Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน - Thaibizchina.com
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ส่องเทรน Plant-based Food ในจีน เนื้อสัตว์ที่ “ไม่ใช่เนื้อสัตว์”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสรักโลก รักสุขภาพ นับวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดมีกระแส “Plant-base Food” อาจเป็นอะไรที่ฟังดูแปลกใหม่ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเราคุ้นเคยกันดี อาทิ โปรตีนเกษตรซึ่งได้รับความนิยม มานานในกลุ่มผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) ปัจจุบัน นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ทำให้ผลิตภัณฑ์มังสวิรัติมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งรสชาติ กลิ่น และสีสัน ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพืชโดยมีรสชาติ
และรสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ปัจจุบันถูกเรียกว่า “Plant-based Food” ซึ่งได้เป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก
1
สภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้ชาวจีนมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) เช่น Plant-based Food โดยวันนี้ ศูนย์ BIC กว่างโจว จะพาทุกท่านขึ้นขบวน Plant-based Food ของจีน และมองหาโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
1
รู้จัก Plant-based Food
Plant-based Food คือ อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ทำจากพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ เป็นต้น โดย Plant-based Food ได้รับการพัฒนารสชาติ กลิ่นและสีให้เหมือนเนื้อสัตว์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบ เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ เนย ชีส และไอศกรีมที่ทำจากพืช เป็นต้น
ทำไม Plant-based Food
1. ความกังวลด้านสุขภาพ (Health concern) จากผลการวิจัยการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง พบว่าการบริโภคเนื้อวัวและเนื้อหมูส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็ง ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย
2. การเติบโตของกลุ่ม Flexitarian กลุ่ม Flexitarian คือ กลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น กล่าวคือ กลุ่มมังสวิรัติที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราว ดังนั้น การเติบโตของกลุ่ม Flexitarian ทำให้ตลาด Plant-based Food เติบโตไปพร้อมกันด้วย
3. กระแสรักสิ่งแวดล้อม และการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) บริษัท Arizton เผยข้อมูลการทำปศุสัตว์ ระบุ พื้นฟาร์มปศุสัตว์คิดเป็นร้อยละ 77 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดทั่วโลก โดยปศุสัตว์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 20-50 แต่กลับให้ผลผลิตที่เป็นอาหารมนุษย์ได้เพียงร้อยละ 17 นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ต้องการให้สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และมีสุขภาพที่ดี
4. การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาด้านข้อมูล การเงิน เศรษฐกิจ และความมั่นคงเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร “ฮีม” (Heme) เป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่พบได้ในอาหารทั่วไป และพบมากในเนื้อสัตว์ ในอุตสาหกรรม Plant-based Food นิยมใช้ฮีมเพื่อทำให้อาหารมีกลิ่นและรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ฮีมยังอุดมไปด้วยโปรตีนและไม่มีสารเร่งฮอร์โมนหรือสารยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย
5. ความกังวลจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ภาวะคลาดแคลนอาหารในช่วง Covid-19 ทำให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการใช้ Plant-based Food มาทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น นอกจากนี้ การกักตุนอาหารในช่วงล็อคดาวน์กอปรกับ การหยุดกิจการของโรงฆ่าสัตว์ยิ่งส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์
1
6. ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) โดยภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกอาจสูงถึง 9,700 ล้าน นั่นหมายความว่า ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ก็อาจเพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านตันจากเดิม 570 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า อีกทั้ง ในบางประเทศไม่ได้มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม Plant-based Food จึงอาจเป็นคำตอบในอนาคต
กระแส Plant-based Food ในจีน
ระหว่างปี ค.ศ. 2015 – 2020 ตลาดมังสวิรัติในจีนเติบโตร้อยละ 17.2 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุด ในโลก Plant-based Food ยังกลายเป็นอาหารที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วไป โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรม Plant-based Food ในจีนจะมีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025 นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence เปิดเผยว่า การบริโภค Plant-based Food จะช่วยให้จีนรับมือกับปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์ในอนาคตได้ และการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนที่มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 65 ภายในปี ค.ศ. 2050
อนาคตตลาด Plant-based Food ในจีน
ปัจจุบัน Plant-based Food ในจีนยังเป็นอาหารทางเลือกเฉพาะกลุ่ม (Niche) ซึ่งมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ทำให้ Plant-based Food ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ (Mass market) อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจอาหาร ในจีนโดยเฉพาะธุรกิจอาหารจากต่างประเทศยังหันมาใช้ Plant-based Food เพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น นักเก็ตไก่มังสวิรัติของ KFC เบอร์เกอร์ Impossible Whopper ของ Burger King Beyond Meat ของ Starbucks เนื้อหมู OmniFoods ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหารใน McDonalds เป็นต้น
รัฐบาลจีนเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การสนับสนุน อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมฟินเทค และยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงเริ่มสนับสนุนอุตสาหกรรม Plant-based Food โดยการมอบเงินอุดหนุน และลดหย่อนภาษี ซึ่งจะดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่ให้หันมาสนใจธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่เป็น Plant-based สำหรับการประกอบอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงเรียน โดยในส่วนโรงเรียน รัฐบาลจีนได้มอบเงินสนับสนุนและกำหนดให้บางโรงเรียนเพิ่มเมนูอาหารที่ทำจาก Plant-based Protein เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภค สร้างความคุ้นเคยและตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
มณฑลกวางตุ้งกับธุรกิจ Plant-based Food
ปัจจุบัน McDonald ในจีนมีเมนูที่ใช้วัตถุดิบ Plant-based อาทิ แซนด์วิชสแปมมังสวิรัติ โดยเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ร้าน McDonald ในนครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น และนครเซี่ยงไฮ้ กว่า 280 แห่ง และร้าน McCafe 122 แห่ง ได้เริ่มวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจาก Plant-based นอกจากนี้ ร้านอาหารมังสวิรัติในนครกว่างโจวต่างเพิ่มเมนู Plant-based เช่น ร้าน DaFo Vegetarian ซึ่งเป็นร้านอาหารบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติ โดยมีเมนูที่ได้รับความนิยม อาทิ Veggie Pork ซึ่งเป็นเนื้อกระทะร้อนที่เนื้อทำจากเห็ดและถั่ว ร้าน Hóng Shàn SùShí ซึ่งเป็นร้านอาหารกวางตุ้งที่เป็นมังสวิรัติ ราคาประหยัด โดยราคาจานละ 10 – 15 หยวน และร้าน GoVegan ซึ่งเป็นร้านมังสวิรัติที่ชาวกว่างโจวยกให้เป็นร้านอาหารมังสวิรัติที่ดีที่สุด โดยมีเมนูที่ได้รับความนิยม เช่น เมนูสลัดสด ห่อหมกยัดไส้ ขนมหวานรสช็อกโกแลต ไอศกรีมข้าวโอ๊ตและผงโรยอาหาร
ผู้ประกอบการไทยกับไอเดียธุรกิจ
ปัจจุบันกระแส Plant-based Food ได้รับความนิยมในไทยเช่นกัน โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์นำเข้าของ Beyond Meat, Harvest Gourmet (Nestle), Ripple หรืออย่างแบรนด์ของคนไทยเองที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรไทยอย่าง More Meat, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, Vfoods เป็นต้น กระแส Plant-based Foodอาจจะเป็น ส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพอีกด้วย
อัตราการเติบโตของกระแส Plant-based Food มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อม ๆ กับกระแสรักสุขภาพ ผู้ที่เข้าสู่ตลาดการแข่งขันก่อนย่อมได้เปรียบ วันนี้ศูนย์ BIC จึงอยากแบ่งปันไอเดียธุรกิจในพื้นที่กับผู้ประกอบการไทย
1. ธุรกิจร้านอาหารคลีน และร้านอาหารทั่วไป ก็สามารถนำเสนอเมนู Plant-based Food โดยใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้โดนใจลูกค้า
2. ธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมทาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถใช้ Plant-based Food มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ตลอดจนการผลิตอาหารสำเร็จรูปแบบพร้อมทานที่ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เน้นสะดวก รวดเร็ว แต่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ
3. ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ (Processed Meat) เนื่องจากบริษัทเหล่านี้อยู่ในตลาดอาหารในกลุ่มโปรตีนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่
อุปสรรคที่ท้าทายสำหรับธุรกิจ Plant-based Food คือการปรับปรุงรสชาติและรสสัมผัส ถึงแม้ว่า ผลิตภัณฑ์ Plant-based food จะให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงก็ตามแต่หากมีรสชาติที่ไม่ถูกใจ ผู้บริโภคก็อาจไม่เลือกรับประทาน ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุดจะเป็นผู้ชนะในตลาด Plant-based Food นี้อย่างแน่นอน
จัดทำโดย :วิภูพัฒน์ ธีร์ธนะกาญจน์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
แหล่งที่มาของข้อมูล :
www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-08/beyond-burgers-china-s-plant-based-protein-market-maturing-fast
www.ecowatch.com/china-vegan-meat-consumption-2651008321.html
www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-08/beyond-burgers-china-s-plant-based-protein-market-maturing-fast
www.theguardian.com/world/2021/mar/09/chinas-appetite-for-meat-fades-as-vegan-revolution-takes-hold
www.ox.ac.uk/news/2018-10-12-balanced-plant-based-diets-improve-our-health-and-health-planet
www.cnet.com/health/nutrition/why-is-the-vegan-diet-so-popular/
www.ourworldindata.org/global-land-for-agriculture
www.krungthai.com/th/financial-partner/economy-resources/business-digest
www.thebeet.com/mcdonalds-adds-its-first-vegan-options-to-the-menu-in-china/
www.vegconomist.com/environment/study-switch-to-plant-based-diets-is-most-important-way-to-fight-climate-change/
www.foodandwine.com/news/clean-lab-grown-meat-plant-based-burger
www.theveganvisa.com/2019/08/29/top-10-vegan-eats-in-guangzhou/
ที่มาภาพ :
https://integrisok.com/resources/on-your-health/2020/october/are-plant-based-meats-healthier-than-regular-meat
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนในจีนได้ทาง
www.thaibizchina.com
ไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจ สมัครรับ e-newsletters (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทาง
https://thaibizchina.com/about-us/newsletter/
#ThaiBizChina
#เพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจไทยในจีน
11 บันทึก
8
2
13
11
8
2
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย