18 ก.ย. 2021 เวลา 05:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อวานนี้ (ศุกร์ที่ 17 กย 2021) Ginkgo Bioworks บริษัทสตาร์ทอัพชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ระดับตำนานของวงการได้เข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยมูลค่าประเมินของบริษัทที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพสายไบโอเทคที่มูลค่าสูงสุดตอนนี้
Ginkgo Bioworks เลือกใช้ codename ในตลาดหุ้นว่า “DNA” เป็น code เดียวกับที่ Genentech บริษัทไบโอเทคแห่งแรกของโลกเคยใช้เมื่อกว่า 40 ปีก่อน (ตอนนี้ Genentech โดน Roche ซื้อไปแล้ว)
Ginkgo Bioworks ประกาศตัวจะเข้ามาพลิกวงการไบโอเทคอีกครั้งสู่ยุคแห่ง synthetic biology ด้วยพันธกิจของบริษัทที่ว่า “Making biology easier to engineer”
Ginkgo Bioworks ขายอะไรกันแน่? มีความเป็นมายังไง? แล้วจะเปลี่ยนโลกด้วยการ “ทำชีววิทยาให้ง่ายต่อการวิศวกรรม” ได้จริงไหม? … เดี๋ยวพวกเราจะสรุปคร่าวๆให้ฟัง
เรื่องของ Ginkgo Bioworks เริ่มมาจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ตัวท็อปนามว่า Tom Knight ที่วันนึงเกิดสนใจเปลี่ยนมา “โปรเแกรมเซลล์” แบบที่เคยโปรแกรมเครื่องคอมพิวเตอร์
Tom Knight Jr (https://blog.igem.org/blog/2018/12/4/tom-knight)
Knight ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ที่ MIT มหาลัยใกล้บ้านตั้งแต่ยังอยู่ม.ต้น ลงคลาสเรียนบ้าง เขียนโปรแกรมบ้าง ไปฝังตัวอยู่แล็บ AI บ้าง จบมาก็ทำงานเป็นนักวิจัยอยู่แถวนั้นตั้งแต่หนุ่มจนแก่ สำหรับงานสายนี้แกจัดได้ว่าเป็นยอดฝีมือในวงการ เป็นคนสร้างฮาร์ดแวร์รุ่นแรกๆ ของ ARPANET จะเรียกว่าเป็นคนที่บุกเบิกอินเตอร์เน็ตเลยก็ได้
Tom Knight (คนซ้าย) ตอนปี 1987 กับ Lips Machine ที่สร้างขึ้นสำหรับงาน AI ยุคบุกเบิก (รูปจาก MIT Artificial Intelligence Laboratory.)
ทว่าในช่วงปี 1990 แกก็เริ่มหันมาสนใจชีววิทยาด้วยเหตุผลหลักๆ 2 เรื่อง
Knight ตระหนักถึงขีดจำกัดของ Moore’s Law ที่กล่าวไว้ว่าจำนวนของทรานซิสเตอร์ในแผงวงจรจะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณเมื่อเวลาผ่านไป เพราะความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแลกมาด้วยชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ปัญหาคือสุดท้ายแล้วชิ้นส่วนมันจะเล็กมากไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้วและเจอกับทางตัน (มันจะเอาอะตอมมาเรียงกันอยู่แล้ว)
Moore's Law ว่าด้วยการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของระบบคอมพิวเตอร์เมื่อดูจากจำนวน transistor ในแผงวงจร https://www.phonearena.com/news/Moores-Law-is-coming-to-an-end_id54127
Knight เลยเริ่มมองหาตัวกลางอื่นที่จะเอามาใช้ทำคำนวณและก้าวข้ามข้อจำกัดของซิลิคอนได้ และมองว่าสิ่งมีชีวิตก็มี biomolecule ที่ทำงานในระดับนาโนอยู่แล้วแถมยังประกอบร่าง ซ่อมแซม เพิ่มจำนวนได้เองอีก ก็เลยเป็น platform ที่น่าสนใจ
"The way silicon manufacturing works, you put things in place statistically, randomly. At this size, chances are you’re not going to be able to get things in the right place anymore. It was clear that we needed a different way of putting atoms in the right place. There is a technology for putting atoms where you want them–it’s called chemistry. You design a molecule, and that has the atoms where you want them. What’s the most sophisticated kind of chemistry? It’s biochemistry. I imagined that you could use bio-molecules like proteins that have the ability to self-assemble and crystallize in the range you needed.”
แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งมาจากหนังสือของ Morowitz นักชีวฟิสิกส์ที่ Yale ที่เสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะเข้าใจชีวิตแบบทะลุปรุโปร่งถ้าเราเลือกศึกษาสิ่งมีชีวิตที่มีความเรียบง่ายถึงระดับหนึ่ง และเราศึกษามันทุกอะตอม ทุกโมเลกุล เข้าใจจนเราสามารถออกแบบให้มันทำงานตามที่เราต้องการได้ แล้วลุงก็ตรัสรู้ว่าชีววิทยาที่ผ่านมามันเดินมาผิดทาง คนมัวแต่ไปตื่นเต้นกับความแปลก ซับซ้อน หรือข้อยกเว้นต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต เช่น ตื่นเต้นว่ามีสัตว์ที่สังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานได้เอง (จะแซะตัวเองทำไม) ในขณะที่วิศวกรจะพยายามทำทุกอย่างให้เรียบง่ายต่อการโปรแกรม และ ดัดแปลง
สิ่งเหล่านี้ทำให้ Knight เริ่มเรียนชีววิทยาจากศูนย์ในช่วงยุค 90s หันมาจับปิเปตทำงาน molecular biology ในห้องแล็บคอมพิวเตอร์ แล้วเขียน white paper เสนอว่าเราสามารถมองสิ่งมีชีวิตเป็นวงจรที่มียีนต่างๆ ทำหน้าที่เป็นสวิตซ์ให้เราสามารถโปรเกรมสิ่งมีชีวิตได้เหมือนคอมพิวเตอร์ ไอเดียนี้กลายเป็นรากฐานของ BioBricks ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานของชิ้นส่วนต่างๆ ในชีววิทยาให้แต่ละส่วนมาต่อกันได้เหมือนกับตัวต่อเลโก้จะได้ทำงานง่ายและเร็วขึ้น
คอนเซปต์การประกอบชิ้นส่วน DNA แบบ BioBricks
แต่เมื่อ Tom Knight ไปเล่าไอเดียเรื่องการ standardize เพื่อทำวิศวกรรมระบบทางชีววิทยาให้นักชีวะฟัง นักชีวะก็บอกว่า นายบ้าไปแล้ว ชีววิทยามันไม่มีกฎตายตัว (standard) Tom Knight เลยไปรวมหัวกับเพื่อนอาจารย์ที่ MIT (Drew Endy, Gerald Sussman, Randy Rettberg) คิดกันว่าเปล่าประโยชน์ที่จะไปโน้มน้าวให้คนพวกนี้เชื่อเรื่อง standard … อย่ากระนั้นเลย ทำไมเราไม่สร้างคลาสขึ้นมาแล้วสอนเด็กๆ รุ่นใหม่เรื่องนี้ดีกว่า
คลาสเรียนที่ว่าแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มแล้วให้คิดว่าจะทำวิศวกรรมอะไรเจ๋งๆ กับเซลล์ โดยมีเงื่อนไขว่าชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่ใช้งานจะต้องได้มาตรฐานการต่อชิ้นส่วน BioBricks ที่ Tom Knight กำหนดไว้ คลาสนี้เริ่มตอนปี 2003 ปีต่อๆ มาก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ มีมหาลัยอื่นๆ มาเข้าร่วมมากขึ้นๆ จนกลายการแข่งขันพันธุวิศวกรรมประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่า iGEM มีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมปีละหลายร้อยทีมหลายพันคนจากทั่วโลกในปัจจุบัน
ตัวอย่างงานพันธุวิศวกรรมสุดตีนของทีมนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วม iGEM
ลูกศิษย์ป.เอกของ Knight และ Endy สี่คน (Jason Kelly, Reshma Shetty, Austin Che, Barry Canton) ที่ร่วมบุกเบิก iGEM มาด้วยกันรุ่นแรกกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Ginkgo Bioworks ในปี 2008 แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้ใช้มาตรฐาน BioBricks แล้ว (เนื่องจากดีเอ็นเอสังเคราะห์ราคาถูกลงมาก และก็มีเทคนิคประกอบดีเอ็นเอแบบใหม่ๆ เข้ามาแทน) แต่แนวคิดอันหนึ่งที่ยังอยู่ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัทคือพวกเขาต้องการวางระบบการวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และถูกลงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าแนวทางการทำ synthetic biology ของ Ginkgo ต่างจากบริษัท biotechnology หรือ metabolic engineering ทั้งหมดในยุคก่อนหน้า ที่แค่นำหลักการ synthetic biology มาจับเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสารเป้าหมายเฉยๆ
ทีม iGEM จาก MIT ปี 2004
กลุ่มผู้ก่อตั้งของ Ginkgo Bioworks  (จากซ้ายไปขวา Resma, Barry, Jason, Austin  และ Tom) ในปัจจุบัน
ทีมผู่ก่อตั้ง Ginkgo เริ่มคุยๆ ไอเดียที่จะก่อตั้งบริษัทกันตั้งแต่สมัยปริญญาเอก โดยมีแรงบันดาลใจหลักมาจากความยากลำบากของงานพันธุวิศวกรรมในยุคนั้นที่กว่าจะตัดต่อดีเอ็นเอใส่เซลล์ได้แต่ละอันใช้เวลากันเป็นเดือน แถมหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้ผลตามที่คิดไว้อีก บางครั้งเซลล์ไม่ยอมโต ไม่ยอมสร้างโปรตีนให้ หรือโชคร้ายหน่อย ดีเอ็นเอที่ใส่เข้าไปก็ดันกลายพันธุ์ซะงั้น
ในขณะที่บริษัท biotech หน้าใหม่มักจะก่อตั้งขึ้นมาจากการมีเทคโนโลยีเด็ดๆ หรือสิทธิบัตรที่จะช่วยปูทางสู่ตลาดให้กับบริษัท ตอนที่เริ่มตั้งบริษัท Ginkgo ไม่มีของพวกนี้สักอย่าง ไม่รู้ว่าจะวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตให้ง่ายขึ้นได้ยังไง ไม่รู้ว่าทำได้แล้วใครจะมาซื้อ (ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้) รู้แต่ว่าจะต้องทำยังไงก็ได้ให้มันง่ายขึ้น
Reshma หนึ่งในผู้ก่อตั้งเคยเล่าว่าการออกมาตั้งบริษัทตอนนั้น (แทนที่จะไปทำ postdoc หรือหางานindustry อย่างที่คนส่วนใหญ่ทำๆกัน) เป็นอะไรที่บ้าระห่ำมาก ทีมผู้ก่อตั้งก็เพิ่งจบป.เอกหมาดๆไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทไบโอเทคอะไรเลย ส่วน Tom Knight แม้จะโด่งดังมาจากงานสาย AI/ Comsci และก็สร้างชื่อจาก iGEM แต่ก็ไม่ได้เคยก่อตั้งหรือทำงานบริษัทสายไบโอเทคมาก่อน
โชคเข้าข้าง Ginkgo ตรงที่ตอนตั้งบริษัทในปี 2008 ที่อเมริกามีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้บริษัท biotech รอบๆ บอสตันแถวมหาลัย MIT/Harvard เจ๊งกันเป็นแถบ Ginkgo เลยได้โอกาสกว้านซื้ออุปกรณ์แล็บราคาถูกแถมยังได้นักวิจัยที่ตกงานมาร่วมทีมเพิ่มอีกต่างหาก ความตลกคือหนึ่งบริษัท biotech ที่เจ๊งในช่วงนั้นก็มี Codon Device สตาร์ตอัพของตัวท็อปวงการ synbio เวลานั้นอย่าง George Church, Joseph Jacobson, Jay Keasling และ Drew Endy รวมอยู่ด้วย เลยมีนักวิเคราะห์บางคนเปรียบเปรยว่า Ginkgo กำเนิดขึ้นมาจากซากของ Codon Device นั่นเอง
Codon Device สตาร์ทอัพม้าเต็งด้าน synbio ที่ล่มสลายไปช่วงใกล้กับที่ Ginkgo กำเนิดขึ้น
ช่วง 4-5 ปีแรก Ginkgo อยู่ด้วยเงินสนับสนุนสคาร์ตอัพจากรัฐบาล และเริ่มตอบคำถามว่า ”จะทำยังไง” และ ”จะขายใคร” ด้วยการใช้ปรัชญา Lean Startup อย่างเคร่งครัดนีคือการ “ลองหลายๆ แบบ ลองให้เร็ว ลองให้ถูก” และการลองแต่ละครั้งจะต้องมีโจทย์หรือสมมติฐานที่ชัดจน
คำถามที่ว่า “จะขายใคร” สามารถตอบได้ผ่ายการทดสอบความสนใจของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ผ่านการตั้งคำถามและสมมติสถานการณ์ซื้อขายกับคนที่บริษัทที่จะมาเป็นลูกค้า ตรงนี้ Ginkgo สามารถทดสอบและเปลี่ยนสมมติฐานได้เรื่อยๆ อย่างรวดเร็วและไม่ต้องทุนสูง ส่วนที่ว่าจะ “ทำยังไง” Ginkgo มองว่าตราบใดที่พันธกิจของบริษัทยังเหมือนเดิม มันจะมีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่บริษัทจะต้องพัฒนาขึ่นมาไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็คือกระบวนการออกแบบ-สร้าง-ทดสอบ-เรียนรู้ (design-build-test-learn)
กระบวนการออกแบบ-สร้าง-ทดสอบ-เรียนรู้ จาก Petzold, C. J., Chan, L. J. G., Nhan, M., & Adams, P. D. (2015). Analytics for metabolic engineering. Frontiers in bioengineering and biotechnology, 3, 135.
รายละเอียดที่จะต้องเติมเพื่อตอบคำถามว่า “ทำยังไง” ก็เป็นสิ่งที่ Ginkgo ต้องลองปรับปรุงไปเรื่อยๆ เหมือนกับการทำโครงงานหรือการทำวิจัยทั่วไป โดยได้แนวทางจากการแก้ปัญหาของโจทย์ที่ได้จากลูกค้า พอตัวระบบดีขึ้นก็จะรับงานได้มากขึ้นและระหว่างที่ทำ ข้อมูลที่รวบรวมได้ก็ยิ่งเยอะขึ้นไปและกลายเป็น secret sauce ของบริษัท
แม้ว่าแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพิ้นฐานกระบวนการออกแบบ-สร้าง-ทดสอบ-เรียนรู้เพื่อการวิศวกรรมสอ่งมีชีวิตจะเกิดมาก่อนบริษัท Ginkgo มาสักพักหนึ่งและมีหลายบริษัทที่พยายามทำ ความได้เปรียบสำคัญของ Ginkgo จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวแนวคิดหลัก แต่เป็นการทำให้แต่ละกระบวนการมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากซอฟแวร์การค้นหาและประกอบยีนเพื่อการ”ออกแบบ”ที่แม่นยำมากกว่า ระบบหุ่นยนต์ที่ทำงานประสานกันและ”สร้าง”เซลล์ต้นแบบได้เร็วกว่า ชุดเครื่องมือ”ทดสอบ”การทำงานของเซลล์ที่วิเคราะห์ได้ครอบคลุมมากกว่า ความได้เปรียบเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ได้ประสานรวมกันกลายเป็นความได้เปรียบก้าวใหญ่ที่ใครๆ ก็ยากจะตามทัน
