคือ เลือกหุ้นที่กำไรได้แค่ 3 ใน 10 ตัว
แต่กลับเป็นคนที่ทำกำไรได้มากที่สุดในกลุ่มทั้งหมดครับ
เนื่องจากในหนังสือเล่มนี้ทำการทดลองโดยในผู้จัดการกองทุน เลือกหุ้นลงทุนเพียง 10 ตัวในแต่ละช่วงเวลา เพื่อต้องการจะเลือกไอเดียที่ดีที่สุดของแต่ละคนออกมา ทำให้สำหรับบางคนที่ในกลยุทธ์อย่าง Asset Allocation, Short-Selling หรือการเทรด Option และอื่นๆไม่สามารถเล่นในเกมของตัวเองได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาในหนังสืออาจจะแทนได้แค่แนวทางการลงทุนแคบๆ และนอกจากนั้นเองผมก็คิดว่ามันก็บอกยากที่จะบอกว่าใครคิดถูกหรือผิดง่ายๆแค่ 5 แบบ
***ซึ่งตรงนี้ทำให้หนังสือไม่ได้มีน้ำหนักมากขนาดนั้น
แต่ก็ตามชื่อหนังสือครับ เฉพาะเรื่องของการ "ลงมือ" ทำสามารถทำให้เราเลือกหุ้น 10 ตัวถูกแค่ 3 ตัวแต่กำไรมหาศาลได้ และการลงรายละเอียดการ Cut loss , let profit run ถือว่าทำได้ดี
-------- บทสรุปคือ --------
1. ระดับมืออาชีพเลือกหุ้นยังมีโอกาสได้หุ้นที่กำไรเพียง 49% และระดับมือสมัครเล่นยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้นการหวัง Hit rate สูงๆอาจจะไม่ใช่ทางที่ดี
2. ไอเดียดีๆที่เริ่มชนะไม่กี่อย่างจะเป็นกำไรส่วนใหญ่ของคนที่สำเร็จตามกฏ 80/20 ดังนั้นต้องมีผู้ชนะเป็นสัดส่วนที่มาก
3. Let Profit Run, not loss
4. เวลาแพ้ต้องคิดแผนไว้เสมอ จะขายหรือจะซื้อ ไม่แนะนำให้ ถือทน โดยไม่มีแผนสำรอง
5. อย่าไปติดกับของหุ้นที่ไม่มี สภาพคล่อง ไม่มีอะไรเจ็บปวดไปมากกว่า "รู้ว่าจะต้องทำอะไร แต่ทำไม่ได้"
โฆษณา