3 ก.ย. 2022 เวลา 10:02 • ปรัชญา
ว่าด้วยเรื่องกฤษณะ ยกเขาโควรรธนะ (อ่านว่า เขา-โค-วัน-ธะ-นะ)
กฤษณะในช่วงที่อยู่ในเมืองโกกุล กฤษณะสร้างปาฏิหาริย์มากมาย และยังปลูกฝังแนวความคิดใหม่ๆ ให้ชาวบ้านอีกด้วย กฤษณะมักจะมีคำสอนที่ชี้ให้คนเชื่อในกรรมหรือการกระทำมากกว่าปาฏิหาริย์ หรือการเอาแต่บูชาเทพเจ้า
มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อชาวเมืองโกกุลกำลังเตรียมการเพื่อประกอบพิธีบูชาพระอินทร์ กฤษณะที่เฝ้าดูผู้คนวุ่นอยู่กับการเตรียมการก็สงสัยว่าทุกคนทำอะไรกันจึงถามนันทะผู้เป็นบิดาว่าทุกคนทำอะไรกันอยู่ นันทะก็บอกว่าทุกคนกำลังเตรียมการเพื่อประกอบพิธีบูชาพระอินทร์ กฤษณะผู้ขี้สงสัยก็ถามว่าบูชาทำไม นันทะจึงบอกว่าเพื่อให้พระอินทร์ประทานฝน และความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เมืองโกกุล กฤษณะก็ยังสงสัยว่าบูชาพระอินทร์ทำไมในเมื่อพระอินทร์มีหน้าที่ต้องดูแลแผ่นดินอยู่แล้ว
กฤษณะบอกทุกคนว่าแทนที่จะเสียเวลาบูชาเทพเหล่านี้ ทำไมไม่เอาเวลาไปทำงาน เอาเวลาไปปลูกพืชพรวนดินและบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะกรรม ถ้าทำกรรมตามหน้าที่ของตนแล้ว ผลย่อมออกมาดี
ชาวบ้านจึงหันมาบูชาขอบคุณภูเขาโควรรธนแทน เมื่อพระอินทร์รู้เข้าก็โกรธกริ้ว จนควันออกหู ออกหัว แล้วก็บันดาลให้พายุฝนกระหน่ำอยู่ถึง 7 วัน 7 คืน กฤษณะเห็นดังนั้นก็เป็นห่วงผู้คน จึงใช้นิ้วก้อยยกภูเขาโควรรธนะขึ้น และเรียกให้ชาวบ้านและสัตว์ต่างๆ เข้ามาหลบอยู่ใต้ภูเขา เมื่อพระอินทร์เห็นดังนั้นก็ตกใจ และสำนึกได้ว่า กฤษณะนั้นเป็นอวตารของพระนารายณ์
เมื่อพระอินทร์สำนึกได้เช่นนั้นแล้วก็ขี่ช้างไอราวตะ ซึ่งเป็นภาหนะของตนเอง ลงมาหากฤษณะ และกราบขอโทษกฤษณะตรงนั้น จากนั้นก็กลับขึ้นสวรรค์ไป
โฆษณา