24 ธ.ค. 2021 เวลา 10:27 • ความคิดเห็น
สวัสดีวันศุกร์ครับ 🔥🔥🔥
ใกล้ปีใหม่แล้ว ต่อมความกระหายในการท่องเที่ยว หรือต่อมการเสาะหาของกิน มันเริ่มโต😅
มีแสตมป์ที่ออกมาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเยอะอยู่ครับ แต่เรายังไม่พูดถึงในวันนี้… และยังไม่รู้ว่าจะพูดเมื่อไหร่ครับ 🙄🙄
แสตมป์ที่ออกมาเกี่ยวกับสัตว์น้ำนั้นมีอยู่หลายชุดด้วยกันครับ ในวันนี้ ขอเริ่มจากแสตมป์ กุ้ง มาให้ชมครับ
เริ่มที่กุ้ง 🦐🦐🦐กันก่อนครับ แสตมป์ชุดกุ้งนี้ ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2519 กรมไปรษณีย์ โทรเลข ได้ว่าจ้างให้ โจ เอ็นเชเด้ เอ็นโซเน่นท์ กราฟฟิชช์ อินริชติ้ง เนเธอแลนด์ (พูดจบหิวน้ำเลย)
ได้จัดพิมพ์แสตมป์กุ้งชนิดราคา 75 สตางค์ 2 บาท 2.75 บาท และ 5 บาท โดยชนิดราคา 75 สตางค์ พิมพ์จำนวน 3,000,000 ดวง อีกสามชนิดราคา พิมพ์จำนวนเท่ากัน คือชนิดละ 1,000,000 ดวง
ส่วนราคาซื้อขายแบบยังไม่ใช่ชุดละ 620 บาท หากใช้แล้วราคา 200 บาทครับ
เรามาดูกันว่ามีกุ้งอะไรบ้าง🦞🦞 ที่ได้บันทึกลงบนดวงแสตมป์
แสตมป์กุ้งก้ามกราม
ชนิดราคา 75 สตางค์ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii)
มีเปลือกสีเขียวอมสีฟ้าหรือม่วง ก้ามยาวมีสีครามหรือม่วงเข้ม ตลอดทั้งก้ามมีปุ่มตะปุ่มตะป่ำ เป็นกุ้งที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ ทั้งเลี้ยงแบบวังกุ้ง นำลูกพันธุ์มากักเลี้ยงไว้ในแหล่งพักธรรมชาติ มักพบตามพื้นที่ที่เป็นน้ำกร่อย และเลี้ยงแบบฟาร์มที่ใช้วิธีเพาะพันธุ์ในบ่อหรือกระชัง
กุ้งก้ามกรามมีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร เคยพบใหญ่สุดถึง 1 ฟุต น้ำหนักประมาณ 300 – 600 กรัม มีมันอยู่มากที่บริเวณหัว เนื้อมาก แน่น นิยมนำมาเผา เมนูยอดนิยมของใครหลายคน แต่ก็ใช่ว่าจะนำไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ทำเมนูกุ้งอบ กุ้งคั่วเกลือก็ได้เช่นกัน หรือมันของกุ้งนิยมนำมาทำข้าวผัด
แสตมป์กุ้งหางแดง
ชนิดราคา 2 บาท กุ้งหางแดง (Penaeus merguiensis)
ชื่อกุ้งหางแดงอาจจะไม่คุ้นกัน แต่หากบอกว่า “กุ้งแชบ๊วย” คงถึงบางอ้อตามๆ กัน
กุ้งหางแดงเป็นกุ้งทะเลธรรมชาติ ขนาดพอๆ กับกุ้งขาว แต่รสชาติดีกว่า เนื้อแน่นกว่า กุ้งหางแดงที่มาจากธรรมชาติ ลำตัวจะมีสีขาวอมเหลืองอ่อน และมีจุดสีดำตามลำตัว มีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร น้ำหนัก 50-100 กรัมขึ้นไป ถ้าเป็นกุ้งตามธรรมชาติน้ำหนักมากกว่านั้น นิยมนำมาทำกุ้งอบวุ้นเส้น กุ้งอบเกลือ กุ้งเผา ต้มยำกุ้ง ภัตตาคารอาหารจีนนิยมใช้ทำติ่มซำเพราะเนื้อแน่นสับแล้วเหนียว
แสตมป์กุ้งมังกร
ชนิดราคา 2.75 บาท กุ้งมังกร (Panulirus ornatus) หรือกุ้งประเหลืองเป็นกุ้งทะเลขนาดใหญ่มีลำตัวสีน้ำทะเล มีจุดสีส้มประปราย บริเวณเปลือกหัวมีลักษณะแข็งมาก อาศัยอยู่ตามโพรงหิน ความยาวตั้งแต่ 20-40 เซนติเมตร สามารถนำมารับประทานได้
แต่ที่นิยมกันมากคือ กุ้งมังกรภูเก็ต เพราะจะมีกระดองบางกว่ามาก มีเนื้อที่แน่น หวาน ไม่ยุ่ย น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม สามารถกินสดเหมือนซาชิมิได้ หรือนำไปอบ ย่าง เผา ผัด หรือนึ่งได้
🦞🦞บางคนเข้าใจผิดว่ากุ้งมังกรคือล็อบสเตอร์ แต่จริงๆ แล้วเป็นกุ้งคนละชนิดกัน ล็อบสเตอร์จะมีก้ามใหญ่ แต่กุ้งมังกรจะเป็นกุ้งที่ไม่มีก้าม🦞🦞
แสตมป์กุ้งกุลาดำ
และชนิดราคา 5 บาท กุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon)
เป็นกุ้งที่มีขนาดใหญ่ มีช่วงชีวิตอยู่ในสองน้ำ คือน้ำกร่อย และน้ำทะเล เมื่อตัวโตเต็มที่จะลงไปทะเลที่ไม่ลึกมาก สามารถเลี้ยงในฟาร์มได้แล้ว ขนาดของกุ้งตัวใหญ่ มีรสชาติดี เนื้ออร่อย กรอบ แน่น เด้งสู้ฟัน เหมาะกับเมนูที่เน้นรสชาติของกุ้งเป็นหลัก เช่น กุ้งเผา กุ้งอบเกลือ ใช้ทั้งตัวมาทำพาสต้า หรือพล่า และกุ้งคั่วเกลือ
กุ้งกุลาดำ กะ กุ้งลายเสือ สั้นๆ ครับ
มีหลายคนอาจจะคิดว่า กุ้งกุลาดำ และกุ้งลายเสือคือตัวเดียวกันครับ ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์ของ กุ้งกุลาดำ คือ Penaeus monodon ส่วนกุ้งลายเสือ คือ Penaeus japonicus
ถึงจะคล้ายๆ กัน แต่คนละชนิดกันนะครับ
แล้วเคยสงสัยมั้ยครับว่า Shrimp กับ Prawn ต่างกันอย่างไร
คนไทยเราเรียกกุ้งแทบทุกชนิดว่า กุ้ง เหมือนกันหมด แต่ฝรั่งจะแยกระหว่าง กุ้งที่มีขาหน้าใหญ่ 3 คู่กับ ขาเล็ก 2 คู่สั้นๆ ใต้ลำตัวว่า Prawn ซึ่งมักเป็นกุ้งขนาดใหญ่
1
และเรียกกุ้งที่มีขาหน้า 2 คู่ และขายาวๆใต้ลำตัว 3 คู่ ซึ่งมักเป็นกุ้งขนาดเล็กว่า Shrimp ด้วยความที่ขนาดมันต่างกัน คนไทยเราเลยเข้าใจไปว่า shrimp หมายถึงกุ้งเล็ก และprawn หมายถึงกุ้งใหญ่ แม้จะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
คราวหน้าเรามาชมหอยกัน… นะจ๊ะ
ขอบคุณที่ติดตามครับ☀️☀️☀️
โฆษณา