20 ก.ย. 2021 เวลา 10:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปรสิต และ เชื้อราสามารถควบคุมเราได้
 
การควบคุม ‘จิต’ ของสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์นะครับ แต่มันมีอยู่จริงๆ
หลายคนอาจเคยรู้เรื่องเชื้อราที่ทำให้มดกลายเป็นซอมบี้ใช่ไหมครับ เจ้าราที่ว่านี้มีชื่อว่า Cordyceps เป็นราที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมดในป่าฝนเขตร้อนได้ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปก็คือ เจ้ามดจะเดินขึ้นไปบนต้นไม้ ขึ้นไปจนสูงลิบลิ่ว แล้วก็ตายอยู่บนนั้น ทำให้ราที่ว่าสามารถแพร่พันธุ์ได้ในที่สูง แล้วมันก็ปล่อยสปอร์ขนาดจิ๋วให้ปลิวไปตามสายลม ตกลงไปบนพื้นป่า แล้วจากนั้นก็เข้าไปฝังตัวอยู่ในมดตัวอื่นๆ เพื่อให้มันปีนต้นไม้ขึ้นไปตายบนที่สูงซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ
เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่รากับมดเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีในไวรัสชนิดหนึ่งด้วย เจ้าไวรัสที่ว่าจะไปฝังตัวอยู่ในดักแด้ของผีเสื้อกลางคืนที่เรียกว่า ยิปซีมอธ (Gypsy Moth) ทำให้เจ้ามอธนี่ปีนขึ้นไปบนยอดไม้แล้วก็ตาย จากนั้นไวรัสก็แพร่พันธุ์อยู่บนนั้น เวลาฝนตก มันก็จะถูกน้ำชะร่วงลงมาที่พื้นป่าเพื่อทำสิ่งเดียวกันไปเป็นวัฏจักร
ปรสิตสองแบบที่ว่าทำให้โฮสต์ (Host) ที่มันไปอาศัยอยู่ต้องปีนขึ้นที่สูงเพื่อจะแพร่พันธุ์ แต่ก็มีการ ‘ควบคุมจิต’ แบบอื่นๆ อีกนะครับ อย่างเช่น หนอนชนิดหนึ่ง เป็นหนอนตัวกลมนีมาโทด (Nematomorph หรือบางที่ก็เรียกว่า พยาธิแส้ม้า) ที่จะแฝงตัวเข้าไปอยู่ในจิ้งหรีด แล้วมันก็จะไปควบคุมสมองของจิ้งหรีด ทำให้จิ้งหรีดกระโดดลงไปในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำใหญ่เล็กแค่ไหนก็ตาม เพราะว่าเวลาอยู่ในน้ำแล้ว เจ้าหนอนที่ว่ามันจะสามารถแพร่พันธุ์ได้
ปรสิตควบคุมจิตที่มนุษย์เราน่าจะรู้จักกันดีที่สุดก็คือ ไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือ Rabies Virus นี่แหละครับ มันแพร่ไปได้ทั้งในมนุษย์ สุนัข และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามชื่อ คือมันทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อมีอาการ ‘บ้า’ คือมีลักษณะดุร้าย แล้วก็กัดสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เจอ แล้วไวรัสก็จะแพร่พันธุ์ได้ต่อไปเรื่อยๆ คล้ายๆ ซอมบี้เลยทีเดียว
นอกจากในหมาแล้ว ยังมีอีกโรคหนึ่งที่หลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันพอสมควร คือ ท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เกิดจากปรสิตประเภทที่เป็นโปรโตซัว ชื่อ Toxoplasma gondii ที่จะผ่านเข้ามาในร่างกายมนุษย์ได้ทางปศุสัตว์ เช่น หมู วัว หรือแกะ แต่ที่มันแพร่เข้ามาหามากที่สุดก็คือแมว แต่ไม่ใช่จากหมู วัว หรือแกะ เข้ามาหาแมวโดยตรงนะครับ มันจะผ่านเข้ามาที่หนูก่อน แล้วจากนั้นมันก็จะไปควบคุมจิตของหนู ทำให้หนู ‘ดูเหมือน’ ไม่กลัวแมว เลยถูกแมวจับกินง่ายๆ แต่ท่ีจริงแล้ว ปรสิตชนิดนี้มันทำให้หนูกลัวแสงน้อยลง (คือมีอาการ Photophobia น้อยลง) ก็เลยออกมาที่โล่งแจ้งมากขึ้น ทำให้ถูกแมวจับกินได้ง่ายขึ้น
ซึ่งเจ้า T. gondii นี่ก็สามารถเข้าสู่มนุษย์ได้ด้วยนะครับ คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการอิจฉาริษยา หรือขี้หึง ไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่น ไม่ค่อยเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้วก็ทำอะไรเสี่ยงๆ มากขึ้น มีงานวิจัยบอกว่า คนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปอยู่ในตัวจะเข้าไปเกี่ยวพันกับอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า แล้วคนที่ติดเชื้อนี้ก็มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าด้วย
ที่น่าตื่นตระหนกก็คือ เจ้าปรสิตชนิดนี้มีอัตราการติดเชื้อสูงมากทีเดียวนะครับ โดยแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากินและภูมิอากาศ อย่างประเทศที่กินเนื้อดิบกันเยอะๆ ก็จะมีการติดเชื้อสูงกว่า (ยกเว้นญี่ปุ่นนะครับ เพราะญี่ปุ่นกินปลาดิบ ไม่ใช่เนื้อสัตว์บกดิบๆ)
มีงานวิจัยมากกว่า 40 ชิ้นที่บ่งชี้ว่า คนที่เป็นโรคจิตเภท เมื่อนำไปทดสอบ T. gondii แล้วพบว่าได้ผลบวก (คือมี หรือเคยมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย) ด้วย แถมเจ้าตัวร้ายนี้ยังเกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน และมะเร็งในสมองอีกต่างหาก
อ้อ! ต้องบอกคุณด้วยนะครับว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าเจ้าปรสิต T. gondii นั้นพบในตัวมนุษย์มากถึงราว 30% กันเลยทีเดียว นั่นแปลว่ามีราวสองพันล้านคนที่มีปรสิตชนิดนี้อยู่ในสมองด้วย
นอกจากโปรโตซัวอย่าง T. gondii และไวรัสอย่างพิษสุนัขบ้าแล้ว ปรสิตควบคุมจิตยังมีอีกหลายตัวนะครับ เช่น Naegleria fowleri เจ้านี่เป็นอะมีบาที่จะเข้าไปในสมองของคนเราผ่านทางจมูก มันจะค่อยๆ กัดกินสมอง แบ่งตัว และก่อให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป อาจเป็นไข้ แล้วก็จะค่อยๆ รู้สึกสับสน เกิดภาพหลอน ชัก หมดสติ และส่วนใหญ่เสียชีวิตในสองสัปดาห์ แต่เนื่องจากมันเป็นปรสิตที่ร้ายแรง ทำให้โฮสต์ถึงแก่ความตาย มันเลยไม่ค่อยแพร่พันธุ์ไปได้มากมายนัก
คำถามก็คือ แล้วเจ้าปรสิตพวกนี้ไป ‘ควบคุม’ จิตหรือพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นได้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitter ครับ ไม่ว่าจะเป็นโดพามีน หรือซีโรโทนิน ซึ่งเป็นโมเลกุลที่อยู่ในสมองของเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว และมีผลในการทำให้เรารู้สึกโน่นนั่นนี่ จึงขับเคลื่อนออกมาเป็นพฤติกรรม
ปัจจุบันนี้เราเริ่มเข้าใจเรื่องของสารสื่อประสาทกันมากขึ้น มีการวิเคราะห์จีโนม (genome) ของ T. gondii แล้วพบว่า ในสารพันธุกรรมของมันมีรหัสที่จำเป็นต่อการสร้างโดพามีนด้วย บ่งชี้ว่าเจ้าปรสิตนี้น่าจะสังเคราะห์และหลั่งโดพามีนเข้าไปในสมองของโฮสต์ได้โดยตรงเลย ซึ่งก็มีการค้นพบว่า หนูที่ติดเชื้อนี้จะมีระดับของโดพามีนสูงกว่าปกติ
แต่นอกจากนี้แล้ว ปรสิตยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงระดับของสารสื่อประสาทของเราได้ด้วย เช่น ตัวต่อชนิดหนึ่งจะฉีดสารสื่อประสาทที่เรียกว่า อ็อกโทพามีน (Octopamine) เข้าไปในแมลงสาบ แล้วทำให้มันอยู่ในอาการโคม่าเหมือนหลับ จากนั้นตัวต่อก็จะเข้าไปวางไข่ในช่องท้องของแมลงสาบอีกทีหนึ่ง
มีการทดลองหลายอย่างเกี่ยวกับสารสื่อประสาทว่ามีผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งก็พบว่ามีผลในสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ความเข้าใจเรื่องสารสื่อประสาทนั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีอีกหลายเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป แต่เรื่องเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้ว่า -ปรสิตควบคุมจิตไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แค่ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น
แต่มันมีอยู่จริง!
โฆษณา