23 ก.ย. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Joy แพลตฟอร์มจัดการงานแต่ง ที่เกิดจากการบ่นของน้องสาว แต่ระดมทุนได้ 1,500 ล้าน
Micro Wedding หรืองานแต่งที่เน้นคุณภาพ แต่ไม่เน้นปริมาณนั้น
เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง ตั้งแต่ช่วงปี 2020
แม้แต่คนดังระดับโลกอย่าง Angelina Jolie กับ Brad Pitt หรือ Beyoncé กับ Jay-Z
ก็เลือกที่จะจัดงานขนาดเล็ก ๆ เชิญแต่แขกคนสนิท เพื่อบรรยากาศงานแต่งที่เป็นกันเอง
และเมื่อพูดถึงเรื่องการจัดงานแต่งงานขนาดไม่ใหญ่ บางคนจึงมีความคิดอยากจะจัดการทุกอย่างเอง
เพื่อที่จะได้ตรงใจและประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด
ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีแพลตฟอร์มหนึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับคนเหล่านี้ ช่วยให้ขั้นตอนการเชิญแขก การส่งการ์ด การจัดการแขกในงานเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น จนสามารถระดมทุนได้ถึง 1,500 ล้านบาท
โดยแพลตฟอร์มนี้มีชื่อว่า “Joy” และก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Microsoft
แล้วแพลตฟอร์ม Joy น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Joy นั้นมาจากคุณ Vishal Joshi หนุ่มชาวอินเดียที่ได้ย้ายมาทำงานที่สหรัฐอเมริกา
โดยเขามีโอกาสไปทำหน้าที่เป็น Software Engineer ที่ Microsoft และได้เจอกับคุณ Michael Bach
ต่อมาเมื่อน้องสาวของคุณ Michael Bach กำลังจะแต่งงาน เขาก็พบว่าน้องสาวของตนนั้นหงุดหงิดมาก ที่ไม่สามารถวางแผนแต่งงานได้ดั่งใจ เนื่องจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เธอใช้จัดการงานแต่ง มันขาดการเชื่อมต่อกัน
คุณ Vishal Joshi, คุณ Michael Bach และเพื่อนอีกหนึ่งคนชื่อคุณ Kaiwalya Kher
ที่รับทราบถึงปัญหานี้ ก็คิดว่าพวกเขาน่าจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
แน่นอนว่าเนื่องจากพวกเขาทำงานเป็น Software Engineer กันอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากเลย จะน่าเสียดายก็เพียงแค่ หลังจากที่พัฒนาแพลตฟอร์มนี้เสร็จ งานแต่งงานของน้องสาวคุณ Michael Bach ก็เพิ่งจบไปได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม พอคนรอบ ๆ ตัวของพวกเขาที่ได้ทดลองใช้งานก็ติดอกติดใจ และคอยมาส่งฟีดแบ็กแพลตฟอร์มนี้ให้พวกเขาอยู่เรื่อย ๆ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เซิร์ฟเวอร์ของ Joy เกิดล่มขึ้นมาเนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มมากเกินไป
และจุดนี้เอง ก็ทำให้พวกเขาทั้ง 3 มองเห็นว่านี่น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท Microsoft เพื่อมาลงแรงให้กับสิ่งนี้อย่างจริงจัง
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ Microsoft จะพยายามยื้อพวกเขาให้อยู่ต่อ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
ซึ่งสุดท้ายเมื่อยื้อไว้ไม่อยู่ Microsoft จึงเปลี่ยนเป็นการเสนอเงินลงทุนให้กับพวกเขาแทน
ทำให้ Joy ที่ในตอนนั้นยังไม่จดทะเบียนบริษัทด้วยซ้ำ ก็มี Microsoft มาเป็นนักลงทุนรายแรก
แล้วอะไรที่ทำให้ Joy น่าสนใจขนาดนี้ ?
ต้องขอเกริ่นก่อนว่าผู้ที่จะมาใช้งาน Joy นั้นจะเป็นกลุ่มคนที่อยากจัดการงานแต่งด้วยตัวเอง
โดย Joy จะแบ่งการจัดการออกเป็น เว็บไซต์สำหรับคู่แต่งงาน, การจัดการแขกในงาน,
การจัดการการ์ดแต่งงานและของขวัญ
ส่วนแรกคือ เว็บไซต์สำหรับคู่แต่งงาน จะเปิดให้คู่แต่งงานได้สร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
ซึ่งภายในเว็บไซต์จะสามารถใส่ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับงานแต่งของเราได้เลย ไม่ว่าจะเป็น
วันแต่งงาน, กำหนดการงานแต่ง, Dress Code, สถานที่แต่งงาน, การเดินทาง และแผนที่
รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับคู่แต่งงาน เช่น เจอกันที่ไหน รู้จักกันได้อย่างไร
หรือถ้าให้พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเว็บไซต์นี้ก็เปรียบเสมือน E-Card ที่เปิดโอกาสให้คู่แต่งงาน
สามารถใส่รายละเอียดทุกอย่างที่อยากให้แขกที่เข้ามาร่วมงานทราบอย่างละเอียด
โดยตัวเว็บไซต์นี้ก็สามารถก๊อบปี้ลิงก์ที่อยู่ และส่งให้กับแขกได้เลย ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับแขกที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว
ส่วนที่สอง คือ การจัดการแขก ก็จะมีระบบเพื่อให้แขกตอบรับการเข้าร่วมงานได้ ทำให้คู่แต่งงานสามารถติดตามสถานะของแขก รวมถึงจัดแบ่งหน้าที่ให้กับผู้ร่วมงานได้ เช่น เป็นเพื่อนเจ้าสาว, ญาติเจ้าบ่าว, แขกผู้มีเกียรติ หรือกำหนดว่าแขกคนไหน จะได้มาร่วมงาน After Party บ้างก็สามารถทำได้
ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่มีเพียงเจ้าบ่าว และเจ้าสาว หรือผู้ช่วยจัดงานเท่านั้นที่ดูได้
เพราะเป็นในส่วนของการจัดการหลังบ้าน
ส่วนสุดท้ายคือ การจัดการการ์ดแต่งงานและของขวัญ
เพราะถึงแม้เราจะอยู่กันในยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล แต่ของบางอย่างที่สามารถจับต้องได้
ก็ช่วยสร้างคุณค่าทางใจให้แก่ใครหลายคนได้อยู่ดี เช่นเดียวกับการ์ดแต่งงาน
ซึ่ง Joy ยังไปร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับงานแต่งงาน สำหรับให้คนที่ต้องการการ์ด
แบบที่เป็นกระดาษ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสั่งซื้อกับพาร์ตเนอร์ของ Joy ได้เลย
ส่วนการมอบของขวัญ โดยปกติคู่บ่าวสาวจะมีการทำ “Wedding Registry” หรือลิสต์รายการสิ่งของที่ต้องการ แล้วให้แขกมาเลือกจองจะได้เป็นของที่ได้ใช้จริง และไม่ซ้ำกัน
ซึ่งนอกจาก Joy จะมีฟีเชอร์การจัดการในส่วนนี้แล้ว ยังเชื่อมต่อไปยังแพลต์ฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ให้แขกสามารถเข้ามาดูและกดซื้อได้ทันทีด้วย
ด้วยความน่าสนใจและตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งหมดนี้ Joy จึงสามารถระดมทุนไปได้แล้วกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนบางรายที่ร่วมลงทุน ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยใช้งาน Joy มาก่อนด้วย
และแม้ว่าหลายคนจะมองว่า โควิด 19 จะเข้ามากระทบต่อการจัดงานแต่งงาน
สำหรับ Joy ที่เป็นแพลตฟอร์มช่วยจัดงานแต่ง ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เช่นกัน
1
อย่างการแต่งงานในยุค New Normal ที่หลาย ๆ งานแต่งเลือกเปลี่ยนมาจัดงานกันแบบเสมือนจริงบ้างแล้ว
Joy ก็มีฟีเชอร์ที่ช่วยให้คู่แต่งงานสามารถจัดงานออนไลน์ผ่าน Zoom ได้
โดย Joy จะให้คู่แต่งงานใส่รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับงานแต่ง เพื่อให้ผู้ร่วมงานสามารถอ่านเรื่องราวความรักของคู่บ่าวสาวได้ และยังสามารถกดลิงก์เพื่อเข้าร่วมงานได้ทันทีผ่านแพลตฟอร์มของ Joy
เรียกได้ว่าไม่ว่าจะเป็นงานแต่งแบบดั้งเดิม หรือ Virtual
Joy ก็พร้อมเป็นพยานรัก และมอบความสุขให้กับคู่แต่งงานในทุกสถานการณ์..
โฆษณา