18 ก.ย. 2021 เวลา 03:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปรียบเทียบ 2 กลุ่มสินค้าที่นักลงทุนต้องรู้ Consumer Discretionary vs. Consumer Staple และมีกองทุนไหนบ้างที่เน้นสินค้า 2 กลุ่มนี้
วันนี้ #เด็กการเงิน ขอมาอธิบายและเปรียบเทียบ 2 กลุ่มสินค้าสำคัญที่นักลงทุนควรรู้จัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจสร้างความสับสนให้นักลงทุนได้ว่าแตกต่างกันอย่างไร นักลงทุนที่อ่าน Fact Sheet คงจะเห็น 2 Sectors นี้คือ Consumer Discretionary และ Consumer Staple มาดูกันว่า 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างไร และจะเจอ 2 กลุ่มนี้ในกองทุนประเภทใดบ้าง
สิ่งที่จะได้จากบทความนี้
1. ความแตกต่างระหว่าง Consumer Discretionary และ Consumer Staple และตัวอย่างสินค้า
2. หุ้นระดับโลกที่อยู่ใน MSCI World Consumer Discretionary และ MSCI World Consumer Staple
3. ผลตอบแทนและความเสี่ยง
4. 2 กลุ่มสินค้านี้จะเจอในกองทุนประเภทใดบ้าง และมีกองทุนไหนบ้างที่เน้นสินค้า 2 กลุ่มนี้
2
1️⃣ ความแตกต่างระหว่าง Consumer Discretionary และ Consumer Staple และตัวอย่างสินค้า
👜Consumer Discretionary เป็นกลุ่มสินค้าที่ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นสูงได้จากการผลิต สินค้าในกลุ่มนี้จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แฟชั่น ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เรือสำราญ รวมถึงรถยนต์ และ e-commerce platform ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้ Consumer Discretionary ในมุมของสินค้าแฟชั่นคือ สินค้าที่คนพอมีกำลังซื้อ ต้องการมีไว้เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ หรือทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้นนั่นเอง รวมไปถึงกลุ่มสินค้า Luxury ซึ่งมีอำนาจต่อรองด้านราคา และเน้นลูกค้า High-end หรือลูกค้ากำลังซื้อสูง ที่ไม่ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ก็พร้อมจ่าย ตัวอย่างเช่น กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องสำอางเเบรนด์หรู เป็นต้น
🛒 Consumer Staples เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นสินค้าที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้คนก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
2️⃣ หุ้นระดับโลกที่อยู่ใน MSCI World Consumer Discretionary และ MSCI World Consumer Staple
อ้างอิงจากดัชนีของ MSCI World เพื่อดูว่าสินค้าระดับโลกของ 2 กลุ่มนี้มีอะไรบ้าง โดยเริ่มจาก
(1) MSCI World Consumer Discretionary เป็นดัชนีกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่รวบรวมบริษัทขนาดกลางและใหญ่ครอบคลุม 23 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมี Top 5 Countries ได้แก่ สหรัฐฯ 68% ญี่ปุ่น 11% ฝรั่งเศส 6% เยอรมนี 5% UK 2%
โดยหุ้นในดัชนีนี้ประกอบไปด้วย Amazon แพลตฟอร์ม e-commerce ขนาดใหญ่ โดยมีสัดส่วนมากถึง 21% ตามด้วยบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ Tesla ศูนย์จำหน่ายสินค้าตกแต่งและซ่อมบ้านอย่าง Home Depot (คล้ายๆโฮมโปรบ้านเรา) นอกจากนี้ยังมี Nike, LVMH (บริษัทกระเป๋าหลุยส์ วิคตอง), Sony, Toyota, McDonald และ Starbucks เป็นต้น
(2) MSCI World Consumer Staple เป็นดัชนีกลุ่มสินค้าจำเป็นที่รวบรวมบริษัทขนาดกลางและใหญ่ครอบคลุม 23 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมี Top 5 Countries ได้แก่ สหรัฐฯ 55% UK 11% สวิตเซอร์แลนด์ 10% ญี่ปุ่น 7% ฝรั่งเศส 5%
