22 ก.ย. 2021 เวลา 14:57 • ประวัติศาสตร์
๑๐๐ ปี พระราชบัญญัติประถมศึกษา
ทราบหรือไม่ เด็กไทยต้องได้เรียนฟรีมาตั้งแต่ ๑๐๐ ปีก่อน
2
“...การที่จะนำบ้านเมืองไปสู่ความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้นั้น การให้การศึกษาแก่พสกนิกรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนซึ่งจะต้องเร่งทำเป็นประการแรก”
(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานของคนไทยข้างต้นนี้ นับเป็นปฐมบทแห่งการศึกษาภาคบังคับในประเทศสยาม ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้มีการวางรากฐานการศึกษาสำหรับสามัญชนไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีราษฎรอีกมากที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทำให้แม้จะมีโรงเรียนและหลักสูตรเตรียมพร้อมรองรับในระดับหนึ่ง แต่คนสนใจใฝ่เรียนกลับมีเพียงน้อย ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ผู้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนโดยมากเป็นลูกผู้ดีมีสตางค์ โดยมากเป็นครอบครัวคหบดีหรือข้าราชการ ส่วนโรงเรียนเอกชนก็มีการเก็บค่าเล่าเรียน ซึ่งราษฎรทั่วไปอาจไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงปัญหานี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นเป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ เพื่อให้คนไทยทุกหมู่เหล่าได้เล่าเรียนทัดเทียมเสมอกัน
หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติประถมศึกษา คือเพื่อให้คนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเสมอหน้าทั่วกัน จึงมีการประกาศบังคับใช้โดยไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน ตามความในมาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า การศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนประชาบาลย่อมให้เปล่า คือว่าไม่เรียกค่าสอนจากเด็กที่มาเรียน
นักเรียนมหาดเล็กหลวงแต่งเครื่องแบบปกติ ถือหมวกหนีบสีขาวขอบพับน้ำเงิน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฎรที่ต้องพึ่งพาบุตรหลานเป็นแรงงานช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงได้ทรงผ่อนผันให้เด็กว่างเว้นจากการเรียนได้ไม่เกินสองเดือนเพื่อช่วยงานที่บ้าน นับเป็นการปรับรูปแบบการศึกษาไทยอย่างมีระบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมเป็นครั้งแรก จากที่สมัยก่อนหากลูกหลานต้องเว้นจากโรงเรียนไปช่วยงานที่บ้านก็ล่วงเลยไปนานจนเรียนต่อไม่ติด ทำให้ต้องพ้นออกจากระบบการศึกษาไปโดยปริยาย
แนวพระราชดำรินี้ คือจุดเริ่มต้นการจัดการศึกษาโดยวิธีการแบ่ง “ภาคเรียน” หรือ “ภาคการศึกษา” เนื่องจากสมัยก่อนหน้านั้นไม่มีภาคเรียน แต่เป็นการเรียนแบบนับชั่วโมงต่อปี โดยทรงกำหนดให้มีการเรียนโดยทั่วกันอย่างน้อย ๘๐๐ ชั่วโมงต่อปี
นักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในโรงสวด(Chapel)หลังเดิมของโรงเรียน
หลักการของพระราชบัญญัติประถมศึกษา ยังคำนึงถึงสิทธิในการได้รับการศึกษาของเด็ก ดังข้อบังคับความว่าเด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีบริบูรณ์ต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนอายุได้ ๑๔ ปี บริบูรณ์ ทั้งยังคุ้มครองไปถึงการลิดรอนสิทธิของเด็กในอันที่จะได้รับการศึกษาด้วยการถูกใช้แรงงาน ดังความในมาตรา ๔๐ ให้สารวัตรศึกษาสอดส่องดูแลให้เด็กได้เรียนในโรงเรียนตามสมควร หากพบว่าเด็กไม่ได้เข้าเรียนตามพระราชบัญญัติเพราะเด็กถูกใช้งานใดๆ ก็ตาม ผู้ปกครองหรือผู้หน่วงเหนี่ยวก็จะมีโทษตามกฎหมาย
แบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาสมัยรัชกาลที่๖
แนวพระราชดำริเรื่องการศึกษาภาคบังคับ และบทบัญญัติต่างๆ อันหมายมั่นให้เยาวชนไทยได้รับความรู้โดยทัดเทียมกัน ช่วยพลิกโฉมรูปแบบการศึกษาของไทยให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างสรรค์พลเมืองยุคใหม่ที่มีคุณภาพตามรูปแบบอารยประเทศ นับตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา
โฆษณา