24 ก.ย. 2021 เวลา 09:30 • การตลาด
Meme (มีม) คืออะไร ? ใช้ประโยชน์ทางการตลาดได้อย่างไร ?
ในปีคศ. 1976 คำว่า “มีม” หรือ “meme” ถูกบัญญัติขึ้นโดย Richard Dawkins ในหนังสือ “The Selfish Gene“ ซึ่งตัว Dawkins เองให้ความหมายของมีมว่า การแพร่กระจายของไอเดีย หรือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ โดยไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรมด้วยการเลียนแบบ (รากศัพท์ของคำว่า meme มาจากศัพท์กรีก mimema ที่แปลว่าการลอกเลียน) ซึ่งมีมก็สามารถถูกนำไปพัฒนา ต่อยอด หรือแม้กระทั่งผ่านการคัดเลือกทางธรรมชาติได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คำและความหมายของคำก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปัจจุบันคำว่ามีมอาจไม่เหมือนกับมีมที่ Richard Dawkins ได้เขียนไว้ตั้งแต่เริ่ม แต่การใช้งานของมีมก็ยังมีความคล้ายคลึงจากความหมายเดิมอยู่
ถ้าให้นับไปถึงจุดเริ่มต้นของมีม บ้างก็ว่าการใช้มีมในรูปแบบที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันนั้น เริ่มมาจากยุคบุกเบิกของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่สามารถอัพโหลดภาพลงอินเตอร์เน็ตได้ Leetspeak หรือ 1337speak เป็นภาษาที่เกิดขึ้นจากการแทนตัวอักษรอังกฤษเป็นตัวเลขที่คล้ายคลึงกัน
จนกระทั่งในปี 1996 ที่กราฟิกดีไซเนอร์ Michael Girald ได้สร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถโปรแกรมการเคลื่อนไหวคล้ายกับการ Rigging และแสดงผลลัพธ์ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งโมเดลแรกที่เขาสร้างนั้นคือ เด็กทารกเต้นท่า Cha-Cha-Cha เมื่อเขาได้ส่งโมเดลต้นแบบให้กับบริษัท LucasArts ซึ่งภายหลังถูกแปลงไปเป็น GIF ไฟล์ภาพ GIF ของเด็กทารกเต้นตามจังหวะชะชะช่าก็ถูกส่งกระจายไปเป็นวงกว้างตามเว็บไซต์และอีเมลต่าง ๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่ามีมจนถึงปัจจุบันนี้
คำนิยามของมีม ถ้าให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ กระแสมุกขำขันที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมอินเตอร์เน็ตและโลกโซเชียล โดยมีมเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่ถาพ คลิปวีดีโอ คำพูด วลี ประโยคเด็ด โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ไม่ว่าอะไรก็เป็นมีมได้ ถ้ามันตลก
เพราะฉะนั้น การนำมีมมาใช้ประโยชน์ทางการตลาด ก็เหมือนการเล่นกับกระแส ในเชิงของความขำขัน ทำให้แบรนด์มีชีวิตชีวา เข้าถึงง่าย ทันยุคสมัย ซึ่งหากกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เป็นกลุ่มวัยรุ่น หรือประชากรในโลกโซเชี่ยล ย่อมส่งผลดีกับแบรนด์ แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช้มีมในเชิงบูลลี่ หรือประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคม อันจะส่งผลเสียต่อแบรนด์ได้
โฆษณา