18 ก.ย. 2021 เวลา 14:13 • หนังสือ
Call me by your name นิยายจากการแอบอู้สู่เรื่องราวที่ตราตรึง
ในช่วงเวลาที่นิยาย ภาพยนตร์และซีรี่ย์ที่แสดงเรื่องราวความรักของ LGBTQ เริ่มเข้าสู่สื่อกระแสหลักและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ แอดเชื่อว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนรักภาพยนตร์ และนักอ่าน นั่นก็คือเรื่อง Call me by your name
แต่เชื่อหรือไม่ว่าภาพยนตร์และงานเขียนอันโด่งดังและตราตรึงอย่าง Call me by your name เกิดจากการแอบอู้ไปเขียนเพ้อฝันถึงการมีวิลล่าริมทะเลในอิตาลี โดยที่นักเขียนอย่างอันเดร อะซีแมนเองก็ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นนิยายเรื่องยาวได้เลย (และไม่น่าจะเป็นได้แม้แต่เรื่องสั้น เพราะเจ้าตัวแค่เขียนบ่นแก้เครียดเฉยๆ)
แล้วเรื่องที่เขียนเพ้อๆลงหน้ากระดาษในยามเช้าของเดือนเมษายน (ระหว่างอู้จากการเขียนนิยายอีกเรื่อง) มันกลายเป็นเรื่องราวโรแมนติกสุดตราตรึงท่ามกลางบรรยากาศฤดูร้อนแสนสดชื่นในอิตาลีไปได้ยังไงกันละนี่ มาดูไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
การแอบอู้สู่เรื่องราวที่ตราตรึง Call me by your name ของ อันเดร อะซีแมน
เรื่องราวของอังเดร อะซีแมน
อังเดร อะซีแมน เกิดที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิป เขาเป็นทั้งนักเขียนอัตชีวประวัติ นักเขียนบทความ และนักเขียนนิยาย โดยเขามักจะเขียนเรียงความและบทวิเคราะห์งานของ มาร์แซล พรุตส์ บ่อยๆ
(ใครอ่าน 1Q84 ของลุงมุราคามิน่าจะคุ้นๆชื่อนะคะ มาร์แซล พรุตส์ ก็คือเจ้าของงานเขียนหนังสือชุดยาวไว้อ่านแก้เบื่อของอาโอะมาเมะ นางเอกของเรานั่นเอง 555)
ในช่วงระหว่างที่อะซีแมนเติบโต ครอบครัวเขาย้ายที่อยู่จากอียิป (เนื่องจากกิจการครอบครัวถูกรัฐบาลยึดไปดำเนินกิจการต่อเอง) ไปยังอิตาลี สู่ฝรั่งเศส และเริ่มต้นตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐอเมริกาในที่สุด และทั้งหมดนั้นเกิดก่อนที่เขาจะอายุครบ 17 ปีเสียอีก อันเป็นประสบการณ์ตรงที่ทำให้งานเขียนของเขาดูมีชีวิตชีวา อาทิ Out of Egypt: A Memoir ในปี 1995
หลังจากมาอยู่ที่สหรัฐเขาเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ New York’s Lehman College ทำงานวนเวียนในวงการโบรกเกอร์และโฆษณาพักหนึ่ง ก่อนจะเรียนต่อจนจบระดับปริญญาเอก ด้านวรรณคดีเปรียบเทียบจาก Harvard และมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยควบตำแหน่งนักเขียน
จุดเริ่มต้นของ Call me by your name
ภาพที่ 1 ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Call me by your name
อย่างที่เราได้เกริ่นไปตอนต้น ในยามเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน ขณะที่อะซีแมนเองก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าสิ่งที่เขาควรทำ คือการเขียนต้นฉบับของนิยายที่มีกำหนดส่งเดือนธันวาคมปีนั้นให้มันคืบเคลื่อนไปข้างหน้าสักหน่อย
สิ่งที่เขาทำกลับเป็นการปล่อยให้ความคิดล่องลอย เขากล่าวว่าเขาไม่ใช่นักเขียนประเภทที่มั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขับเคลื่อนให้นักเขียนส่วนใหญ่จริงจังกับการทำงานของตัวเอง เขาออกจะเป็นคนไม่ค่อยหนักแน่นเด็ดขาดสักเท่าไหร่
หลายๆครั้ง ระหว่างการเขียนงานที่ดูจริงจังและใช้พลังสูง เขาชอบที่จะปล่อยจิตใจล่องลอยไปทำอะไรที่ผ่อนคลายและบันเทิงเสียมากกว่า (แอบอู้แหละ 555) วันนั้นเขาจึงนั่งคิดถึงวิลล่าหลังงาม มองออกไปเห็นวิวทะเลอันสวยงามของอิตาลี คิดถึงการนอนริมขอบสระจุ่มขาข้างหนึ่งลงไป พร้อมใส่หูฟังเปิดเพลงคลาสสิก ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว
ภาพที่ 2 ฉากนอนชิลริมสระจากภาพยนตร์เรื่อง Call me by your name
โดยปกติ เขามักจะเขียนถึงสิ่งที่นึกถึงลงไปในสมุดบันทึกเพียงไม่กี่ประโยค หรือไม่กี่ย่อหน้า ก่อนจะไปอาบน้ำ กินข้าวและเริ่มทำงาน
แต่วิลล่าที่อิตาลีนั่นกลับพาเขาย้อนไปถึงความทรงจำวัยเด็ก เขายกบ้านริมทะเลที่เขาเคยอยู่ในวัยเด็กที่อียิป พร้อมทั้งครอบครัวและเพื่อนในตอนนั้น มาอยู่ในบรรยากาศของวิลล่าริมทะเลที่อิตาลีในห้วงจินตนาการ แล้วหลังจากนั้นการเขียนอย่างลื่นไหลก็พาเขาเขียนยาวไปถึง 4 หน้ากระดาษเต็มๆ ก่อนจะลากยาวไปถึงการเขียนอันยาวนาน 3-4 เดือน สำเร็จออกมาเป็นเรื่องราวของ Oliver และ Elio ใน Call me by your name
ทำไมถึงเขียนเป็นเรื่องราวของชายรักชาย
หลายครั้ง หลังจากที่ผู้คนชมภาพยนตร์ หรืออ่านหนังสือเรื่องนี้จนจบ ก็มักจะมีคำถามว่า เอ~ คนเขียนเป็น LGBTQ หรือเปล่า?
คำตอบคือ อะซีแมน เป็นผู้ชายนี่แหละค่ะ มีภรรยาและลูกชาย 3 คน
แล้วทำไมเขียนเรื่องราวออกมาได้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก ความสับสน ความอาย ความว้าวุ่นได้เต็มเปี่ยมขนาดนั้น?
อะซีแมนมีความสนใจในการทดลองเขียนให้ตัวละครที่แตกต่างกันมามีปฏิสัมพันธ์กัน พร้อมกับสร้างภาพจำลองว่า ถ้าคนแบบนี้มาเจอกัน เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วตัวละครของเขาจะทำอย่างไรภายใต้บรรยากาศ และสถานการณ์แบบนี้
ในตอนแรกเขาคิดจะเขียนเป็นเรื่องราวความรักแบบชายหญิงนั่นแหละ แต่ด้วยความเป็นคนที่ชอบอะไรที่ไม่มีความชัดเจนจนเกินไป แต่ก็มีแรงดึงดูดที่ไม่อาจต้าน จึงกลายเป็น Oliver และ Elio
แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ เราจะเห็นว่า ความรักของ Oliver และ Elio ตั้งใจแสดงให้เห็นเพียงแรงผลักดัน ความสับสน และอับอายจากภายในใจและห้วงความคิดของพวกเขาเอง และไม่มีปัจจัยภายนอกมาขัดขวางวุ่นวายโดยสิ้นเชิง ซึ่งอะซีแมนได้บอกว่า เขาไม่ต้องการที่จะเขียนถึงปัญหาที่มักถูกหยิบยกมาคู่กับนิยายแนวนี้อย่างการถูกวิจารณ์จากสังคมภายนอก
เขาอยากโฟกัสที่ความคิด อารมณ์ และการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครทั้งสองมากกว่า อีกทั้งความอับอายของ Elio ก็ไม่ได้เกิดจากการคิดว่า Oliver เป็นผู้ชายเหมือนกัน แต่เป็นเพราะสับสนที่ตัวเองมีความต้องการต่อคนที่แทบไม่ค่อยคุย และเรียกไม่ได้ว่ารู้จักกันดี แต่กลับเปี่ยมสเน่ห์แบบ Oliver
เรื่องราวความรักที่มีแรงดึงดูดล้นเหลือ แต่ค่อยๆดำเนินอย่างอ้อยอิ่งเนิบช้า ท่ามกลางบรรยากาศฤดูร้อนสดใสเอื่อยเชื่อยในอิตาลี ล้อมรอบด้วยเพื่อนๆ ครอบครัว การผลิดอกออกผลของลูกพีช (แค่กๆ ขอดื่มน้ำแปป) และฉากจบที่ตราตรึง (แอดนั่งเหม่อไป 3 วันได้) คือสิ่งที่นำพารางวัล Lambda Literary Award for Men’s Fiction ปี 2008 และ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปี 2018
ถ้าใครมีเวลาว่าง และยังไม่เคยสัมผัสกับเรื่องนี้ ลองชมและอ่านได้นะคะ แบบละมุนๆแนะนำให้ชมภาพยนตร์ แบบแซ่บขึ้นมาหน่อยเชิญอ่านนิยายค่ะ
สำหรับวันนี้แอดขอลาด้วยคำว่า
Oliver…Elio… นะคะ ❤️ ถ้า Oliver…Elio…เราเหมือนกัน ฝากกดติดตามเป็นการให้กำลังใจกันด้วยนะคะ https://www.blockdit.com/thatpersoninthepast 🥰
โฆษณา