22 ก.ย. 2021 เวลา 12:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาพจำเกี่ยวกับวาฬในตอนที่เรายังเป็นเด็กนั้น เรียกได้ว่าเป็นสัตว์ตัวมหึมาที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล และยังได้ท่องตามกันมาอีกว่าวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
แต่เพราะอะไร ?
คุณครูบอกเพียงว่า เพราะวาฬมีปอดเหมือนกับเรายังไงล่ะ ?
แล้วทำไมสัตว์ที่ต้องใช้ปอดหายใจเอาอากาศ ต้องไปอาศัยในน้ำที่อยู่ในภาวะซึ่งแทบไม่มีอากาศอยู่เลยกัน ?
คำถามมากมายประเดประดังเข้ามาในสมอง แต่เด็กน้อยในตอนนั้นยังไม่สามารถหาคำตอบได้ จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เทคโนโลยีตามยุคสมัยช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ นั้นง่ายดายขึ้น เด็กน้อยในใจที่ยังวิ่งเล่นอยู่ในตัวเราก็ส่งเสียงถึงสิ่งที่ใคร่รู้อีกครั้ง และได้ค้นพบว่ายิ่งเราหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้ายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลตัวนี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งดำดิ่งและหลงใหลในความมหัศจรรย์ของมันมากขึ้นเท่านั้น
หนึ่งคำถามเกี่ยวกับวาฬ (หรืออาจรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลชนิดอื่น) คือ พวกมันมีหางที่ต่างจากปลา นั่นเป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เราแยกพวกมันออกจากกัน วาฬและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในทะเลรวมถึงลำน้ำจืด จะมีหางลักษณะที่เป็นเหมือนกับใบพายถูกวางในแนวระนาบกับแกนโลก เมื่อเคลื่อนที่จะใช้ทิศทางการสะบัดขึ้นลง เหมือนกับริบบิ้นผูกผมที่กำลังถลาลม ในขณะที่ปลาทั่วไปจะมีหางในแนวตั้งฉากกับแกนโลก และเคลื่อนที่ด้วยการสะบัดคล้ายกับธงที่มัดติดบนเสา
จุดนี้ทำให้เราเกิดความสงสัยต่อมาว่า แล้วก่อนที่วาฬจะมีลักษณะของหาง (รวมถึงรูปลักษณ์ในร่างกายทั้งหมด) เช่นนี้ มันเคยมีหน้าตาเป็นแบบไหนมาก่อน ?
แล้วความน่าตื่นเต้นในการศึกษาประวัติของวาฬก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อชุดข้อมูลหนึ่งบอกกับเราว่าบรรพบุรุษวาฬ เคยเป็นสัตว์สี่เท่า มีขนปกคลุม และอาศัยอยู่บนบกมาก่อน ซึ่งภาพที่เขานำมาให้เราชมมันดูคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก หรือหมาป่าที่ใบหูเล็กมากจนแทบไม่สังเกตเห็น หางคลายกับตัวนาค ปากของมันยาวคล้ายจระเข้แต่มีขนปกคลุม
แล้วอะไรที่ทำให้บรรพบุรุษของวาฬเลือกที่จะย้ายมาอาศัยอยู่ในน้ำแทนที่จะหาอาหารบนบกล่ะ ?
1
คำตอบที่เขาให้ไว้คือ ‘เพราะบนบกมีผู้ล่าจำนวนมาก และแหล่งอาหารมีไม่พอสำหรับผู้ล่าทุกตัว’
บรรพบุรุษของวาฬจึงเปลี่ยนมาหาแหล่งอาหารในน้ำแทน เหตุผลนี้ชั่งง่ายดายเหมือนกับการที่เพื่อนถามเราว่า “ร้านอาหารตามสั่งที่เราจะไป โต๊ะดันเต็มหมดแล้ว จะทำยังไง ? ” แล้วเราซึ่งเป็นคนประเภทไม่ชอบไปต่อสู้แย่งชิงอาหารกับใครให้เปลืองแรงได้ตอบเพื่อนไปว่า “พวกเราก็ไปกินที่ร้านก๋วยเตี๋ยวแทนสิ” และด้วยสิ่งนี้เองทำให้พวกบรรพบุรุษวาฬพบว่า แหล่งอาหารในทะเลนั้นมีมากมายกว่าบนบกหลายเท่า แถมยังอร่อยอีกต่างหาก พวกมันจึงใช้ชีวิตในน้ำยาว ๆ จนชั่วลูกชั่วหลาน โดยเริ่มจากอาศัยริมน้ำ และค่อย ๆ ขยับลึกลงไปเรื่อย ๆ จนวาฬในปัจจุบันสามารถอาศัยอยู่ใต้น้ำและดำน้ำได้ลึกหลายกิโลเมตร
เหตุผลเดียวกันนั้นทำให้วาฬมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป จากหางเรียวแหลมกลายเป็นใบพาย จากนิ้วเท้ากลายเป็นครีบ จากขนที่ปกคลุมตัวก็กลายเป็นผิวหนังและเหลือเพียงสองสามเส้นไว้ดูต่างหน้าที่ปลายเรียวปาก ขาหลังเริ่มหดหายไปจากการไม่ถูกใช้งาน จนกลายมาเป็นวาฬหน้าตาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
ความโรแมนติกของการศึกษาเรื่องวาฬยังไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ เรื่องราวหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับวาฬที่มีชีวิต แต่มีความเกี่ยวข้องกับหางของวาฬ คือ ‘ข่าวของรูปปั้นหางวาฬที่ช่วยชีวิตผู้คนบนรถไฟก่อนที่มันไถลตกราง’ ข่าวนี้เกิดขึ้นที่ นอกเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่ามีรถไฟขบวนหนึ่งได้เกิดแล่นทะลุรางซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินราว 10 เมตรซึ่งโดยรอบนั้นเป็นสระน้ำ หากจินตนาการว่าเราเป็นผู้โดยสารในรถไฟขบวนนั้นคงแทบสวดมนต์ร้องขอชีวิต
แต่แล้วความโชคดีก็บังเกิดเมื่อหัวรถไฟขบวนนั้นได้ทะลุไปยังส่วนของรูปปั้นหางวาฬอายุ 20 ปีซึ่งสร้างอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุนั้นพอดิบพอดี ราวกับเป็นปาฏิหาริย์แห่งหางวาฬ ความโชคดีนั้นส่งผลให้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็เชื่อได้ว่าผู้คนบนรถไฟขบวนนั้นกว่าครึ่งคงหลงปราบปลื้มเจ้าวาฬตัวสีเทาไปแล้วเป็นแน่
3
คำตอบหนึ่งที่เราได้จากการเป็นผู้หลงใหลคลั่งใคล้วาฬคือ “เพียงแค่เราเลือกใช้ชีวิตในแบบที่อยู่แล้วสบายใจ ที่ตรงไหนไม่เหมาะกับเราก็แค่ออกห่างจากมันมา มันอาจทำให้เราได้เจอสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตัวเราไปในทางที่ดีขึ้นได้มากกว่า เราจะถูกจดจำจากตัวตนของเราไม่ใช่การป่าวประกาศ และไม่แน่ในวันหนึ่งสิ่งที่เราเป็นอาจจะก่อประโยชน์แก่ผู้คนอื่น ๆ ได้”
ไว้กลับมาพูดคุยเรื่องวาฬกันใหม่ ส่วนใครที่อยากศึกษาเรื่องวาฬเพิ่มเติมเราแปะลิงก์ youtube และเว็บไซต์ข่าวไว้ด้านล่างนี้ ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่น่าสนใจที่ทำให้เราหลงรักเจ้ายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลเหล่านี้มากขึ้น
วิวัฒนาการวาฬ : https://www.youtube.com/watch?v=VJc4AbL0avY
ข่าวรูปปั้นหางวาฬช่วยชีวิต : https://themomentum.co/saved-by-the-whale-dutch-train-runs-off-elevated-tracks/
FB : ขอบคุณโลกทั้งใบ
โฆษณา