>>> Clip แนะนำ Ginkgo Bioworks สมัยก่อตั้งใหม่ๆ
บรรยากาศใน  biofoundry ของ Ginkgo
สุดท้าย Ginkgo จึงกลายเป็น “ผู้รับเหมาก่อสร้างจุลินทรีย์” ที่ทำธุรกิจแบบ B2B นั่นคือเวลาบริษัทอื่นต้องการเซลล์เพื่อผลิตโปรตีนทดแทนจากพืช กลิ่นน้ำหอม หรือสารอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้เข้ามาทำงานร่วมกับ Ginkgo โดยฝั่ง Ginkgo จะสร้างเซลล์ให้ได้ตามโจทย์ของบริษัทคู่ค้าผ่านระบบการวิศวกรรมเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง และด้วยเหตุผลที่บริษัทตั้งใจจะวางตัวเองในฐานะ platform provider ตั้งแต่แรก ตัวบริษัทเองก็จะไม่ไปยุ่งในขั้นตอนการทำ scale-up นำเซลล์ที่สร้างได้ไปใช้ผลิตสารออกมาขาย
รายการลูกค้า/partner บางส่วนของ Ginkgo (https://investors.ginkgobioworks.com/events/default.aspx)
platform การวิศวกรรมเซลล์และตัวอย่างการประยุกต์ใช้ (https://investors.ginkgobioworks.com/events/default.aspx)
แหล่งรายได้ของ Ginkgo มีอยู่ 2 ทาง อันแรกคือเงินวิจัยที่บริษัทคู่ค้าจะต้องร่วมลงทุนด้วยซึ่งมักจะแบ่งกัน 50-50 เลย อีกก้อนคือเงินส่วนแบ่งจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเซลล์ที่ Ginkgo พัฒนาขึ้นมาหรือ equity ของ partner company ตอนนี้มีอยู่ 50 บริษัท ผลิตภัณฑ์ดูกระจัดกระจาย แต่ใช้ platform การพัฒนาอันเดียวกัน
สองแนวทางหารายได้ของ Ginkgo จากการให้บริการ biofoundry ละส่วนแบ่งจาก product ที่ partner ขายได้ (https://investors.ginkgobioworks.com/events/default.aspx)
(https://investors.ginkgobioworks.com/events/default.aspx)
งานรับเหมาก่อสร้างจากบริษัทเอกชนเจ้าแรกเข้ามาในช่วง 2014-2015 หลังจากที่ Gonkgo เป็นบริษัทไบโอเทครายแรกที่เข้าร่วมโครงการของ Y Combinator ที่ถือได้ว่าเป็นมือปั้นสตาร์ตอัพระดับโลก หนึ่งในนั้นเป็นงานวิศวกรรมยีสต์ให้ผลิตกลิ่นกุหลาบเพื่อไปทำน้ำหอมทำจากบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Robertet
Ginkgo ใช้เงินมหาศาลไปกับการสั่งดีเอ็นเอสังเคราะห์ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับการทำงานวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตทุกงานเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการสร้างและทดสอบเซลล์ต้นแบบของ ”โรงหล่อชีวิต” (Bioworks foundries) โดยในปี 2016-2017 บริษัทได้สั่งดีเอ็นเอไปกว่า 600 ล้านเบส ส่งผลให้ Ginkgo กลายเป็นผู้สั่งซื้อดีเอ็นเอสังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในช่วงนั้นเองที่บริษัทดีเอ็นเอสังเคราะห์ที่เคยเป็นคู่แข่งสำคัญของ Twist อย่าง Gen9 (ของ George Church, Joseph Jacobson, Drew Endy ที่พยายามรีบูต Codon Device ขึ้นมาใหม่) ส่งงานให้ Ginkgo ไม่ทัน บริษัทจึงเกิดปัญหาและโดน Ginkgo ซื้อไปในช่วงต้นปี 2017 เกิดเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ Ginkgo ฮุบบริษัทของอาจารย์ตัวเองอีกครั้ง
การเข้าซื้อ Gen9 ทำให้ Ginkgo ได้ทั้งทีมวิจัย เครื่องมือ ซอฟแวร์ และอีกหลายร้อยสิทธิบัตรเกี่ยวกับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอมาไว้ใน foundries ของตัวเอง
Ginkgo เข้าซื้อ Gen9 สตาร์อัพดาวรุ่งด้านการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ
การอัพเกรดระบบออกแบบ-สร้าง-ทดสอบ-เรียนรู้ ของ Ginkgo ใหญ่ๆ ผ่านการซื้อบริษัทที่ชำนาญด้านต่างๆพวกนี้มาเสริมทัพในช่วงที่ผ่านมาก็มีอย่างเช่น Warp Drive Bio, Novogy, Dutch DNA
Warp Drive Bio บริษัทขุดจีโนมจากธรรมชาติที่ Ginkgo ตั้งใจจะนำมาใช้ค้นหายาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ ซึ่งฐานข้อมูลจากแบคทีเรียมากกว่าหนึ่งแสนสายพันธุ์ก็ทำให้ Ginkgo มีตัวเลือกมาใช้สำหรับการ “ออกแบบ” มากขึ้น
ยีสต์สะสมไขมัน Yarrowia  (เม็ดแดงๆในรูปคือไขมันสะสมในเซลล์) เป็นหนึ่งในความชำนาญหลักของ บริษัท Novogy สามารถเอาไปใช้ผลิตไบโอดีเซล กรดไขมันมูลค่าสูงอย่างโอเมกาสาม หรือ สารกลุ่ม terpenoid อย่าง β-carotene, astaxanthin ฯลฯ
การประยุกต์ใช้ราเส้นใย (filamentous fungi) ความชำนาญหลักของ Dutch DNA
ในปี 2019 Ginkgo ได้เปิดตัว Ferment Consortium เพื่อเอาไว้ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้าน synbio โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทใน Consortium ที่ได้รับการบ่มเพาะและมีสิทธิพิเศษในการเข้าถึงระบบการวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตของ Ginkgo จะเป็นกลุ่มบริษัทที่เน้นการต่อยอดระบบของ Ginkgo มาสร้างสิ่งมีชีวิตตามเป้าหมายของตัวเอง เช่น Joyn Bio, Motif Foodworks, Allonia
Joyn Bio ที่ต้องการจะนำแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนไปใช้ในไร่นา (ร่วมทุนระหว่าง Ginkgo และ Bayer)
Motif Foodworks อยากจะผลิตโปรตีนปรุงแต่งอาหาร เช่น ชีสจากพืชที่ถูกปรับแต่งให้เหนียวเด้งเหมือนชีสแท้
Allonia โฟกัสที่การพัฒนาจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย
Ginkgo วางตำแหน่งตัวเองให้เป็น platform ขณะที่สตาร์อัพที่มีผลิตภัณฑ์เฉพาะทางพวกนี้ก็เป็น application ที่อยู่บน platform ของ Ginkgo อีกที เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนบริษัท Apple มี iPhone, iPad, Macbook, OS X ฯลฯ เป็น platform แล้วก็มีบริษัทพัฒนา app นั่นนี่ ทำงานบน platform พวกนี้อีกทีนึง ถ้า platform ดี ใช้ง่ายทั้งฝั่งผู้พัฒนาและผู้ใช้งานก็จะมีคนอยากสร้างอยากใช้ app เข้ามากันเยอะแยะ รายได้ก็หลั่งไหลเข้ามาผ่านทั้งการขาย platform และจากการส่วนแบ่งกำไรต่างๆ ของ app
Jason Kelly CEO และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Ginkgo Bioworks เคยเล่าในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า สิ่งมีชีวิต (life) เป็นผู้สรรสร้างที่น่าทึ่ง มันสามารถจะสร้างงานละเอียดระดับนาโนและมีผลกระทบในระดับข้ามทวีป (“nanoscale resolution - continental scale impact”)
ลองหยิบใบไม้มาซักใบ …มองซูมลึกลงไปจะเห็นจักรกลระดับนาโนในเซลล์ที่สามารถคว้าพลังงานสะอาดจากโฟตอนทีละตัว มาเปลี่ยนน้ำเป็นออกซิเจนและเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นน้ำตาล และก็จักรกลระดับนาโนในเซลล์ทั้งหลายนี้แหละที่แปลงน้ำตาลเป็นโมเลกุลเป็นหลายพันหลายหมื่นชนิด อาหารทุกอย่างที่เรากิน ยาแทบทุกตัวที่เราใช้ ทุกรสชาติทุกกลิ่นที่เราเสพ วัสดุขั้นเทพอย่างเส้นใยที่เหนียวกว่าเหล็ก กาวที่เกาะได้ทุกพื้นผิว พลาสติกใสแข็งแรงทนทานแต่เบาหวิวและย่อยสลายง่าย ฯลฯ
ลองหยิบใบไม้มาซักใบ ...มองซูมออกมาเห็นป่าทั้งป่า เห็นทุ่งหญ้าท้องไร่ท้องนาสุดลูกตา และแพลงตอนที่อยู่ทั่วท้องทะเล ..แทบทุกตารางเมตรบนโลกนี้ปกคลุมด้วยสิ่งมีชีวิต สิ่งมิชีวิตเหล่านี้แหละที่หมุนเวียนสสารเป็นล้านๆ ตันอยู่ทุกชั่วขณะ และเก็บเกี่ยวพลังงานจากดาวฤกษ์ที่ห่างออกไปร้อยกว่าล้านกิโลเมตรมาขับเคลื่อนแทบทุกกิจกรรมบนดาวเคราะห์นี้
เมื่อหลายสิบปีก่อนการปฏิวัติวงการ IT ด้วยการกำเนิดขึ้นของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้ disrupt แทบทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย “ข้อมูล” เพลง ภาพยนตร์ ข่าวสาร สิ่งพิมพ์ เกมส์ การเงิน การศึกษา ฯลฯ ธุรกิจเกี่ยวกับ “ข้อมูล” มากมายกำเนิดขึ้นมาใหม่และอีกมากมายที่ล้มหายตายจากไปจากการปฏิวัติครั้งนั้น
Kelly บอกว่าการปฏิวัติวงการไบโอเทคจะมา disrupt “ส่วนที่เหลือ” จากการปฏิวัติรอบก่อน นั่นก็คืออุตสาหกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ “วัสดุ” สสารสิ่งของที่จับต้องได้ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม สิ่งปลูกสร้าง พลังงาน ฯลฯ ลองมองไปรอบๆ ตัวสิ แทบไม่มีวัสดุไหนหรอกที่เราจะไม่สามารถทดแทนหรืออัพเกรดใหม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งผ่านกระบวนการทางชีววิทยา ..ผ่านการวิศวกรรมสิ่งมีชีวิต
พันธกิจของ Ginkgo คือ “Making biology easier to engineer” ด้วยการสร้าง platform ที่ทำให้การวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตมันง่าย เร็ว ถูก แม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ platform แบบนี้แหละที่จะปิดช่องว่างระหว่างเครื่องมือการผลิตสุดมหัศจรรย์ที่ชีววิทยามอบให้กับพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดของมนุษย์
อ้างอิง
โฆษณา