1
โดยหุ้นในดัชนีนี้ประกอบไปด้วย บริษัทอาหารขนาดใหญ่ของโลก Nestle 8.76% เครื่องดื่ม Coca-Cola, Pepsio แบรนด์ผลิตของใช้ที่ใช้ในครัวเรือนเช่น P&G แบรนด์ผลิตของใช้ส่วนตัว เช่น Unilever, L’oreal หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เช่น Walmart และ Costco Wholesale
3️⃣ ผลตอบแทนและความเสี่ยง
Consumer Discretionary เป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยความผันผวนของสินค้ากลุ่มนี้มาจาก รายได้ที่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจนั่นเอง โดยถ้าหากเศรษฐกิจเปิด หรือขยายตัว จะส่งเสริมให้สินค้ากลุ่มนี้ขายดีขึ้น เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อและมั่นใจที่จะจ่ายเงินออกไป ในทางกลับกัน หากคนไม่มั่นใจ หรือมีกำลังซื้อหดหาย กลุ่มนี้ก็จะโดนกระทบก่อนเป็นอันดับแรก
ในขณะที่ Consumer Staple เป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ส่วนใหญ่มีรายได้คงที่ เพราะคนต้องจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำ ดังนั้นกลุ่มนี้ก็จะมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก
🤔 วิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสี่ยงออกเป็น 3 กรณี
(1) เมื่อดูผลตอบแทนและความเสี่ยงในทุกช่วงเวลาระหว่าง MSCI World Consumer Discretionary เทียบกับ MSCI World Consumer Staple ก็จะเห็นว่ากลุ่ม Discretionary มีผลตอบแทนและความเสี่ยงมากกว่ากลุ่ม Staple เรียกได้ว่า High risk, high (expected) return นั่นเอง
(2) หากเปรียบเทียบระหว่าง MSCI World Consumer Discretionary เทียบกับ MSCI World (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว: DM) และ MSCI ACWI (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา: DM & EM)
(2.1) เมื่อดูผลตอบแทนและความเสี่ยงช่วงเวลา 3 เดือน - 1 ปี ก็จะเห็นว่ากลุ่ม Discretionary มีผลตอบแทนน้อยกว่า DM และ EM ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะช่วงนี้เศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ดังนั้นสินค้ากลุ่มนี้ก็ยังคงกลับมาได้ไม่เต็มที่
(2.2) เมื่อดูผลตอบแทนและความเสี่ยงช่วงเวลา 3 และ 5 ปี ก็จะเห็นว่ากลุ่ม Discretionary มีผลตอบแทนมากกว่า DM และ EM จึงพอสรุปได้ว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นปกติหรือเศรษฐกิจดี คนมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็แลกมากับความผันผวนที่มากกว่าเช่นกัน
(3) หากเปรียบเทียบระหว่าง MSCI World Consumer Staple เทียบกับ MSCI World (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว: DM) และ MSCI ACWI (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา: DM & EM) ก็จะเห็นว่ากลุ่ม Staple มีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต่ำกว่าในทุกช่วงเวลา ถือว่าไม่หวือหวา เหตุผลก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าจำเป็นที่ส่วนใหญ่มีรายได้คงที่ เพราะคนต้องจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำ
จากผลตอบแทนและความเสี่ยงที่กล่าวมา ก็พอสรุปได้ว่า Consumer Discretionary เป็นหุ้นกลุ่ม Growth และ Consumer Staple เป็นหุ้น Value เน้น Defensive นั่นเอง
1
4️⃣ 2 กลุ่มสินค้านี้จะเจอในกองทุนประเภทใดบ้าง และมีกองทุนไหนบ้างที่เน้นสินค้า 2 กลุ่มนี้
โดยปกติแล้ว กองทุนประเภท Growth จะมี Consumer Discretionary อยู่แล้วค่อนข้างมาก ร่วมกับกลุ่ม IT นอกจากนี้ยังมี Consumer Staple ติดพอร์ตอยู่ด้วยเล็กน้อย เป็นการกระจายความเสี่ยง
นักลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องมี Pure Consumer Discretionary ก็ได้ เพียงแค่มีกองทุนประเภท Growth อยู่ก็เพียงพอแล้ว เว้นแต่ว่านักลงทุนที่ชอบกลุ่มนี้จริงๆ และรับความเสี่ยงจากความผันผวนที่ค่อนข้างสูงได้
สำหรับ Consumer Staple จะเป็นหนึ่งในกลุ่มของ Defensive ซึ่งนักลงทุนสายซอฟต์ ไม่ชอบความเหวี่ยงมาก สามารถมีกลุ่ม Defensive ติดพอร์ตไว้ได้ (อ่านโพสต์ Defensive Sector เพิ่มเติมได้ในคอมเมนท์)
📍ขอยกตัวอย่างกองทุนที่มี Consumer Discretionary หรือ Consumer Staple มากกว่า 30% โดยอ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 (ถ้าตกหล่นกองทุนไหนไป บอกเพิ่มได้นะ)
👜 กลุ่ม Consumer Discretionary
1. KFGG และ ONE-UGG-RA ถือเป็น Global Growth Theme ที่ลงทุนผ่าน Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth Fund กองทุนฮิตของนักลงทุนไทยนั่นเอง ซึ่งกองนี้เน้น Growth และมี Consumer Discretionary เกือบ 35% ตามมาด้วย IT 29% และ Health Care 20%
2. LHGLIFEE ถือเป็น Global Consumer Trends Theme ที่ลงทุนผ่าน Invesco Global Consumer Trends Fund โดยกองทุนหลักมี Benchmark คือต้องการทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า MSCI World Consumer Discretionary Index เรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่ลงทุน 100% ใน Consumer Discretionary Sector
3. TCHCON ถือเป็น Consumer Discretionary Theme ของจีน ที่ลงทุนผ่าน Global X MSCI China Consumer Discretionary ETF ถือเป็นการลงทุน 100% ใน Consumer Discretionary Sector ของจีน เช่น อินเตอร์เน็ต Software service ต่างๆ รวมไปถึงเครื่องแต่งกายและรองเท้า เป็นต้น
4. T-PREMIUM BRAND ถือเป็น Luxury Trend ที่ลงทุนผ่าน PICTET FUNDS (LUX) - PREMIUM BRANDS เน้นลงทุนในบริษัทที่เป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าหรือบริการระดับบน (Premium brand) มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และมีจุดแข็งอยู่ที่แบรนด์เนม
5. ASP-TOPBRAND ถือเป็น Luxury Trend ซึ่งลงทุนโดยตรง โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่มีชื่อเสียงในตราสินค้า (Brand) โดยจะพิจารณาจากมูลค่าของตราสินค้า (Brand Value) ที่ได้มีการคำนวณและจัดอันดับในแต่ละปีโดย สถาบันจัดอันดับตราสินค้า (Brand) ระดับสากล
🛒 กลุ่ม Consumer Staple
1. KFGRAND ถือเป็น Defensive Theme ที่ลงทุนผ่าน Morgan Stanley Investment Fund - Global Brands Fund ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุนในบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่เป็นแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง ที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกองนี้มี Consumer Staple เกือบ 31% และ Health Care ประมาณ 20% ที่รวมแล้วถือว่าเป็น Defensive นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม IT 30% มี growth ให้พอร์ตด้วย
1
2. TISCOGC ถือเป็น Defensive Theme ที่ลงทุนผ่าน iShares Global Consumer Staples ETF ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุนในหมวดสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็น เรียกได้ว่าเป็นกองทุนที่ลงทุน 100% ใน Consumer Staple Sector
📌กองทุนที่กล่าวมาเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้เป็นการชี้แนะให้ลงทุน และหลายกองทุนมีความกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา