15 ก.ย. 2021 เวลา 05:54 • คริปโทเคอร์เรนซี
DeFi = โลกของการเงิน ที่ไม่ต้องพึ่งธนาคาร
โลกของเรากำลังเปลี่ยนไป ทั้งการดำรงชีวิต และการใช้ชีวิต เงินก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงใหม่ แถมยังมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นในโลกออนไลน์ ที่เรารู้จักกันดี ในชื่อ สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency แต่สกุลเงินดิจิทัลก็ยังไม่สามารถมาแทนค่าเงินปกติในชีวิตประจำวันได้ เพราะความผันผวนของราคาที่สูงมากๆ ทำให้มันน่าสนใจ แต่จับต้องไม่ได้ แต่มันสามารถสะสมและเพิ่มมูลค่าได้ ทำให้สกุลเงินดิจิทัล เป็นที่ต้องการของคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลก และยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีของมันก็ได้ถูกต่อยอดเพิ่มไปอีกไปในหลายๆ วงการ เช่น Smart Contract หรือการระดมทุนแบบใหม่อย่าง ICO และล่าสุดเราก็ได้พบกับ Decentralized Finance (DeFi) ที่อาจจะมาพลิกโฉมโลกการเงินไปตลอดกาล มาดูกันว่า (DeFi) คืออะไร แล้วส่งผลกับชีวิตของเราอย่างไรบ้าง
Decentralized Finance (DeFi)
คือระบบการเงินรูปแบบใหม่ ที่ให้เราทำธุรกรรมทางการเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นการโอน จำนอง กู้ยืม การให้ดอกเบี้ย หรืออื่นๆ แบบที่ไม่ต้องมีตัวกลางอย่างสถาบันการเงินมารับรองแบบที่เราคุ้นชิน เช่นการจะโอนเงินจากไทยไปอเมริกาได้ในไม่กี่ชั่วโมงโดยที่ไม่ต้องไปธนาคารเลย หรือการกู้ยืมเงิน ก็เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินที่จะต้องอาศัยความเชื่อใจเป็นหลัก เช่นการจะให้ใครยืมเงินสักคน ก็ต้องมั่นใจและเชื่อใจคนๆนั้น ว่าจะคืนเงินให้เรา ธนาคารจึงเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างความเชื่อใจนี้ และแทนที่เราจะให้ใครก็ไม่รู้ยืมเงิน เรากลับเปลี่ยนมาเป็นการฝากเงินไว้กับธนาคารเอง แล้วธนาคารก็เอาเงินเราไปปล่อยกู้อีกที ซึ่งก็จะมีค่าดำเนินการ มีข้อบังคับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันออกไป
Decentralization System อย่าง DeFi จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านจัดการธุรกรรมทางการเงินด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น Smart Contract ที่อยู่บน Blockchain แทนการเชื่อมตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ ทุกคนมีส่วนช่วยกันดูแลและพัฒนา จนเราทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ไม่ต้องมีตัวกลางมาเพิ่มค่าใช้จ่ายและทำให้ธุรกรรมนั้นเร็วขึ้น
DeFi ได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายแบบ วันนี้เราจะลองมาดูเทคโนโลยี 3 รูปแบบหลัก ที่จะช่วยให้เราเข้าใจเทคโนโลยี DeFi ได้มากขึ้นกัน
1. เทคโนโลยีเพื่อการกู้ยืมเงิน DeFi Lending Borrowing ซึ่งผู้ทำธุรกรรมสามารถฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจะได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเรียกง่ายๆว่าดอกเบี้ยนั่นเอง
2. ปรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผันผวนน้อยลงด้วย Stablecoin สินทรัพย์ดิจิทัลเช่นบิทคอยน์นั้น มีความผันผวนสูงมากๆ จนยากที่จะนำมาใช้แทนเงินสดในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันจึงได้มีการใช้สินทรัพย์ที่มีความเสถียรกว่า เช่น ทองคำ หรือ เงินดอลลาร์ มารับรองมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เราเรียกกันว่า Stablecoin เช่น USDT ที่ทุกเหรียญมีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์
3. ระดมทุนบนโลกดิจิทัลด้วย Security Token Framework เป็นการเอาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หรือ หุ้น มาอยู่ในระบบดิจิทัล (Tokenize) แล้วมีหน่วยงานที่กำกับดูแลคอยตรวจสอบ ทำให้การระดมทุนทำได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย
DeFi กับ Ethereum
ด้วยความที่ DeFi เป็นระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง จึงจำเป็นต้องใช้ Smart Contract เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกรรมแบบอัตโนมัติ เช่น การจ่ายค่าธรรมเนียม หรือการสร้าง Token โดยระบบที่มักนำมาใช้ก็คือ Ethereum Blockchain เนื่องจากเข้าใจง่าย และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักพัฒนามากกว่าเหรียญอื่นๆ ทำให้ประมาณ 25-30% ของ DeFi นั้นวางอยู่บน Ethereum Blockchain
ดังนั้นแล้วเมื่อมีความนิยมในการใช้งาน DeFi มากขึ้น ตัว ETH เองก็ได้รับผลในเชิงบวกไปพร้อมกัน ด้วย Utility ที่จับต้องได้ ใช้งานได้จริง จะเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ มกราคม 2020 เป็นต้นมา ที่คนเริ่มสนใจ DeFi ราคาของ ETH ก็มีการปรับตัวขึ้นไปด้วย เรียกได้ว่าโดดเด่นมากกว่า BTC เสียอีกเพราะ Utility ของ Ethereum ชัดเจนมากกว่าจะเป็นแค่สินทรัพย์เงินเอาไว้ซื้อขายของเท่านั้น
มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียด้วย ข้อกังวลเกี่ยวกับ Decentralized Finance (DeFi)
เทคโนโลยี DeFi ยังใหม่ และมีความซับซ้อนอยู่มาก ทำให้คนทั่วไปยังทำความเข้าใจได้ยากอยู่ รวมไปถึงธุรกรรมทางการเงินบางอย่างที่ยังมีความเฉพาะตัวและซับซ้อน การลงทุนในเทคโนโลยีหรือเหรียญที่เกี่ยวข้องกับ DeFi นั้นจึงต้องผ่านการศึกษาหาข้อมูลอย่างลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน ไม่ต่างจากการลงทุนในเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญ คือราคาของเหรียญที่เกี่ยวข้องกับ DeFi นั้นได้มีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากในระยะเวลาไม่นาน ความผันผวนที่สูงหมายความว่าความเสี่ยงในการลงทุนจะสูงตามไปด้วย
สนับสนุนบทความนี้ด้วยการส่งเพชร 💎 ใน Blockdit ของเรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา