16 ก.ย. 2021 เวลา 05:21 • ปรัชญา
"จิต คือ พุทธะ"
" ... พระพุทธเจ้าทั้งปวง
และสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลย
นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง
นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย
จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้
เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย
มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง
และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ
ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่
และไม่มีการตั้งอยู่
ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือเก่า
ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก
ทั้งนี้ เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด
เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้
และ เหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด
จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาเราอยู่แท้ ๆ
แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น)
กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที
สิ่งนี้ เป็นเหมือนกับความว่าง
อันปราศจากขอบทุก ๆ ด้าน
ซึ่งไม่อาจจะหยั่ง หรือวัดได้
จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็น พุทธะ
ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย
เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย
ไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ เสีย
และเพราะเหตุนั้น
เขาจึงแสวงหาพุทธะภาวะจากภายนอก
การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง
ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ
การทำเช่นนั้น เท่ากับ
การใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ
และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต
แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย
เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเอง เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง
และหมดความกระวนกระวาย
เพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น
พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา
เพราะว่า จิต นี้คือ พุทธะ นั่นเอง
และ พุทธะ คือ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง
สิ่งๆ นี้ เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์
จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่
และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่
สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้ง ๖ ก็ดี
การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้าย ๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี
หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน
เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี
เหล่านี้นั้นจงคิดดูเถิด
เมื่อเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐาน
ในทุกกรณีอยู่แล้ว คือเป็น จิตหนึ่ง
หรือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว
เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไร
ให้แก่สิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั้น
ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ
ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ
เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป
และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน
ถ้าเราไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า
จิต นั้นคือ พุทธะ ก็ดี
และถ้าเรายัง ยึดมั่นถือมั่น ต่อรูปธรรมต่าง ๆ อยู่ก็ดี
ต่อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อยู่ก็ดี
และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ ก็ดี
แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่
และไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกับ ทาง ทางโน้นเสียแล้ว
จิตหนึ่ง นั่นแหละคือ พุทธะ
ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก
มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง
คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใด ๆ เลย
ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันต่าง ๆ นั้น
เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย
แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรม
ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก
พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น
ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น
การปฏิบัติปารมิตาทั้ง ๖
และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
อีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น
เป็นการปฏิบัติชนิดที่คืบหน้าทีละขั้น ๆ
แต่พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น
หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ เช่นนั้นไม่
เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และ ลืมตา
ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น
และ ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร
นี่แหละคือพุทธะที่แท้จริง
พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น
ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย
จิตเป็นเหมือนกับความว่าง
ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสน
และความไม่ดีต่าง ๆ
ดังจะเห็นได้ ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น
ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก
เพราะว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น
ย่อมให้ความสว่างทั่วพื้นโลก
ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น
และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง
ปรากฏการณ์ของความสว่าง และความมืด
ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น
ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง
จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออก
ซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใส และรู้แจ้งก็ดี
หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า
เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า
มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี
ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้
อันเป็นผลที่เกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น
จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด
ถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปป์นับไม่ถ้วน
ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม
มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้น
และไม่มีสิ่งใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้
เพราะ จิตนั้นเอง คือ พุทธะ
เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น
ไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิตนี้
พวกเราจะปิดบัง จิต นั้นเสีย
ด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง
พวกเราจะเที่ยวแสวงหา พุทธะ นอกตัวเราเอง
พวกเรายังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย
ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่าง ๆ ทำนองนั้น
ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย
และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้น
แต่อย่างใด
เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น
โดยภายในแล้วย่อมเหมือนกับไม้หรือก้อนหิน
คือภายในนั้นปราศจากการเคลื่อนไหว
และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง
กล่าวคือ ปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ
สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรม หรือฝ่ายรูปธรรม
มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง
และไม่อาจจะหายไปได้เลย
จิตนี้ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง
มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก
ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
และสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น
พวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเอง
ออกจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น
พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง
หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง
ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่มีหลักธรรมใด ๆ
จิตนั่นแหละคือหลักธรรม
ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต
จิตนั้น โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต
แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต
การที่จะกล่าวว่าจิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั่นแหละ
ย่อมหมายถึง สิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง
สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด
ขอจงเลิก ละ การคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น
เมื่อนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า
คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว
และ พฤติของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว
จิตนี้คือ พุทธโยนิ อันบริสุทธิ์
ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน
สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด
กระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี
พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี
ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้น
และไม่แตกต่างกันเลย
ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิด ๆ เท่านั้น
ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวง
ทุกชนิดไม่มีหยุด
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น
โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว
เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน
แม้แต่สักปรมาณูเดียว
สิ่งนั้นคือ ความว่าง
เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกแห่งสงบเงียบ
และไม่มีอะไรเจือปน
มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ
และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง
จงเข้าไปสู่สิ่งสิ่งนี้ได้ลึกซึ้ง
โดยการลืมตาต่อสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง
สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานี้แหละ คือสิ่ง สิ่งนั้น
ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้น
และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว
ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีก
จิตคือพุทธะ (สิ่งสูงสุด)
มันย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด
นับแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย
เป็นสิ่งที่สุดในเบื้องสูง
ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด
ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่าง ๆ
เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ
สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่ง
มันย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด
และทุก ๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พุทธะ
อยู่ตลอดเวลา
ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจ
ในจิตของเราเองได้สำเร็จ
แล้วค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้
ด้วยความเข้าใจอันนี้เท่านั้น
ก็จะเป็นที่แน่นอนว่า
ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นที่จะต้องแสวงหา
แม้แต่อย่างใดเลย ... "
.
บางตอนจาก จิตคือพุทธะ
โดย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
" ... ขั้นผลของการปฏิบัติ หลวงปู่สอนถึง
สภาวะของจิตที่หลุดพ้นแล้ว ซึ่งท่านเรียกว่า “จิตหนึ่ง”
ในคำสอนเรื่อง “จิตคือพุทธะ”
โดยท่านยืมถ้อยคำอันเป็นสมมติบัญญัติของท่านฮวงโป
(ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุแปลเป็นภาษาไทย) มาใช้
เพราะท่านเห็นว่าถูกต้อง
กับสิ่งที่ท่านเข้าใจจากการปฏิบัติ
คำสอนเรื่องนี้ทำให้บางท่านสับสน
เพราะไม่ทราบว่าท่านฮวงโปกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ
กลับพยายามจะฝึกจิตหรือปรุงแต่งจิต
ให้มีลักษณะเหมือนจิตหนึ่ง
เป็นการมุ่งทำผลโดยไม่สนใจทำเหตุ
ปฏิเสธการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา
เพราะคิดว่า จิตนั้นดีอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง
เพียงแค่ไม่ยึดถืออะไรเลยก็พอแล้ว
ทั้งที่ในความเป็นจริงจิตยังชุ่มโชกอยู่ด้วยอวิชชา
ตัณหา อุปาทาน กิเลส อาสวะ อนุสัยต่าง ๆ ตั้งมากมาย
ที่จะไม่ให้ยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ... "
- หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมฺชโช
" ... ดูกรอานนท์ ผู้มิได้ทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่
ยังเป็นปุถุชนหนาไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้
แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น
ไม่อาจทำได้เลย ... "
- บางตอนจากคิริมานนทสูตร
.
อ้างอิง :
แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (ฉบับเพิ่มเติม)
คิริมานนทสูตร - ตัดตอน ตอนที่ 15/40
ถือใจ-อาลัยสุข ปล่อยวางใจตัวเองไม่ได้
ทำอริยมรรคไม่ถึงที่สุด
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา