23 ก.ย. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ความล้มเหลวในอดีตของ Elon Musk แล้วเขาเรียนรู้อะไรจากมัน ?
“ทุกคนสมควรล้มเหลว ถ้าคุณไม่เคยล้มเหลว คุณจะไม่มีวันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้” นี่คือคำพูดของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอ หรือ เทคโนคิงส์ ของบริษัท Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ที่ตอนนี้มูลค่ามากที่สุดในโลก
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้ว อีลอน มัสก์ นั้นไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย
แต่เขาก็สามารถกลายมาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จได้โดยเฉพาะในด้านการทำธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิวัติวงการรถยนต์ ด้วยการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla
หรือการพัฒนาพร้อมส่งจรวด Falcon 1 ของ SpaceX ไปโคจรรอบโลกในปี 2008
รวมไปถึงการเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทบริการชำระเงินรายใหญ่ อย่าง PayPal อีกด้วย
1
แต่รู้ไหมว่ากว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
Tesla นั้นเคยขาดทุนอย่างหนักจนทำให้มัสก์นั้นเกือบล้มละลาย
จรวด SpaceX นั้นเคยระเบิดไม่รู้กี่ครั้งระหว่างการทดลอง
หรือหนึ่งในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งอย่าง PayPal (สมัยยังชื่อเดิมว่า Confinity) ก็เคยถูกโหวตให้เป็นบริษัทที่มีไอเดียธุรกิจที่แย่ที่สุดแห่งปี
2
แต่อีลอน มัสก์ จะมองความล้มเหลวเป็นคุณครูที่ดี ที่คอยสอนให้ตัวเองนั้นเก่งขึ้นอยู่เสมอ
แล้ว ความล้มเหลวในอดีต ได้สอนอะไรให้กับเขาบ้าง ?
เราลองมาดูตัวอย่างความล้มเหลวในอดีตของเขากัน
2
- ถูกปฏิเสธงานจากบริษัท Netscape
ในช่วงที่มัสก์กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เขามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีเพราะเขาชื่นชอบการเขียนโคดตั้งแต่วัยเด็ก และบริษัทแรกที่เขายื่นสมัครไปก็คือ บริษัท Netscape
Netscape เป็นบริษัทที่คิดค้นเว็บเบราว์เซอร์ ในยุคสมัยที่เพิ่งจะมี World Wide Web (WWW) กำเนิดออกมาใหม่ ๆ หรือถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็เหมือนกับ Google Chrome หรือ Safari ที่เราใช้กันนั่นเอง
แต่หลังจากที่ส่งใบสมัครไป เขาก็ไม่เคยได้รับการคัดเลือกเลย เนื่องจากเขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิทยาศาสต์คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงลักษณะนิสัยของเขาที่เป็นคนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเท่าไรนัก
 
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า มัสก์นั้นเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) หรือโรคออทิสติกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีความเฉลียวฉลาด แต่จะมีปัญหาด้านการสนทนากับผู้อื่นและเข้าสังคมค่อนข้างยาก
หรือแม้แต่ต่อมาเขาได้ตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทของตัวเองที่ชื่อว่า Zip2 แต่ก็ถูกบีบให้ออก
แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้มัสก์ย่อท้อ โดยต่อมาเขาก็ได้พยายามหาจุดแข็งและพัฒนาจุดอ่อนของตัวเอง จนเขาสามารถพัฒนาสกิลการเข้าสังคมให้ดีขึ้น และนำจุดแข็งอย่างการเขียนโคด มาเปิดบริษัทของตัวเอง มีชื่อว่า Zip2 นั่นเอง
- PayPal ถูกโหวตให้เป็นบริษัทที่มีไอเดียธุรกิจที่แย่ที่สุดแห่งปี
ในปี 1999 หลังจากที่มัสก์ได้ทำการขายบริษัท Zip2 ที่เขาก่อตั้งขึ้นมา ไปด้วยมูลค่า 307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งจากสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทที่ 7% ทำให้เขาได้รับเงินกว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยมัสก์ได้นำเงินที่ได้นั้น มาร่วมก่อตั้งบริษัท Confinity ร่วมกับ Peter Thiel นักลงทุนชื่อดัง
ทั้งคู่ได้ก่อตั้งบริการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับบริษัท เว็บไซต์ และมือถือ แล้วลูกค้ารายแรกของพวกเขาคือ Palm Pilot บริษัทโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น
แต่ว่าไอเดียนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไรนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิทัล และคนยังไม่เห็นถึงความสำคัญของระบบที่เขาสร้างขึ้นเท่าไรนัก จนทำให้บริษัทถูกโหวตให้เป็นบริษัทที่มีไอเดียแย่ที่สุดในปี 1999
 
แต่ความล้มเหลวในครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อ โดยต่อมาเขาก็ได้เล็งเห็นเทรนด์การซื้อของออนไลน์ใน eBay ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาจึงปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของบริษัทให้กลายมาเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน หรือที่เรารู้จักกันในนาม PayPal ในเวลาต่อมานั่นเอง
PayPal ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสุดท้าย มัสก์ก็ได้ขายธุรกิจนี้ไปให้กับ eBay ด้วยมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าความล้มเหลวนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้มัสก์นั้นย่อท้อ แต่ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่สอนให้เขารู้จักเรียนรู้และปรับตัว และสิ่งนี้เองก็ทำให้เขาสามารถผลักดันตัวเองจนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้
ดังนั้นครั้งหน้า หากใครที่กำลังล้มเหลว ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ไปเสียก่อน เพราะนี่อาจเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ช่วยสอนเราให้เป็นคนที่เก่งขึ้นก็เป็นได้..
โฆษณา