Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6
•
ติดตาม
16 ก.ย. 2021 เวลา 14:17 • ประวัติศาสตร์
คติเรื่อง “พระคเณศ” ในรัชกาลที่ ๖
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าผู้ศรัทธาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งในประเทศอินเดีย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระคเณศ เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๔ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ หรือเดือนภัทรบท ตามปฏิทินทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๐ ถึง ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔)
1
พิธีบูชาในเทศกาลคเณศจตุรถีของชุมชนชาวอินเดียในประเทศไทย ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)
สำหรับประเทศไทย พระคเณศเป็นที่เคารพบูชาในฐานะพระเทวกรรม ผู้เป็นครูเทพช้างผู้ใหญ่ และเทพผู้ขจัดอุปสรรค พร้อมทั้งประทานความสำเร็จ จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการยกย่องให้พระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ
ศีรษะพระคเณศ ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖ กรมโขนหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒
ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาเทววิทยา และภารตวิทยาอย่างลึกซึ้ง จึงมีพระบรมราชาธิบายถึงเรื่องราวของพระคเณศตามคัมภีร์ทางศาสนาได้อย่างละเอียด ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระเป็นเจ้าของพราหมณ์” ความว่า
“พระคเณศร์ ฤๅ วิฆเนศร์ เรียกว่าโอรสของพระอิศวรและพระอุมา (ปรรวตี) พราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าแห่งวิทยาการต่าง ๆ เรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศร์มีต่างๆ หลายอย่าง และเรื่องที่เล่าว่าเหตุไรเศียรจึ่งเป็นเศียรช้างก็มีต่างๆ เหมือนกัน นอกจากคเณศร์ เรียกว่า “คณปติ” (คณบดี) ซึ่งแปลความอย่างเดียวกันก็ได้ “วินัยกะ” (พินายของไทยเรา) ก็เรียก “เอกทันตะ” ก็เรียก เพราะมีงาเดียว เดิมมี ๒ งาบริบูรณ์ แต่ครั้งหนึ่งปรศุราม (รามสูร) ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาศ พระอิศวรบรรทมหลับอยู่ พระคเณศร์จึ่งห้ามมิให้เข้าไป ปรศุรามถือว่าเป็นคนโปรดจะเข้าไปให้ได้ เกิดวิวาทกันถึงรบกัน พระคเณศร์จับปรศุรามด้วยงวงปั่นขว้างไปจนปรศุรามสลบ ครั้นฟื้นขึ้นปรศุรามจึ่งจับขวานขว้างไป
พระคเณศร์เห็นขวานจำได้ว่าเป็นของพระอิศวรประทานจึงไม่ต่อสู้ แต่ก้มลงรับไว้ด้วยงาข้างหนึ่ง งานั้นก็สะบั้นไปทันใด ฝ่ายพระปรรวตีกริ้วปรศุราม กำลังจะทรงแช่ง ก็พอพระนารายน์ซึ่งเป็นที่เคารพแห่งปรศุรามแปลงเป็นกุมารมาวิงวอนขอโทษ พระปรรวตีจึ่งประทานโทษให้ (เรื่องนี้มาจากคัมภีร์พรหมาไววรรตะปุราณะ วิลสันแปล)
รูปพระคเณศร์ที่มักทำ มีเศียรเป็นศีร์ษะช้าง โดยมากมี ๔ กร แต่ ๖ กร ๘ กร ฤๅ ๒ กรก็ใช้ กายอ้วนใหญ่ หนูเป็นพาหนะ”
หน้าปกหนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
เรื่องราวของพระคเณศยังปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่อง ทั้งพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระคเณศโดยตรง ได้แก่ พระคเณศร์เสียงา หนึ่งในพระราชนิพนธ์บทละครเบิกโรง เรื่องดึกดำบรรพ์ กล่าวถึงตำนานการเสียงาของพระคเณศ และพระราชนิพนธ์บทเสภาสามัคคีเสวก ตอน กรีนิรมิต ที่กล่าวถึงพระคเณศในฐานะครูช้างผู้ใหญ่
การแสดงเบิกโรง ชุด พระคเณศเสียงา จากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ ยังทรงกล่าวถึงพระคเณศ ในบทไหว้ครู หรือบทขอพรพระเป็นเจ้า ตามขนบของคำประพันธ์ในตอนต้นพระราชนิพนธ์บางเรื่อง เช่น ลิลิตนารายณ์สิบปาง ความว่า
“อีกเชิญเทวราชเจ้า คชเกศ
ผู้ปราบพิฆนะภัย หมดถ้วน
ทรงนามพระคเณศ สิทธิ- บดีแฮ
สุดประเสริฐลักษณ์ล้วน เลิศดี
กวีใดตั้งจิต ประพนธ์
เคารพคเณศร ก่อนแล้ว
อาจแต่งดั่งกมล มุ่งมาตร์
จิตสว่างดังแก้ว ก่องตา
ข้าจึ่งขอพระเจ้า ศิวบุตร
ทรงช่วยเสริมปัญญา เถิดไท้
ยามแต่งเรื่องทรงครุฑ ทั้งสิบ ปางนา
จงสฤษดิ์ลิลิตได้ ดั่งจินต์ถ้วนเทอญ”
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวรรณคดีสโมสร สำหรับทำหน้าที่ส่งเสริมการประพันธ์ และคัดเลือกหนังสือดี ทั้งที่มีมาแต่โบราณ หรือที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ เพื่อรับพระราชทานรางวัล ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกร รูปพระคเณศร์ เป็นตราสำหรับวรรณคดีสโมสร โดยมีลักษณะตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้
แจ้งความกระทรวงมุรธาธร
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตำแหน่ง
ตามความในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร พระพุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๓ ว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรขึ้นใหม่องค์ ๑ ลายเป็นรูปพระคเณศร์ สำหรับวรรณคดีสโมสรนั้น
บัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วรรณคดีสโมสร ใช้พระราชลัญจกรองค์นี้ตามตำแหน่ง คือ ดวงพระราชลัญจกรรูปกลมศูนย์กลางกว้าง ๓ นิ้ว ๓ อนุกระเบียด (หรือ ๗ เซนติเมเตอร์) ลายเป็นรูปพระคเณศร์นั่งแท่นแวดล้อมด้วยลายกนก สรวมสังวาลนาค หัตถ์ขวาเบื้องบนถือวชิระ เบื้องล่างถืองา หัตถ์ซ้ายเบื้องบนถือบ่วงบาศ เบื้องล่างถือครอบน้ำ ตามพระราชกฤษฎีกานั้นสืบไป
กระทรวงมุรธาธร
แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๕๘
(ลงพระนาม) นเรศวรฤทธิ์
เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
พระราชลัญจกร รูปพระคเณศร์
การใช้รูปพระคเณศ เป็นตราวรรณคดีสโมสรนั้น สอดคล้องกับพระราชนิยมที่ทรงยกย่องให้พระคเณศ เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ และในเวลาต่อมา ได้เป็นต้นแบบของตรากรมศิลปากร ซึ่งใช้รูปพระคเณศเป็นตราของหน่วยงานเช่นกัน
ตราประจำกรมศิลปากร
จากพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพระคเณศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐๒ เซนติเมตร สูง ๑๕๖.๕ เซนติเมตร แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่เทวาลัยคเณศร์ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นเทพารักษ์ประจำภูมิสถานที่ตั้งพระราชวังแห่งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวย และทรงจับสายสูตรเปิดผ้าคลุมเทวรูปพระคเณศ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๑
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจับสายสูตรเปิดผ้าคลุมเทวรูปพระคเณศ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๑
เทวรูปพระคเณศสำริด
เทวาลัยคเณศร์ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
กล่าวได้ว่า ยุครัชกาลที่ ๖ เป็นปฐมสมัยแห่งความเฟื่องฟูของการบูชาพระคเณศ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการมาถึงปัจจุบัน สมดังความตอนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง มัทนะพาธา ที่ทรงกล่าวถึงพระคเณศด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์อันไพเราะดังนี้
เทวาลัยคเณศร์ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
"โอมบังคมพระคเณศะเทวะศิวะบุตร์
ฆ่าพิฆนะสิ้นสุด ประลัย
อ้างามกายะพระพรายประหนึ่งระวิอุทัย
ก้องโกญจนะนาทให้ สะหรรษ์
เปนเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธะวรรณ
วิทยาวิเศษสรร- พะสอน
ยามข้ากอบกรณีย์พิธีมะยะบวร
จงโปรดประทานพร ประสาท"
1 บันทึก
2
5
1
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย