15 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
AOL-Time Warner: ดีลควบรวมกิจการสื่อที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์
นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่น้อย เมื่อเราได้ทราบว่า “หนึ่งในการควบรวมกิจการครั้งที่มูลค่ามากที่สุด” กับ “หนึ่งในการควบรวมกิจการครั้งที่ล้มเหลวมากที่สุด” กลับกลายเป็นการควบรวมกิจการครั้งเดียวกัน เมื่อสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในขณะนั้นอย่าง AOL และ Time Warner ได้ตกลงเข้ามาร่วมกันเป็นบริษัทใหม่ในนาม AOL Time Warner
AOL-Time Warner
อะไรคือ สิ่งที่ทำให้อภิมหาดีลมูลค่าแสนล้านดอลลาร์นี้กลายเป็นดีลสุดล้มเหลวในประวัติศาสตร์? และทำไมเรื่องราวการควบรวมกิจการครั้งนี้ถึงกลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการควบรวมกิจการต่อมาจนถึงปัจจุบัน? ติดตามได้ในบทความครับ
📌 วาดฝันบริษัทมูลค่าหลายแสนล้าน
ก่อนหน้าที่จะเกิดการควบรวมนั้น ทั้ง AOL และ Time Warner ถือเป็นบริษัทเนื้อหอม และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทั้งคู่ และที่สำคัญทั้งคู่กำลังมองหาโอกาสในการเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง
Time Warner เป็นเจ้าของสื่อ สิ่งพิมพ์ สตูดิโอภาพยนตร์ ที่แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่ภายใต้มากมาย ทั้ง ช่อง CNN HBO นิตยสาร Time และสตูดิโอ วอร์เนอร์ บราเธอ พิกเชอร์ ถือได้ว่าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม “สื่อแบบเก่า”
ส่วน AOL หรือ American Online เริ่มต้นเดิมทีเป็นบริษัทที่ผลิตเกม แต่ต่อมาหันมาทำธุรกิจการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์แทน ซึ่งก็ต้องเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล เมื่อสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากต่ำกว่า 200,000 คนในปี 1992 กลายเป็น 25 ล้านคนในปี 2000 ถือได้ว่าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม “สื่อแบบใหม่”
AOL จากหนังเรื่อง You've Got Mail (1998) นำแสดงโดย Tom Hanks และ Meg Ryan
ภาพก่อนการรวมตัวกันของทั้งคู่นั้น เริ่มแรกเหมือนจะหวานชื่นป็นคู่ตุนาหงัน เมื่อทาง AOL จะได้ช่องทางเคเบิลทีวีและเนื้อหาคุณภาพเข้ามาจากทาง Time Warner เพื่อขยายกิจการตัวเองออกไป ส่วนทาง Time Warner เองก็จะสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจของตัวเองไปสู่รูปแบบดิจิทัลได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ในปี 2001 ดีลการควบรวมกิจการมูลค่าสูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กว่า 182,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เกิดขึ้น ซึ่งตามที่ประเมินกันก่อนหน้านั้น การควบรวมครั้งนี้ควรจะทำให้เกิดเป็นบริษัทขนาดมหึมามูลค่ากว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นกลับตาลปัตร โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ “ฟองสบู่ดอทคอม (Dot Com Bubble)”
📌 ฟองสบู่ของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี
ในช่วงปี 2000 ได้เกิดเหตุกาณ์สำคัญในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตอย่างมาก เหตุการณ์นั้นก็คือ “ฟองสบู่ดอทคอม” ในตอนนั้นดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq ที่เป็นตัวสะท้อนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตนั้นได้ตกลงจากจุดพีคที่ 5,048.62 จุดตอนมีนาคมปี 2000 ไปเหลือ 1,139.90 จุด ตอนตุลาคมปี 2002 คิดเป็นการตกต่ำลงกว่า 76.81%
The Dot-Com Bubble
ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้มีบริษัทจำนวนมากต้องล้มหายตายจากไป บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีที่ยังเหลือรอดอยู่ก็ล้วนได้รับผลกระทบไปตามกันๆ และ AOL-Time Warner ก็ไม่สามารถหนีหางคลื่นของมันได้เช่นกัน โดยเฉพาะการที่ต้องสูญเสียรายได้จากค่าโฆษณาจากธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต คิดเป็นรายได้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่หายวับไปอย่างรวดเร็ว
1
เรื่องราวมันก็ยังสามารถเลวร้ายมากไปกว่านั้นอีก เมื่ออีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญอย่างการเป็นผู้บริการอินเทอร์เน็ตของ AOL ได้เกิดสั่นคลอนจากการเติบโตขึ้นของ “Broadband Internet”
📌 ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
เมื่อตอนเริ่มแรกที่เกิดการควบรวมกิจการระหว่าง AOL และ Time Warner นั้น คนอเมริกาครึ่งประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่มีเพียงแค่ 3% เท่านั้นที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบรนด์ Broadband internet) (อินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลที่แยกออกมาต่างหากจากโทรศัพท์บ้าน) แต่ AOL ที่ตอนนั้นเป็นผู้นำบริการอินเทอร์เน็ตแบบที่ต่อกับสายโทรศัพท์บ้าน (Dial-up Internet) กลับมีลูกค้าหลักหลายสิบล้าน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ความรวดเร็วและสะดวกสบายกว่าของอินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบรนด์ก็เข้ามาครองใจผู้ใช้งานได้มากกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการบริการด้านอีเมลที่เป็นอีกหนึ่งรายได้ของบริษัท ก็ถูกคู่แข่งอย่างทาง Google หรือ MSN ที่เป็นผู้ให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเข้ามาแย่งลูกค้าไป
4
เมื่อเจอทั้งอุปสรรคทั้งจากฟองสบู่และคู่แข่งจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ทำให้ AOL ขาดทุนอย่างมหาศาล โดยตัวเลขการขาดทุนในปี 2002 สูงถึง 98,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดทุนในรอบปีที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา (ใหญ่กว่า GDP ของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างพม่าที่อยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเสียอีก)
1
ขณะที่หลายฝ่ายโทษว่าความผิดทั้งหมดเป็นของ AOL เองที่ยังยึดติดอยู่กับเทคโนโลยีแบบเก่า ไม่ยอมปรับตัวไปสู่การเป็นผู้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เมื่อมองลึกลงไป เหตุผลนี้กลับไม่ใช่เหตุสำคัญอย่างเดียวที่ทำให้บริษัทตกต่ำ อีกปัจจัยสำคัญเบื้องหลังช่วงขาลงของ AOL นั้นคือ “การขาดแรงสนับสนุนจากทาง Time Warner ด้วย”
📌 ความขัดแย้งของวัฒนธรรมองค์กรและความเชื่อใจที่สูญสลายไปตอนฟองสบู่ดอทคอม
ตอนเริ่มแรกที่มีการควบรวมกิจการกันนั้นสัดส่วนการถือครองของบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาใกล้เคียงกันมาก คืออยู่ที่ AOL 55% และ Time Warner 45% ทำให้ในการตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ หากขาดการสนับสนุนจากอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่สามารถทำได้
ด้วยพื้นฐานวิธีการทำงานที่แตกต่างกันอย่างมาก (Time Warner เป็นบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมากที่มีความอนุรักษ์นิยม ต่างจาก AOL ที่เป็นบริษัทพนักงานไม่มาก ที่กล้าเสี่ยงมากกว่า) ประกอบกับเหตุการณ์ของ Dot Com Crisis ที่เกิดขึ้น ทำให้ทาง Time Warner เริ่มตั้งคำถามว่าโมเดลธุรกิจของ AOL มันจะใช้ได้จริงๆ หรือเปล่า พอสองเหตุผลข้างต้นมาประกอบกัน การทำงานระหว่าง AOL และ Time Warner ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินไปอย่างราบรื่น
ทางจอห์น มิลเลอร์ (Jon Miller) ที่เป็นอดีต CEO ของ AOL ในช่วงปี 2002-2006 ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อบริษัท YouTube ทั้งร่วมงานกับทาง Facebook หรือแม้แต่โอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนด้วย
1
Jon Miller อดีต CEO ของ AOL ในช่วงปี 2002-2006
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนั้นก็เป็นได้เพียงแค่โอกาสที่ไม่ได้เป็นจริง เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Time Warner แม้จะซื้อนวัตกรรมใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ครั้นจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของตัวเองก็ทำได้ยาก จากการถูกกลืนเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรสื่ออนุรักษ์นิยม สุดท้ายแล้วเรื่องราวของทั้งสองบริษัทก็ดำเนินมาถึงทางตัน
📌 การแยกทางในท้ายที่สุด
จุดจบของบริษัท AOL Time Warner นั้นเมื่อคู่รักที่เคยวาดฝันภาพไว้อย่างสวยงามก่อนแต่งงาน แต่สุดท้ายเมื่อไปต่อกันไม่ได้ ทั้งสองบริษัทจึงตัดสินใจแยกออกจากกันในปี 2009 และต่อมาในปี 2015 AOL ก็ถูกซื้อไปโดยบริษัท Verizon ในมูลค่า 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเมื่อครั้งที่พวกเขาเคยใช้เงินเพื่อซื้อ Time Warner กว่า 178,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คิดเป็นแค่ประมาณ 2% ของมูลค่าการควบรวมในอดีตเท่านั้น
ปี 2015 Verizon ตัดสินใจซื้อ AOL ด้วยมูลค่าต่ำกว่า ดีลควบรวมในอดีต AOL Time Warner มหาศาล
เรื่องราวของ AOL และ Time Warner ก็เลยกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่อยู่ในตำราการควบรวมกิจการแทบทุกเล่ม หากแต่ไม่ใช่บทเรียนในแง่ดี เป็นบทเรียนที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ทำต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการประเมินมูลค่าที่สูงเกินไปในช่วงฟองสบู่ ความแตกต่างกันของพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรที่ควบรวม และที่สำคัญที่สุด คือ การขาดวิสัยทัศน์ในการมองความเป็นไปในอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมแบบนี้
1
สำหรับพรุ่งนี้ทาง Bnomics จะนำบทเรียนการควบรวมกิจการที่ล้มเหลวใดมานำเสนอให้กับผู้อ่านทุกท่าน ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยครับ
#AOL #Time_Warner
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา