29 ต.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ทวารวดี – ศรีวิชัย : การทบทวนในเรื่องความหมาย
บทความโดย : อ.ศรีศักร วัลลิโภดม
ที่แล้วมา คำว่า “ทวารวดี” กับ “ศรีวิชัย” คือชื่อของสมัยเวลาทางประวัติศาสตร์การเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณในช่วงเวลาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ โดยนักประวัติศาสตร์โบราณคดีฝรั่งและไทยกำหนดจากการเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของราชอาณาจักรสองแห่ง
ทวารวดีเป็นราชอาณาจักรในภาคกลางที่มีมาก่อนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ส่วนศรีวิชัยเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา นอกจากความเหลื่อมทางเวลาแล้วยังมีวัฒนธรรมทางศาสนาที่แตกต่างกัน โดยที่ทวารวดีเป็นรัฐที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท แต่ศรีวิชัยนับถือพุทธศาสนามหายาน
อาณาจักรทวารวดีนั้น คนส่วนใหญ่คือคนมอญเหมือนกับพวกที่อยู่ในเมืองมอญของพม่า ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในอาณาจักรศรีวิชัยเป็นคนมลายู ทั้งทวารวดีและศรีวิชัยในการรับรู้ของคนทั่วไปจึงเน้นอยู่ ๒ ประเด็นใหญ่ๆ คือเป็นอาณาจักรหรือรัฐที่มีศูนย์กลางแห่งอำนาจอยู่ที่เมืองหลวงอย่างหนึ่ง กับการเป็นสมัยเวลาทางวัฒนธรรมที่มีอาณาบริเวณกว้างไกลกว่าเขตแคว้นทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง
มาบัดนี้ มีการพบข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากกว่าแต่เดิม อีกทั้งมีการค้นคว้าอดีตในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการมากขึ้น จึงทำให้มีนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา และผู้รู้ในวิชาการด้านอื่นๆ ได้ศึกษาและตีความใหม่ๆ ขึ้น ที่มีลักษณะขัดแย้งกับแนวคิดและเนื้อหาเก่าๆ มากมาย ทำให้แลเห็นมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างไปจากเดิม
นักวิชาการรุ่นใหม่ส่วนมากไม่เห็นว่าทั้งทวารวดีและศรีวิชัยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่เรียกว่า “ราชอาณาจักร” แต่กลับมองว่าเป็นเครือข่ายของนครรัฐที่คล้ายๆ กันกับสหพันธรัฐมาเลเซียในปัจจุบัน ที่มีการกำหนดให้สุลต่านผู้ปกครองรัฐผลัดเปลี่ยนกันมาดำรงตำแหน่งราชาธิราชของสหพันธ์
ความคล้ายคลึงกันจึงอยู่ที่การเน้นความเป็นศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการกำหนดตำแหน่งของเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่นครกัวลาลัมเปอร์ก็ตาม
ข้าพเจ้าใคร่เรียกการรวมกลุ่มของนครรัฐแต่โบราณว่า “มณฑล” [Mandala] เพราะนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่มักมีความเห็นว่ามีลักษณะเป็นขอบเขตของจักรวาลตามคติทางศาสนาของอินเดีย คำว่ามณฑลจึงเป็นสิ่งที่นำมาใช้แทนคำว่าอาณาจักรในเชิงโครงสร้างที่หลวมๆ และเป็นนามธรรม คือไม่มีการกำหนดเขตแดนที่เด่นชัด และเน้นความเป็นศูนย์กลางอยู่ที่กษัตริย์ที่ได้รับเลือกให้เป็นพระจักรพรรดิราชหรือมหาราชา ซึ่งเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวบุคคล ถ้าหากสิ้นพระชนม์ลงแล้ว ไม่มีบุคคลผู้สืบทอดที่มีอำนาจและบารมีพอ ก็จะเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่กษัตริย์ในเครือข่ายของมณฑลซึ่งมีความสามารถและอำนาจบารมีเป็นที่ยอมรับ
เหตุนี้ตำแหน่งเมืองสำคัญอาจจะไม่กำหนดอยู่กับที่ตายตัวก็ได้ อาจย้ายไปยังนครรัฐอื่นที่ได้รับการส่งเสริมให้เหมาะสมกว่า ดังเช่นกลุ่มนครรัฐศรีวิชัย ซึ่งไม่ได้เป็นอาณาจักร หากเป็นเพียงสหพันธรัฐเมืองท่าที่มีเครือข่ายมากมาย ทั้งหมู่เกาะและคาบสมุทรมลายู ที่ในชั้นแรก เมืองสำคัญอาจอยู่ที่ปาเล็มบัง แต่ต่อมาก็อาจย้ายไปอยู่ที่ชวาและคาบสมุทรมลายูได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของกษัตริย์
พระมหากษัตริย์องค์ใดก็ตามที่เป็นมหาราชา หรือราชาธิราช หรือจักรพรรดิราชนั้น นอกจากจะมีบุคลิกภาพและความสามารถเฉพาะองค์เป็นพิเศษแล้ว ยังทรงมีเครือญาติที่เกิดจากการกินดองกับบรรดากษัตริย์ที่อยู่ในกลุ่มสหพันธรัฐเดียวกันสนับสนุน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เกิดจากการกินดอง หรือการแต่งงานระหว่างกันนี้ คือฐานอำนาจที่เป็นรูปธรรมสำคัญในการที่ทรงได้รับการยกย่องและยอมรับ
ทุกวันนี้ความคิดเรื่องอาณาจักรศรีวิชัยเป็นราชอาณาจักร หรือแม้แต่การเป็นจักรวรรดิก็เปลี่ยนไปแล้ว อาจจะเรียกว่า “สหพันธรัฐเมืองท่า” [Port polity] หรือมณฑลก็ได้ ซึ่งข้าพเจ้าก็คิดว่าเป็นมณฑลของคนมาลายูมากกว่าของคนสยาม เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นบ้านเมืองในหมู่เกาะและคาบสมุทร ส่วนพื้นที่ซึ่งต่อมาเรียกว่าสยามประเทศนั้นอยู่เหนือคาบสมุทรขึ้นมายังผืนแผ่นดินใหญ่ที่ร่วมสมัยเดียวกัน
แต่พื้นที่บนผืนแผ่นดินใหญ่เหนือคาบสมุทรมลายู ก็มีกลุ่มของนครรัฐที่มีเครือข่ายเป็นสหพันธ์เช่นเดียวกัน ที่บรรดานักวิชาการรุ่นเก่ากำหนดเรียกว่าเป็น “อาณาจักรทวารวดี” เพราะปรากฏชื่อที่จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถังเรียกเมืองสำคัญแห่งหนึ่งว่า โต–โล–โป–ตี ซึ่งตรงกับคำภาษาสันสกฤตจากจารึก อันเป็นหลักฐานจากภายในว่า “ทวารวดี” เลยทึกทักว่าบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรทวารวดีไป
ข้าพเจ้าเห็นว่าวิธีเช่นนี้เป็นการเลือกเอาเมืองสำคัญเมืองหนึ่งท่ามกลางเมืองสำคัญอีกหลายเมืองมากำหนดให้เป็นศูนย์กลางของรัฐรวมศูนย์ ซึ่งแท้จริงแล้วในจดหมายเหตุจีนได้กล่าวทั้งหมดว่า มีเมืองสำคัญอยู่ ๕ แห่ง คือเมืองศรีเกษตร ซึ่งอยู่ในดินแดนประเทศพม่า เมืองหลั่งยะสิว เมืองโตโลโปตี ในดินแดนประเทศไทย เมืองอิศานปุระ ในดินแดนเขมร และเมืองมหาจัมปาในดินแดนจาม ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม
เรือเดินสมุทรเลียบชายฝั่งแบบศรีวิชัย ที่มี trigger ไว้คอยช่วยพยุง  สลักไว้ ณ บูโรพุทโธ
บรรดาเมืองสำคัญทั้ง ๕ แห่งนี้ ตั้งอยู่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกเดียวกัน โดยเฉพาะเมืองหลั่งยะสิวกับโตโลโปตีที่อยู่ติดกัน แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งยุคอาณานิคมกลับกำหนดให้เมืองหลั่งยะสิวเป็นเมืองลังกาสุกะ ที่อยู่บนคาบสมุทรมลายูแทน เพื่อให้เมืองโตโลโปตีครอบคลุมพื้นที่ในภาคกลางของประเทศไทยแต่เพียงเมืองเดียว ทั้งนี้ก็คงเพื่อให้แลเห็นความเป็นศูนย์กลางของรัฐทวารวดี โดยสร้างความผิดพลาดในตำแหน่งเมืองสำคัญไว้อย่างไม่น่าเชื่อ ก็คือได้เลือกเมืองหลั่งยะสิวในจดหมายเหตุจีนที่ในเอกสารท้องถิ่นสมัยอยุธยาเรียก “นครชัยศรี” (นครปฐมโบราณ) เป็นเมืองทวารวดีแทน
เมืองทวารวดีตามชื่อเรียกในภาษาจีนว่าโตโลโปตีนั้น ตำแหน่งน่าจะอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรีมากกว่า เพราะเมืองละโว้หรือลพบุรีนี้ ในสมัยหลังลงมาได้มีเมืองอยุธยา หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” เกิดขึ้นมาแทนที่
ถ้าพิจารณาตามเนื้อผ้าในจดหมายเหตุจีน ข้าพเจ้าคิดว่าบรรดาเมืองสำคัญทั้ง ๕ เมืองนั้นล้วนเป็นกลุ่มนครรัฐที่เรียกว่ามณฑล ในภาคกลางของประเทศไทย มี ๒ มณฑล คือมณฑลนครชัยศรี กับมณฑลทวารวดี
มณฑลนครชัยศรีตั้งอยู่ซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ในขณะที่มณฑลทวารวดีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ในบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก
เมืองสำคัญของมณฑลทวารวดีอยู่ที่เมืองละโว้ เพราะมีการพบเหรียญเงินสมัยทวารวดีที่มีจารึก “ลวปุระ” ในขณะเดียวกัน ก็พบเหรียญเงินทั้งในพื้นที่มณฑลนครชัยศรีและมณฑลทวารวดีที่มีจารึกกล่าวถึง “บุญกุศลของพระราชาธิบดีแห่งศรีทวารวดี”
เหรียญเงินมีจารึกนี้พบครั้งแรกที่นครปฐมโบราณ (นครชัยศรี) เลยทำให้เกิดความสมจริงตามนักปราชญ์ฝรั่งที่กำหนดเมืองนครชัยศรี หรือนครปฐมโบราณว่าเป็นเมืองทวารวดี
เหรียญสมัยทวารวดีที่มีจารึก พระราชาแห่งศรีทวารวดี ที่ถูกนำไปประมูลขายใน ebay
แต่บัดนี้ เหรียญเงินที่กล่าวพระนามกษัตริย์แห่งศรีทวารวดีนั้นพบกระจายอยู่ทั่วไป จึงทำให้ข้าพเจ้าใคร่ตีความใหม่ว่า ชื่อทวารวดีนั้นมุ่งที่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุขของมณฑลเป็นสำคัญ ซึ่งก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับคำว่าศรีวิชัย ที่มุ่งที่พระเจ้ากรุงศรีวิชัย ที่พบในที่ต่างๆ ตามเกาะและคาบสมุทรมลายู
การพบจารึกที่กล่าวถึงชื่อเมืองละโว้ก็ดี หรือกล่าวถึง “บุญกุศลแห่งพระเจ้ากรุงทวารวดี” ก็ดี เป็นสิ่งที่ต้องนำมาตีความกันใหม่ ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่า มีความสัมพันธ์กันในเรื่องการแสดงเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์แห่งศรีทวารวดี ในฐานะทรงเป็นจักรพรรดิราชหรือมหาราชา ที่ทั้งมณฑลนครชัยศรีและมณฑลทวารวดียกย่อง ซึ่งทำให้ในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งสองมณฑลน่าจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
แต่การรวมตัวทางการเมืองอันเนื่องมาจากพระบารมีและกุศลแห่งองค์จักรพรรดิราชนั้นเป็นเฉพาะชั่วรัชกาล ไม่มีอะไรยั่งยืน ทั้งนี้ต้องมองไปถึงองค์ประกอบของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละมณฑลด้วย เพราะเมื่อมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นั้น แลเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว
มณฑลนครชัยศรีซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ทะเลกว่า มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจสังคมสูง เพราะมีคนหลายชาติพันธุ์ ทั้งทางโพ้นทะเลและดินแดนภายใน [Hinterland] เคลื่อนย้ายไปมา เกิดการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองใหม่ๆ จนแลเห็นพื้นที่และผู้คนในนามของดินแดนสยามและคนสยามขึ้น ทั้งบริเวณชายทะเลและดินแดนภายใน ขณะที่มณฑลละโว้หรือทวารวดีนั้น การเคลื่อนไหวน้อย และดำรงความเป็นรัฐเก่า บ้านเมืองเก่าอยู่ จึงเห็นเหตุให้คนจีนที่เดินทางเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บันทึกว่า มีกลุ่มบ้านเมืองอยู่ ๒ กลุ่ม คือเสียมหรือสยาม กับละโว้ และในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ทั้งสองรัฐนี้ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยมีพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์รวม
เมื่อนำข้อความจากจดหมายเหตุจีนไปเทียบเคียงกับหลักฐานจากภายใน โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนาพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็สอดคล้องกัน เพราะสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของละโว้ ทรงเป็นเขยของกษัตริย์สุพรรณภูมิในเขตสยาม เลยทำให้ทั้งสองรัฐและสองดินแดนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้นครอยุธยาที่สถาปนาขึ้นใหม่ โดยย้ายจากเมืองอโยธยาเดิมทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำป่าสักมาสร้างในพื้นที่ใหม่ที่ทำให้เป็นเกาะ และเป็นเมืองท่าที่เรือค้าขายนานาชาติจากโพ้นทะเลเข้ามาถึง
พระนครที่เป็นศูนย์รวมของทั้งสองดินแดน จึงมีนามใหม่อย่างเดิมว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ที่ยังคงความสำคัญของทวารวดีไว้ อย่างไรก็ตาม การรวมมณฑลทั้งสยามและละโว้มาเป็นหนึ่งเดียวครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นก็หาสมบูรณ์ไม่ เพราะสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว พระมหากษัตริย์ทางฝ่ายสยามหรือสุพรรณภูมิก็เข้ามามีอำนาจ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ก็สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายใต้ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีการปฏิรูประบบการปกครองที่สร้างอำนาจรวมศูนย์ให้แก่กรุงศรีอยุธยาในฐานะเป็นราชธานีของราชอาณาจักรสยามได้สำเร็จ ทำให้ดินแดนประเทศไทยทั้งหมดเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “สยามประเทศ” มาจนปัจจุบัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อนี้เป็น ประเทศไทย และคนไทยแทน
บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๐)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา