24 ก.ย. 2021 เวลา 03:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Asset allocation ที่ดีที่สุด??
ในการลงทุนนั้นไม่ใช่แค่ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้นที่สำคัญ แต่ยังมีเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุนอีกด้วย
การลงทุนบางอย่างให้ผลตอบแทนสูงมากสำหรับเวลาที่เราชนะ
แต่กลับมีโอกาสชนะโดยภาพรวมที่ต่ำ หรือมีโอกาสที่จะขาดทุนสูงในบางเวลา ดังนั้นผลตอบแทนจึงควรจะวัดคู่กับความเสี่ยงและโอกาสขาดทุนเสมอ โดยมาตรวัดนั้นมีหลายตัวแต่ที่มักเห็นกันก็คือ Standard Deviation และ Sharpe ratio ที่วัดความผันผวนของพอร์ต หรือ Maximum Drawdown, Time to Recovery และ Ulcer Index ที่วัดความเสียหายเวลาขาดทุน
การที่จะสร้างผลตอบแทนระดับสูงได้โดยการเสี่ยงมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำได้ ซึ่งมักไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีสำหรับระยะยาว แต่การสร้างผลตอบแทนที่สูงโดยมีความเสี่ยงที่ต่ำอาจจะเกิดได้ด้วยฝืมือที่จับจังหวะตลาด หรือ เลือกการลงทุนที่ "ถูกตัว" ได้มากกว่าปกติ แต่ยังมีอีกอย่างที่วัดได้ง่ายและชัดเจนกว่าเรื่องของฝืมือเรื่องนั้นคือ "การกระจายความเสี่ยง" และ Asset Allocation ครับ
เมื่อ Asset ได้ถูกกระจายไปในหลายๆสินทรัพย์ หรือ Asset Class ในสัดส่วนที่เหมาะสมบางครั้งเราสามารถลดความเสี่ยงโดยแลกกับผลตอบแทนที่น้อยลงไปบ้าง แต่กลับทำให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงดีขึ้นอย่างมากได้ ซึ่งวันนี้จะมาเล่าถึงพอร์ตการลงทุนเหล่านี้กันครับ
หากเราลงทุนในตลาดหุ้นทั้งตลาดโดยแนวทางแบบ Passive Investment ผ่านการซื้อหุ้นตามดัชนีของตลาดหุ้นเช่น Set50, Nikkei225 หรือ Hang Seng 50 เรียกได้ว่าเราได้ลงทุนกระจายความเสี่ยงของการเลือกหุ้นรายตัวออกไปแล้วและเนื่องจากมีนักลงทุนหลายๆท่านไม่ว่าจะเป็น Warren Buffett เอง รวมทั้งงานวิจัยทางการเงินที่ออกมาบอกว่าการลงทุนใน index ระยะยาวส่วนมากจะชนะการเลือกหุ้นเอง หรือ Active investment ในทางการจัดพอร์ตแล้วเนื่องจากหุ้นเป็น Asset class ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาวการลงทุนแบบนี้จะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด
ตัวอย่างคือ การลงทุนใน S&P500 ที่รวมหุ้นของสหรัฐ 500 ตัว เพราะว่าตลาดหุ้นสหรัฐเป็นตลาดที่ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าเกือบทุกประเทศในโลกเราจึงมักใช้มันเป็นตัวเปรียบเทียบ
------Total Market Portfolio------
ถ้าลงทุนตั้งแต่ปี 1970 ถึงปัจจุบันคือ 2021 การลงทุนใน S&P500 ทั้ง 100% จะให้ผลตอบแทนแท้จริงเฉลี่ยที่ 8.1% ผลตอบแทนแท้จริงคือเอาผลตอบแทนที่ทำได้ลบด้วยเงินเฟ้อ ซึ่งอยู่ที่ราว2-3% เพราะเงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้นการที่เงินเพิ่มจาก 100 เป็น 110 เป็นผลตอบแทน 10% แต่ของที่ราคาแพงขึ้น 2-3% ทำให้จริงๆแล้วเรา "รวย" ขึ้นแค่ราว 8% ต่อจากนี้ผลตอบแทนที่พูดจะหมายถึง "ผลตอบแทนแท้จริง" ถ้าใครอยากรู้เฉพาะตัวเลขเงินที่เพิ่มก็สามารถเอา 2-3% บวกกลับไปได้ครับ
ซึ่งหากเพียงแค่ถือหุ้นโดยไม่ทำอะไรก็ได้ผลตอบแทนที่ดีมาก แต่ว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากเช่นกันโดยมาตรวัดเป็นดังนี้
1. SD 17.0%
2. Maximum Drawdown 49%
3. Longest Recovery หรือ เวลาที่อาจจะขาดทุนนานที่สุด 13ปี
แสดงในเห็นว่าการถือหุ้นอย่างเดียวมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนแกว่งในกรอบกว่า -11% ถึง +25% (+-1SD) ได้เป็นเรื่องปกติ และยังมีโอกาสที่เงินของเราจะหายไปเกือบครึ่งและใช้เวลาถึง 13 ปีกว่าจะกลับเท่าทุน โดยภาพรวมจะมีโอกาสที่ปีนึงเราจะขาดทุนอยู่ที่ 27% หรือก็คือ 1ปี จากทุกๆ 5 ปี
ด้วยโอกาสเสียเงินต้นแบบนี้ทำให้สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยลง การซื้อตราสารหนี้เพิ่มเข้าไปจะทำให้ผลตอบแทนมีการกระจายที่ต่างกันไป โดยพอร์ตที่มักถูกอ้างถึงคือ 60/40 คือถือหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% เริ่มถูกแนะนำโดย Jack Bogle ของ Vanguard ครับ
 
------60/40 Portfolio------
ผลตอบแทนที่ได้ก็คือ
1. ผลตอบแทนเแท้จริงจะลดลงเหลือ 6.1% ต่อปี
2. SD ลดลงเหลือ 11.0% ทำให้ผลตอบแทนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง -4.9 ถึง 17.1%
3. โอกาสขาดทุนลดลงเป็น 25% ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
4. Maximum Drawdown 34%
5. Longest Recovery หรือ เวลาที่อาจจะขาดทุนนานที่สุด 12ปี
จะเห็นได้ว่าการ "ยอมรับ" ผลตอบแทนที่น้อยลงโดยการเพิ่มตราสารหนี้เข้าไปในพอร์ตนั้นช่วยให้การลงทุนระยะยาวเป็นจริงได้มากขึ้น การขาดทุนระดับ 5% ดูจะเป็นเรื่องที่รับได้มากขึ้นเทียบกับขาดทุน 10% เวลาซื้อหุ้นทั้งหมด และทำให้เราไม่ขายการลงทุนออกไปในเวลาที่แย่ที่สุด ตรงนีั้เองที่ทำให้การขยับเพิ่มตราสารหนี้เข้าไปและปรับตามอายุเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่แนะนำเช่น เมื่ออายุน้อยให้ลงทุนหุ้น 80 ตราสารหนี้ 20 เมื่ออายุมากขึ้นให้เพิ่มตราสารหนี้และเพิ่มไปเรื่อยๆเช่น 80/20 > 60/40 > 40/60 > 20/80 แบบนี้ครับ
แต่มันยังมี Asset Class อีกมากมายที่สามารถเข้ามาจัดพอร์ต และหุ้นหรือตราสารหนี้เองก็มีหลายแบบมาก ยังมีการจัดพอร์ตที่ดีกว่านี้อีกมั้ย??
แน่นอนว่ามีครับ
------All Season Portfolio------
เป็นการจัดพอร์ตระยะยาวที่ Tony Robbins แนะนำโดยการพยายามอธิบายการลงทุนของ Ray Dalio แบบง่ายๆในหนังสือ MONEY Master the Game ของเค้า
พอร์ตการลงทุนนี้ประกอบไปด้วย
30% Total Stock Market
40% Long Term Bonds
15% Intermediate Bonds
7.5% Commodities
7.5% Gold
เป็นการลงทุนที่ต่างจาก 60/40 คือ ผสมตราสารหนี้ระยะยาวเช่น 10ปี กับระยะกลาง 5-7ปี เพิ่มให้กระจายความเสี่ยงของดอกเบี้ย และเพิ่มสินค้าโภคภัณท์ และทองคำเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงเงินเฟ้อ
( Commodity จะเป็นน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งในไทยเพราะเราไม่มีกองทุนรวม Commodity แต่เราอาจจะซื้อกองทุนน้ำมันแทนได้เช่นกัน)
พอร์ตนี้ทำให้
1. ผลตอบแทนเแท้จริงเหลือ 5.6% ต่อปี
2. แต่สามารถลด SD เหลือเพียง 7.9% ทำให้ผลตอบแทนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง -2.3 ถึง 13.5%
3. โอกาสขาดทุนเป็น 25% เท่าเดิม
4. Maximum Drawdown เหลือเพียง 16%
5. Longest Recovery ลดลงเป็น 9 ปีกว่า
จะเห็นว่าการยอมแลกผลตอบแทนไปอีก 0.5% ต่อปีจากพอร์ต 60/40 ทำให้การลงทุนนี้สบายใจขึ้นไปอีก นอกจากนั้นแล้วแม้จะมี Recovery ที่นานแต่หากสำหรับคนที่มีเงินมาเติมเพิ่มได้แล้วนั้นเวลาจะยิ่งสั้นหากเราได้ซื้อเพิ่มในราคาถูก และการขาดทุนที่มากที่สุดเพียง 16% คนที่ลงทุนมาสักพักจะรู้ดีว่าตัดสินใจง่ายกว่า -34% หรือ -49% มากๆ การลงทุนแบบนี้เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปได้แน่นอน
แต่......
ยังไม่พอครับ
มันยังมี Asset Allocation ที่ให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในเวลา 50 ปีที่ผ่านมาดีกว่านี้ไปอีก
------Golden Butterfly Portfolio------
เป็นจากจัดพอร์ตกระจายเท่าๆกันใน 5 Asset Class เหมือนกับรูปผีเสื้อกางปีก โดยไม่ได้มีที่มาชัดเจนว่าใครเป็นคนเริ่มแนะนำพอร์ตนี้
พอร์ตการลงทุนนี้ประกอบไปด้วย
20% Total Stock Market
20% Small Cap Value
20% Long Term Bonds
20% Short Term Bonds
20% Gold
ด้วยการปรับสัดส่วนแบบนี้ทำเพื่อรองรับปัจจัยทั้งด้านอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และยังเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนจากหุ้นคุณค่าขนาดเล็ก เนื่องจาก Total stock market มีสัดส่วนหุ้นใหญ่ที่มากและแทบไม่ได้มีหุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเลย ทำให้การเพิ่ม Small Cap Value เป็นทั้งการกระจายความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทน
ซึ่งการจำลองอาจจะให้ MAI แทบหุ้นเล็ก และ SET แทนหุ้นทั้งตลาดครับ (เสียตรงที่ MAI ไม่ได้เลือกหุ้น Value มาให้เรา)
พอร์ตนี้ทำให้
1. ผลตอบแทนเแท้จริงเป็น 6.3% ต่อปี
2. แต่สามารถลด SD เหลือเพียง 7.8% ทำให้ผลตอบแทนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง -1.5 ถึง 14.1%
3. โอกาสขาดทุนเหลือแค่ 17% หรือ โอกาสขาดทุน 1ปีใน 6 ปีและจากข้อ 2 เวลาขาดทุนก้เสียน้อยมาก
4. Maximum Drawdown เหลือเพียง 11%!! หมายความว่าตลอด 50 ปีนี้เราจะไม่เคยขาดทุนไปมากกว่า 11% เลยแม้จะผ่านทั้ง Dot com, Subprime, Covid ที่เป็นแบบนี้ได้เกิดจากทั้ง Long-term Bond และ Gold ที่มักบวกได้ในเวลาวิกฤติ
5. Longest Recovery ลดลงเป็นแค่ 3 ปีเท่านั้น
ถ้าดูจากข้อมูลในอดีตแค่นี้ต้องบอกจากพอร์ตนี้นั้นทำได้ดีเกินจริงมากๆในแง่ของการจัดการความเสี่ยง การขาดทุนเพียง 10% แทบจะไม่ทำให้เราขายเวลาแย่ๆ และการทนขาดทุนเพียง 3ปี ก็ไม่ได้นานจนทำให้ถอดใจ ยิ่งคนที่สามารถมีรายได้มาเติมเงินด้วยการ DCA ก็ยิ่งกลับมาได้เร็วไปอีก
ตัวอย่างในช่วง COVID ที่ผ่านมา Golden Butterfly ในผลตอบแทนทั้งปี 12.99% และในช่วงที่แย่ที่สุดขาดทุนไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
ทำให้มีบางคนปรับเอาพอร์ตนี้ไปปรับเปลี่ยนเล็กน้อนเช่น เปลี่ยน Total Stock Market เป็น Nasdaq หรือ เป็น DJI ซึ่งก็ทำให้ผลตอบแทนเปลี่ยนสูงขึ้นได้อีกหุ้น Tech ซึ่งเราสามารถเอาเป็นแก่นที่จะปรับปรุงเองได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า Asset Allocation ทำให้ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนดีขึ้นได้หากมีการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะกับตัวเราซึ่งพอร์ตเหล่านี้เป็นแนวทางที่สามารถทำไปทดลองได้จริง
จากผลตอบแทนของการถือหุ้นทั้งหมดที่ 8.1% ต่อปี แต่มีโอกาสขาดทุนมากสุดถึง -49% มาถึงการยอมลดผลตอบแทนมาที่ 6.3% ต่อปี ในพอร์ตกระจายความเสี่ยงกลับทำให้โอกาสขาดทุนเหลือเพียง -11% ส่วนตัวแล้วถือว่าคุ้มค่ามากจริงๆครับ
ตัวอย่างสำหรับการลงทุนในตลาดไทยสำหรับการประยุกต์ Golden Butterfly Portfolio ก็เช่น
ซื้อกองทุน SET Index : 20%
ซื้อกองทุน MAI : 20%
ซื้อกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวเช่นอายุ 10ปีขึ้นไป : 20%
ซื้อกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นหรือตลาดเงินฝาก : 20%
ซื้อกองทุนทองคำ : 20%
หรือสำหรับคนที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้มี ETF ค่าธรรมเนียมถูกมากๆที่เราสามารถไปซื้อได้ และการซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศเองก็สามารถจัดพอร์ตได้เช่นกันครับ
โฆษณา