15 ก.ย. 2021 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
“ลงโทษ” หรือ “ให้รางวัล” อะไรสร้างแรงจูงใจได้ดีกว่า?
เป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าระหว่างการลงโทษและการให้รางวัล วิธีไหนเป็นวิธีที่ดีกว่าในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนทำสิ่งต่างๆ
ลงโทษ หรือ ให้รางวัล อะไรสร้างแรงจูงใจได้ดีกว่า?
จากการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายที่เชื่อในการให้รางวัลและฝ่ายที่เชื่อว่าการลงโทษได้ผลมากกว่า ก็ได้นำเสนอแง่มุมและเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดของตัวเองออกมา ซึ่งก็มีแง่มุมที่น่าสนใจหลากหลาย
ด้วยเหตุนี้ ในบทความนี้ทาง Bnomics จะขอนำเรื่องราวของการสร้างแรงจูงใจ ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจของเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของการลงโทษและการให้รางวัล มาเสนอให้ผู้อ่านทุกท่านกันครับ
📌 การหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่นำมาซึ่งการกลัวการถูกลงโทษ
ต้องขอเกริ่นก่อนว่า การสร้างแรงจูงใจตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลหรือการลงโทษ ถ้าทำในขนาดเท่ากัน (เช่น การให้เงิน 100 บาท หรือ การปรับเงิน 100 บาท) ย่อมสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนในการทำสิ่งต่างๆ เท่ากัน แต่เมื่อมองผ่านมุมของ “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” แล้วนั้น แนวคิดข้างต้นกลับไม่ถูกต้อง
แนวคิดที่นำมาหักล้างความเชื่อข้างต้นของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็คือ แนวคิดที่ว่าผู้คนมักจะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย (Loss Aversion) ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่เป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่สาขาจิตวิทยามอบให้กับสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
หนึ่งในตัวอย่างเรื่องนี้ที่ถูกยกขึ้นมาโดยนักจิตวิทยาชื่อ พอล โรซิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “ความขยะแขยง” ก็คือ แมลงสาบเพียงตัวเดียวที่อยู่ในชาม ก็สามารถทำลายความน่ากินของเชอร์รี่ทั้งหมดที่เหลือที่อยู่ในชามได้ แต่ตรงกันข้ามกัน หากมีชามที่ไปด้วยแมลงสาบแต่มีเชอร์รี่อยู่หนึ่งลูก เชอร์รี่หนึ่งลูกนี้แทบจะไม่มีผลใดๆ ที่จะทำให้แมลงสาบในชามมีความน่าขยะแขยงน้อยลง
ตัวอย่างข้างต้นอาจจะสรุปออกมาเป็นข้อความสั้นๆ ได้ว่า “ความชั่วร้ายแข็งแกร่งกว่าความดี (Bad is stronger than Good)” ซึ่งแนวคิดนี้เองก็มีอิทธิพลต่อความคิดของนักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่สรุปว่า การลงโทษเป็นวิธีที่ดีกว่าในการสร้างแรงจูงใจให้คนทำสิ่งต่างๆ
📌 เป็นครูฝึกต้องเล่นบทโหด
ศาสตราจารย์ ดาเนียล คาฮ์นะแมน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรางวัลโนเบล เคยเล่าไว้ในอัตชีวประวัติของตัวเองว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเข้าไปบรรยายให้กับครูฝึกการบินในหัวข้อที่ว่า “การชื่นชมมีประสิทธิภาพมากกว่าการลงโทษในการสอนให้เกิดการเรียนรู้”
อย่างไรก็ตาม หลังจากบรรยายเสร็จ ได้มีครูฝึกที่มากประสบการณ์คนหนึ่งยกมือขึ้นแล้วบอกว่า การชื่นชมที่ศาสตราจารย์พูดนั้นสามารถใช้ได้ดีกับนกเท่านั้น ในการสอนผู้คนจากประสบการณ์ของเขา การลงโทษและตะคอกใส่ผู้เรียนได้ผลที่ดีกว่ามากในการปรับเปลี่ยนให้คนที่โดนทำผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในรอบถัดๆ ไป
หรืออีกหนึ่งการทดลองที่น่าสนใจจาก Washington University in St. Louis คือ การทดลองให้นักศึกษามาจ้องว่าไฟกะพริบที่หน้าจอทางด้านซ้ายหรือด้านขวามากกว่ากัน โดยไฟที่กะพริบขึ้นมานั้นเกิดจากการสุ่มและโดยทั่วไปแล้วจำนวนครั้งที่ไฟจะกะพริบทั้งสองข้างก็จะเท่าๆ กัน ทำให้ยากที่จะตอบได้ถูกว่าไฟด้านไหนกะพริบขึ้นมามากกว่ากัน
แต่ส่วนที่น่าสนใจจริงๆ ของการทดลองนี้คือ ความแตกต่างของการสร้างแรงจูงใจมากกว่า เมื่อนักศึกษากลุ่มที่ “ถูกลงโทษเมื่อตอบผิด” มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการตอบแบบเดิมสูงมาก (เช่นถ้าตอบว่าไฟด้านซ้ายกะพริบมากกว่าแล้วผิด ครั้งต่อไปที่ทดลองก็จะตอบว่าขวา) เมื่อเทียบกับนักศึกษากลุ่มที่ “ได้รับรางวัลเมื่อตอบถูก” ที่ถึงแม้พวกเขาจะมีแนวโน้มตอบแบบเดิมหลังจากได้รางวัลสูงขึ้น (เช่น ถ้าตอนแรกตอบซ้ายแล้วถูกก็จะตอบซ้ายต่อ) แต่แนวโน้มนี้ก็ยังต่ำกว่าของคนที่หลีกเลี่ยงการตอบผิดในกลุ่มที่โดนลงโทษอยู่ดี
อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะเริ่มสรุปแล้วว่า การลงโทษต้องเป็นวิธีที่ดีกว่าในการสร้างแรงจูงใจอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่จะปักใจเชื่อเช่นนั้น อยากให้เราลองมาพิจารณาอีกแง่มุมของฝั่งที่เชื่อในการให้รางวัล
📌 ให้รางวัลก็สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมได้เหมือนกัน
แม้แนวคิดเรื่องของการหลีกเลี่ยงความสูญเสียของผู้คนจะมีอิทธิพลมากในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจของผู้คน แต่ก็ยังมีงานที่ออกมาสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจผ่านการให้รางวัลเช่นกัน หนึ่งในงานวิจัยด้านนี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลในนครนิวยอร์ค เกี่ยวกับการชักจูงให้บุคลากรทางการแพทย์ล้างมือมากขึ้น
การล้างมือถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะช่วยระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปทั่ว ที่ทางโรงพยาบาลก็ทั้งติดป้ายเตือน หรือแม้แต่ติดกล้องวงจรปิดไว้ทั่วทุกที่ล้างมือแล้ว (การกระทำเหล่านี้เหมือนเป็นการลงโทษหรือเตือนในผลลัพธ์ที่ไม่ดีกลายๆ ให้กับบุคลากร) แต่ผลที่ออกมากลับแสดงว่ามีบุคลากรทางการแพทย์เพียง 10% เท่านั้นที่ล้างมือก่อนหรือหลังเข้าห้องผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เมื่อมีการติดตั้งบอร์ดที่จะแสดงข้อความชื่นชมเมื่อบุคลากรมาล้างมือทันที เช่น คำพูดอย่าง Good Job ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าใหญ่มาก หลังจากผ่านไปแค่ 4 สัปดาห์ อัตราการล้างมือขึ้นไปถึงระดับ 90% และก็ได้ผลในทุกๆ แผนกของโรงพยาบาลด้วย
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ก็คือ เมื่อคนได้รับข้อความชมเชยจากเมื่อล้างมือแล้ว ก็เหมือนกับสมองได้รับรางวัลจากการทำสิ่งที่ดีนั่นเอง แต่ทำไมในกรณีนี้มันถึงได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า การติดป้ายเตือนว่าการไม่ล้างมือจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายอีกล่ะ? หนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับคำถามนี้คือ วิธีการคิดของสมอง
การได้รับรางวัลนั้น ได้ถูกประมวลโดยสมองให้ “เกิดความรู้สึกที่อยากจะทำ” แตกต่างจากการถูกลงโทษที่จะถูกประมวลผ่านสมองว่า “อย่าทำอย่างนั้น” ซึ่งหลายๆ ครั้ง การหลีกเลี่ยงจากการลงโทษหรือหลีกเลี่ยงจากผลร้ายที่จะเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการกระทำของการอยู่เฉยๆ แทน แม้ว่าการทำแบบนั้นจะไม่ทำพ้นจากอันตราย ยกตัวอย่างเช่น การที่อยู่หน้ารถยนต์ที่วิ่งเข้ามา แต่คนเรากลับช็อคและไม่ขยับเขยื้อนแทน ทั้งๆ ที่วิธีแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้หลีกเลี่ยงความสูญเสียได้
ในเรื่องของการล้างมือในโรงพยาบาล การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนผ่านการให้รางวัลจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมันเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้คน “ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” ไม่ใช่เป็นการบอกว่า “ให้เลิกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”
📌 ความยุติธรรมที่อ้างอิงจากสิ่งที่เคยได้รับ
อีกหนึ่งแง่มุมที่สำคัญที่อาจจะบอกว่าการให้รางวัลเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะในหลายๆ สถานการณ์นั้น การลงโทษเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้คนจะยึดติดอยู่กับสิ่งที่พวกเขาเคยได้รับ การไปนำสิ่งเหล่านั้นออกมา จะทำให้เขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม
มันมีหนึ่งในคำถามสมมติที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ ที่โจทย์คือ หากนายจ้าง จ้างนักบัญชีคนหนึ่ง เงินเดือน 9,000 ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดี แรงงานล้นตลาด ค่าจ้างของนักบัญชีทั่วไปลงมาเหลือ 7,000 บาท นายจ้างจึงจะลดค่าจ้างของนักบัญชีมาเหลือ 7,000 บาท คุณคิดว่าสมควรไหม
คำตอบส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่
แต่โจทย์ยังไปต่อ ต่อมานักบัญชีคนนี้ถูกไล่ออก นายจ้างจ้างนักบัญชีคนใหม่ด้วยเงิน 7,000 บาท ตามอัตราที่ตลาดทั่วไปให้ คุณคิดว่าทำได้ไหม?
คำตอบส่วนใหญ่ในข้อนี้กลับกลายเป็น ใช่
โจทย์นี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่ทำให้เราได้เห็นว่าการจะลดสิ่งใดที่ผู้คนเคยได้รับ อาจจะสร้างความไม่พอใจ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิมก็ได้ หากพิจารณาความสุขและบรรยากาศการทำงานด้วย
ดังนั้นการจะเลือกใช้การให้รางวัลหรือการลงโทษเพื่อสร้างแรงจูงใจ ก็ต้องพิจารณาสถานการณ์และความเหมาะสมในหลากหลายแง่มุม ในบางครั้งการให้รางวัลก็อาจจะเป็นทางที่ดีกว่า และในบางครั้งการลงโทษก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่าได้เช่นกัน
เรื่องนี้จึงนับเป็น “ศิลปขั้นสูงของการประยุกต์ใช้” ที่เราต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเราทำได้แล้ว เราจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง
ในวันนี้บทความเศรษฐศาสตร์นอกกรอบขอจบเพียงเท่านี้ สำหรับสัปดาห์หน้าจะมีเรื่องราวนอกกรอบใดมานำเสนอให้ทุกท่านอีกก็อย่าลืมติดตามกันด้วยครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Thinking, Fast and Slow by Daniel Kahneman

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา