23 ก.ย. 2021 เวลา 02:54 • การตลาด
เผยแนวคิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ในรอบ 30 ปี
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2534 โดยใช้เป็นสถานที่จัดงานประชุม เวิลด์แบงก์ และถูกใช้งานมาอย่างยาวนานต่อเนื่องอีกเกือบ 28 ปี ก่อนจะปิดตัวลงในเดือนเมษายน 2562 เพื่อรื้อและก่อสร้างใหม่ทั้งหมด
1
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นหัวใจของการเริ่มต้นอุตสาหกรรม MICE ในประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำของงานประชุม และอีเวนท์สำคัญๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน
2
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่จะพร้อมเปิดให้บริการกับประชาชน อีกครั้งในเดือนกันยายน 2022
1
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่นี้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า เพื่อรองรับการ จัดการประชุมและนิทรรศการ โดยมีพื้นที่มากถึง 78,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยฮอลล์สำหรับการจัด นิทรรศการขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ พื้นที่รวมมากกว่า 45,000 ตารางเมตร ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง พื้นที่ประมาณ10,000 ตารางเมตร และห้องประชุมย่อยที่สามารถรองรับการประชุมได้กว่า 50 ห้อง
ด้วยพื้นที่ขนาดนี้ทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สามารถลบข้อจำกัดเดิม เพราะสามารถรองรับ ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คนต่อวัน และจะทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นศูนย์ประชุมใจกลาง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
นอกจากเรื่องของสิ่งก่อสร้างที่ทางบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ เนรมิตขึ้น มาใหม่ทั้งหมดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการปรับเปลี่ยน Corporate Identity หรือ CI ของศูนย์การ ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่ทั้งหมดในรอบ 30 ปี เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All
การปรับเปลี่ยน CI ในครั้งนี้ บริษัทที่เข้ามารับผิดชอบก็คือ Beourfriend Company Limited หรือ BOF ซึ่งทำงานกับกลุ่มบริษัทนี้มาหลายปีเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์
มะลิ จุลเกียรติ ผู้ร่วมก่อตั้ง BOF และหัวหน้าการออกแบบ เล่าให้ฟังว่า บรีฟของงานนี้เริ่มต้นจากทาง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีการรีโนเวตใหม่ทั้งหมด รวมถึงการปรับปรุง CI ซึ่งภารกิจของ BOF คือการสร้าง อัตลักษณ์ใหม่ให้เข้ากับสิ่งที่ศูนย์การประชุมกำลังจะก้าวไปในอนาคต
1
จากโจทย์นี้ก็ถูกตีความออกมาเป็น Design Intention 3 ประการ คือ
1. Inspired from the Original การสืบสานของเดิมที่มีอยู่เป็นฐานความคิดในการพัฒนา
2. Thai Essence การรักษา ถ่ายทอดความเป็นไทยร่วมสมัยและเหมาะกับเวทีโลก
3. Fluid Graphic System การต่อยอดภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย มีความเป็นสากลสามารถเข้าใจ ได้ง่าย
“เราเอาของเดิมหลายอย่างมาต่อยอดในการสร้างอัตลักษณ์ เพราะมันไม่ใช่เรื่องขององค์กร อย่างเดียวแต่เป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับ Place เป็นสถานที่ที่ผูกพันกับคนไทยในหลายๆ มิติ มีการ จัดงานระดับประเทศมากมาย งานระดับเมือง ความผูกพันมีหลายระดับ เราเอาคุณค่าเหล่านี้มาคุยกัน เพื่อที่ว่าจะทำอย่างไรให้เก็บตรงนี้ไว้และยังคงก้าวไปข้างหน้าได้ต่อไป เรารวมเอาคุณค่าเหล่านี้มา
ตัวอย่าง เช่น สัญลักษณ์โลกุตระ ตรงนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เมื่อก่อนเป็นครึ่งเดียว เราก็ เอามาตีความหมายปรับ Visual Design เป็นเต็มๆ โดยรวมสิ่งที่เราเก็บไว้ คือความเป็น Original ความเป็น Thai Essence เอาไว้ แต่ให้พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยที่ต้องถูกนำไปใช้งานสื่อดิจิทัล เราต้อง ออกแบบให้ Fit in กับทุกแพลตฟอร์ม”
ยศนนท์ มากคุณ หัวหน้าฝ่ายการออกแบบและสร้างสรรค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โลกุตระเป็น Icon และ แลนด์มาร์กของสถานที่ที่อยู่คู่กับศูนย์ประชุมฯ มาตลอด ซึ่งสามารถตีความได้หลาแบบ เช่น มรรค 8, มี 8 เปลว เป็นบัวที่พ้นจากน้ำ เราเก็บความหมายเดิมเอาไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ของ Logo จากเดิมที่ใช้การวาดแค่ 4 เฟรมหรือครึ่งเดียว มาเป็นเต็มครบ 8 เฟรม ปรับเส้นให้หนักแน่น และทำให้ดูทันสมัยมากขึ้น ส่วนตัวอักษร หลักที่นำมาใช้ใน CI ทางทีมงานก็เพิ่มเส้นให้หนักแน่นขึ้น แต่ยังคงจริตความอ่อนช้อยจากลักษณะตัวอักษรเดิม
1
ในความเป็นจริง ทางทีมงานก็มีการออกแบบที่ตั้งใจปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยกว่าที่เห็นในปัจจุบัน ไปไกลพอสมควร แต่เมี่อมาลองชั่งน้ำหนักดูแล้วก็มีความกังวลว่า กลุ่มคนบางส่วนที่ยังนิยมภาพเดิมของ ศูนย์การประชุมจะทำความเข้าใจยากจนเกินไป แนวคิดนี้จึงไม่ถูกนำมาใช้
“เปลี่ยนเยอะไปก็ไม่ใช่ว่าจะดี ความยากคืออย่างไรเราก็ต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรให้ พอดี ให้ทุกคนรับได้ เป็นที่เข้าใจสำหรับคนทุกคน สัญลักษณ์ใหม่ดูไกลๆ จะคล้ายตัวเดิม แต่เราลด ทอนความหนา บาง เพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัล เวลาใช้งานในมือถือ เราปรับตรงนี้ลดความหนาบางลง ให้โมเดิร์น เหมือนจะเรียบแต่ไม่เรียบเสียทีเดียว เราใส่แสงเงาเข้าไป ให้ดูหนาบาง”
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการปรับ CI ในครั้งนี้ก็คือ ทีมงานจะใช้ตัวอักษรย่อ QSNCC เป็นชื่อหลักใน การสื่อสาร เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเรียกสำหรับคนต่างชาติ
ในส่วนของธีมสีที่จะถูกนำมาใช้ในการสื่อสารใหม่ ทางทีมงานได้เลือกเอา 3 เฉดสี คือ ฟ้า เงิน และ ทอง มาเป็น 3 สีหลักที่จะใช้งานการสื่อสารทั้งหมดของ QSNCC
“Persona ใหม่ของ QSNCC จะดูเป็นคนสมัยที่มีความเข้าใจในศิลปกรรม ประเพณี เข้าใจ วัฒนธรรมในอดีต เข้าใจคุณค่าของคำว่า Heritage และพร้อมที่จะพาสิ่งเหล่านี้ไปอนาคตด้วย เป็นคน ที่ Open มากๆ Inspiring มากๆ เป็นคนมีเสน่ห์ และสง่างาม เป็นบุคลิกประมาณนี้ ไม่ได้สูงอายุมาก ยังร่วมสมัยอยู่” ยศนนท์ อธิบาย
ภาพลักษณ์ใหม่ของ QSNCC นี้ จะถูกนำมาใช้ในการสื่อสารแบบ 360 องศา ทั้งในส่วนของการ ตกแต่งภายในอาคารสถานที่บางส่วน, ป้าย - สัญลักษณ์บอกข้อมูลในอาคาร ชุดพนักงาน ตลอดจนถูกใช้งาน ในสื่อดิจิทัลทั้งหมด
“ความท้าทายในงานออกแบบครั้งนี้ก็คือ เราจะทำให้ความเป็นไทยให้โมเดิร์น และเป็น Digital Age ได้อย่างไร มันคือการหาความสมดุลระหว่างอดีตกับอนาคต จริงๆ แล้วสิ่งที่เราพยายามอยากจะ ทำให้ดีที่สุด เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่รักของหลายๆ คน จึงมีความคาดหวังสูง เราจะดึงตรงนี้ออกมา อย่างไร เพราะว่ามีหลายมิติมาก เราจะทำอย่างไรที่อัตลักษณ์นี้จะลงตัวไปกับคน และลงตัวกับเมือง คือ ความเป็นสถานที่สำหรับทุกคน และเป็นพื้นที่ของทุกคน”
ข้อมูลโครงการ (Fact)
ชื่อโครงการ: ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC)
มูลค่าโครงการ: 15,000 ล้านบาท
ขนาดที่ดิน: 53 ไร่
พื้นที่โครงการ: 280,000 ตารางเมตร
พื้นที่จัดงาน: 78,500 ตารางเมตร
ที่จอดรถ: 2,700 คัน
ที่ตั้งโครงการ: ถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา
#BrandAge_Online
#QSNCC
#CI
#Design
#BOF
โฆษณา