16 ก.ย. 2021 เวลา 12:23 • ท่องเที่ยว
เที่ยวชมวัดเจ็ดยอด วัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก
เครดิตภาพ: Dr. TC
การมาเที่ยวเชียงใหม่ของคณะเรา เมื่อปลายปีที่แล้ว 2563 นี้ นอกจากจะเป็นการพักผ่อนแล้ว เราได้มากราบสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัดเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ หลายวัด วัดแรกที่อยากจะกล่าวถึง คือ วัดเจ็ดยอด
เมื่อเราไปถึงวัดนี้ ต้องบอกว่าวัดนี้มีบรรยากาศร่มรื่น พื้นที่กว้างขวาง และเหมือนเราเข้าไปในบรรยากาศกรุงเก่าหลายร้อยปี ผู้เขียนรู้สึกสบายใจ มีความสุข สงบ อย่างบอกไม่ถูก เรามารู้จักประวัติและความสำคัญของวัดเจ็ดยอดกันเลยค่ะ
เครดิตภาพ: Dr. TC
ประวัติและความสำคัญของวัดเจ็ดยอด
วัดเจ็ดยอด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ (เดิมชื่อวัดวัดโพธารามมหาวิหาร) ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจ็ดยอด เป็นอารามที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1998 พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เลียนแบบมหาโพธิวิหาร ประเทศอินเดีย
โดยโปรดให้หมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง เมื่อสถาปนาอารามสำเร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชโปรดให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตตมปัญญา มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้
ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับธรรมบรรยายจากสำนักพระภิกษุสีหล เรื่อง อานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์ต้นเดิม ที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกา เอามาปลูกขึ้นไว้ในอารามป่าแดงหลวง เชิงดอยสุเทพ นำมาปลุกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่
เหตุที่หน่อมหาโพธิ์ปลูกในอารามแห่งนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม”
เครดิตภาพ: Dr. TC
พระเจดีย์เจ็ดยอด หรือมหาเจดีย์พุทธคยา เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในเป็นมหาวิหาร (อุโมงค์) มีพระพุทธรูปปางสิงห์หนึ่งประดิษฐานเป็นพระประธาน
 
พระเจดีย์เจ็ดยอดองค์นี้ เชื่อกันว่าถ่ายทอดมาจากเจดีย์มหาโพธิวิหารพุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 โดยจำลองสัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุติสุข แห่งละ 7 วัน ก่อนการเผยแผ่ศาสนา ได้แก่ โพธิบัลลังก์ (เจดีย์เจ็ดยอดในปัจจุบัน) อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรม รัตนฆรเดีย์ ราชายตนเจดีย์ อชปาลนืโครธ และมณฑปสระมุจลินท์
 
เมื่อ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้
ใช้เวลาปีหนึ่งจึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการรวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ กว่า ๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
วัดเจ็ดยอด ได้กลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอาศัยแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2319 หัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นล้านนาประสบกับภัยสงครามทั่วไปหมด
ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีกำลังพอเพียงที่จะรักษาเมือง พระภิกษุสามเณรและพลเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ตามหัวเมืองอื่น ๆ หมด
ต่อมาสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2339) ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองเชียงใหม่ก็ได้กลับตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และกลับมาฟื้นฟูบ้านเมืองและปฎิสังขรณ์อารามต่างๆทั่วเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งวัดเจ็ดยอดแห่งนี้ด้วย
โบราณสถานของวัดนี้มีความสำคัญต่อเนื่องด้วยประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และมีคุณค่าในทางศิลปกรรมประเภทพุทธศิลป์ในสมัยล้านนาที่น่าสนใจได้แก่
ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ขนบธรรมเนียมการสร้างอารามในอาณาจักรล้านนาแต่โบราณย่อมสร้างซุ้มประตูโขงเป็นช่องทางขนาดใหญ่สำหรับเข้าออกไว้ที่ด้านหน้าของวัด
เครดิตภาพ: Flickr
ซุ้มประตูโขงของวัดเจ็ดยอด ก่อด้วยอิฐถือปูน ช่องประตูตอนบนสร้างเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัวซุ้มขนาบช่องประตูทำอย่างเสาย่อมุมทั้งสองข้าง
หลังช่องประตูโขงขึ้นไปเป็นเครื่องยอดตามแบบขนบนิยมในศิลปสมัยล้านนา ปัจจุบันเครื่องยอดส่วนที่อยู่บนหลังซุ้มได้พังไปหมดแล้ว
ศิลปกรรมของซุ้มประตูโขงที่น่าสนใจคือ ลวดลายปูนปั้น ประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้ม กับลวดลายปูนปั้นเป็นกาบประดับเชิงเสาและปลายเสาย่อมุมประจำสองข้างซุ้ม
เครดิตภาพ: Flickr
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช
เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 พระยอดเชียงรายราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน โปรดให้สร้างจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ขึ้นในวัดนี้เพื่อเป็นสถานที่ฌาปนสถานถวายพระเพลิงพระศพของพระดัยกาธิราชแล้วโปรดให้สร้างพระสถูปใหญ่เพื่อบรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระเข้าติโลกราชไว้ภายในบริเวณวัดสถูปนี้ก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุมมีซุ้มคูหาเป็นจตุรมุข หลังคาทรงบัวกลม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นสถูปทรงระฆังกลม ซุ้มคูหาด้านทิศตะวันออกฝังเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฎิมากรปูนปั้นมารวิชัยหนึ่งองค์
วัดเจ็ดยอดจึงดำรงความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งรวมศิลปกรรมชั้นเยี่ยมที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาคู่เมืองเชียงใหม่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและอนุรักษ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2517- 2527 และครั้งที่ 3 พ.ศ. 2545-2547
วัดเจ็ดยอด วัดสำคัญเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ มีโบราณสถานต่างๆศิลปะสมัยชียงแสนซึ่งสวยงาม หาชมได้ยาก ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมอย่างมิรู้ลืม
ท่านผู้อ่าน อย่าลืมไปสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ ชมความสวยงามของวัดเจ็ดยอด เมื่อได้มาเยือนเชึยงใหม่กันนะคะ
อ้างอิง:
โฆษณา