19 ก.ย. 2021 เวลา 03:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดแดงใหญ่ หรือ The Great Red Spot
4
เอกลักษณ์อันเป็นจุดเด่นของพี่ใหญ่ แห่งระบบสุริยะที่มีมวลมากที่สุดเป็นรองเพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น
จากหัวข้อ คุณผู้อ่านก็คงจะทราบแล้วว่าเจ้าจุดแดงนี้เป็นพายุขนาดยักษ์
แล้ว มันใหญ่ขนาดไหน ? ใครเป็นผู้ค้นพบ ? แล้วปัจจุบันมันยังอยู่ไหม ?
คำถาม ทั้งหมดนี้ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังกันใน เนื้อหาของบทความในวันนี้
บันทึกแรกๆ ที่กล่าวถึง "จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี" มาจากนักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน นามว่า Giovanni Domenico Cassini
เขาได้ทำการสังเกตดาวพฤหัสบดี และ พบจุดแดงใหญ่ โดยในตอนนั้นเขาเรียกมันว่า "จุดถาวร" (Permanent spot)
ซึ่ง ช่วงเวลาที่เขาสังเกตครั้งแรกอยู่ในปี 1665 (พ.ศ. 2208) หรือประมาณ 356 ปี มาแล้ว
ภาพวาด: Giovanni Domenico Cassini
แต่ด้วยเทคโนโลยีในตอนนั้นที่ยังไม่เอื้อต่อการสำรวจ มันได้ทิ้งปริศนานี้ไว้กับนักดาราศาสตร์ ในสมัยนั้นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่พวกเขาค้นพบมันคืออะไรกันแน่ ?
จนกระทั่งมาถึงช่วงเกือบกลางศตวรรษที่ 19 "จุดแดงใหญ่" เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมากทำให้ง่ายต่อการสำรวจ
และ เริ่มจะตอบคำถามที่ค้างคาให้แก่ นักดาราศาสตร์ได้มากขึ้นจนท้ายที่สุดพวกเขาได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว "จุดแดงใหญ่" เป็นพายุหมุนขนาดยักษ์ !!!
ภาพถ่าย: จุดแดงใหญ่ จากยานสำรวจอวกาศ Juno spacecraft flyover
และ ด้วยเทคโนโลยีในตอนนี้ที่แทบจะเรียกว่า เป็นยุคทองแห่งการสำรวจอวกาศ ก็ทำให้พวกเราได้รู้รายละเอียดที่มากขึ้นเกี่ยวกับ "จุดแดงใหญ่"
ซึ่งมีข้อมูล ดังนี้
1. จุดแดงใหญ่ เป็นพายุที่มีลักษณะการหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา
2. รอบการหมุนประมาณ 6 วันของโลก หรือ 14 วันของดาวพฤหัสบดี
3. ตัวพายุ มีขนาดใหญ่มากจนสามารถบรรจุโลกได้ถึง 3 ดวง
4. มีความลึกของตัวพายุมากกว่าความลึกของมหาสมุทรบนโลก 50-100 เท่า
5. ตัวพายุ มีอายุ ระหว่าง 200 - 300 กว่าปี โดยที่ไม่เคยหยุดหมุน
6. มีความเร็วในการหมุนประมาณ 400 - 700 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ภาพถ่าย: จุดแดงใหญ่ จากยานสำรวจอวกาศ Juno spacecraft flyover
แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่ และ ดูท่าทีว่าพายุลูกนี้จะไม่มีวันสลายตัว เพราะมันหมุนมาตลอดเกือบ 4 ศตวรรษ นับตั้งแต่ที่มนุษย์รู้จักกับมันครั้งแรก
แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษาพบว่า "จุดแดงใหญ่" กำลังอ่อนกำลัง และ หดตัวลงเรื่อย ๆ
ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงของการหดตัวในครั้งนี้ โดยคาดว่ารูปทรงของพายุจะเปลี่ยนไป
จากเดิมที่มีลักษณะเป็นวงรีจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นรูปทรงเกือบกลม ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583)
ภาพถ่ายขนาดของพายุในช่วงปี 1995, 2009, 2014 ถ่ายจาก Hubble Space Telescope
แต่ทั้งนี้นักดาราศาสตร์บางคนคาดการว่า ไม่แน่บางทีจุดแดงใหญ่ อาจสลายตัวและ หายไปภายในช่วงชีวิตของเราก็ได้
เพราะจากข้อมูลเดิม (ด้านบน) ที่บอกว่าพายุสามารถบรรจุโลกใส่ลงไปได้ถึง 3 ดวง แต่ในปัจจุบันพายุมีขนาดใหญ่กว่าโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โฆษณา