24 ก.ย. 2021 เวลา 10:08 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Kingdom Ashin Of The North กับชะตากรรมเหล่าคนชายขอบในโลกทุนนิยม
Kingdom Ashin of the north เป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ภาคแยกของ Kingdom Netflix’s original series เรื่องดังจากเกาหลีใต้ ซึ่งตัว TV movie เรื่องนี้เองก็เป็นผลงานการสร้างของ Netflix เช่นกัน ตัวหนังได้ดาราเบอร์ใหญ่อย่าง “ยัยตัวร้าย” Jeon Ji Hyun มารับบทนำ และได้ Kim Sung Hoon ผู้กำกับจากฉบับซีรีส์มาทำหน้าที่ผู้กำกับเหมือนเดิม พ่วงด้วยKim Eun Hee มือเขียนบทจากฉบับซีรี่ย์ที่ตามมารับผิดชอบตัวบทภาพยนตร์เช่นกัน
ตัว TV movie เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวก่อนเหตุการณ์ในซีรี่ย์ร่วมทศวรรษ หนังพาเราไปเยือนหมู่บ้าน”ซองจอยาอิน”ณ ชายแดนด้านเหนือของราชอาณาจักรโชซอน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนเชื้อสาย”หนี่ว์เจิน”ที่อาศัยอยู่ในโชซอน อันซองจอยาอินนี้เป็นเขตแดนที่ติดกันกับพื้นที่ทำกินของชนเผ่า”พาจอวี” ชาวหนี่วเจิน”อีกเผ่าที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความป่าเถื่อนและโหดร้าย
แม้ชาวหมู่บ้านซองจอยาอิน จะให้ความช่วยเหลือโชซอนวนการปกป้องเขตแดนทางทิศเหนือ แถมคอยจัดส่งผลผลิตเป็นบรรณาการให้ราชวงศ์เสมอมา แต่ก็มิเคยได้รับสถานะความเป็นพลเมืองในราชอาณาจักร หนำซ้ำการให้ความช่วยเหลือโชซอนยังนำมาซึ่งความรังเกียจจากชาวหนี่ว์เจินเผ่าอื่น ๆ อีกด้วย
เรื่องราวในภาพยนตร์ดำเนินผ่านมุมมองของ Ashin เป็นหลัก(บทอาชินในวัยเด็กแสดงโดย Kim Chi A) เธอเป็นลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านซองจอยาอิน เธอมีแม่ที่กำลังป่วยหนัก นั่นทำให้เธอตัดสินใจลอบเข้าไปหาสมุนไพรในพื้นที่หวงห้ามเพราะเป็นเขตสัมปทานเก็บเกี่ยวโสมป่าของตระกูลขุนนางใหญ่จากเมืองหลวง และนั่นทำให้เธอรับรู้ถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวพาจอวีที่ลักลอบเข้ามาขุดหาโสมของลูกหลานมหาเสนาบดีแห่งโชซอน
ประจวบเหมาะราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ณ ห้วงเวลานั้นโชซอนถูกกรุกรานจากกองเรือชาวญี่ปุ่น นั่นทำให้ราชสำนักต้องมีการรวบรวมไพร่พลจากทั่วทั้งแผ่นดินเพื่อมุ่งรับศึกทางทิศใต้ ซึ่งทำให้ชายแดนทางด้านเหนืออาจจะตกอยู่ในวิกฤติทันทีหากมีการรุกรานเพื่อล้างแค้นของเผ่าพาจอวี ทำให้คุณนางผู้ปราดเปรื่องชาวโชซอนเลือกใช้ชาวบ้านซองจอยาอินเป็นเครื่องสังเวยเพื่อรองรับความโกรธแค้นของเผ่าพาจอวีแทนโชซอน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่อุบัติการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในซีรี่ย์ Kingdom
แม้จะทำออกมาเป็นภาพยนตร์แต่ลายเซ็นของทีมผู้สร้าง Kingdom ใน Ashin of the north ก็ยังชัดเจนเหมือนในซีรี่ย์ เทคนิคงานภาพและเสียงเนี้ยบไม่มีที่ติ จังหวะการเล่าเรื่องที่เล่นเอาผู้ชมลุ้นระทึกจนใจเต้นระรัว แถมส่วนที่ฝังลึกที่สุดในใจของเราก็ยังเป็น”การเมือง”ที่แฝงมาในเนื้อเรื่องเหมือนเคย ชะตากรรมของชาวบ้าน”ซองจอยาอิน”ชวนเราให้คิดไปถึงชะตากรรมเหล่าชาติพันธุ์ บรรดาชนกลุ่มน้อย และ คนไร้รัฐ ในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ณ กาลปัจจุบัน
เรื่องราวอันน่าสลดใจของชาวบ้านซองจอยาอินภายใต้การปกครองของราชวงศ์โชซอนนั้นช่างคล้ายคลึงกับ ชะตากรรมของชาวอุยกูร์ในเขตซินเจียงของจีน โรฮิงญาในเมียนมาร์ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในรัฐไทยเหลือเกิน(ใครนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงเรื่องราวของชาวบ้านบางกรอยที่ถูกจับ และขับไล่ออกจากใจแผ่นดินที่เป็นบ้านของพวกเขามาหลายชั่วอายุคนดูนะฮะ) ว่าแต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันแน่นหนาและทั่วถึงขนาดนี้ เหตุใดในรัฐสมัยใหม่จึงยังมีคนกลุ่มน้อยที่ไร้บัตรประจำตัวอยู่อีกล่ะ? พวกเขาเองก็อาศัยอยู่ในเขตการปกครองของรัฐมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เผลอ ๆ อยู่มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการทำสำมะโนประชากรด้วยซ้ำ
ในหนังสือ “ความขัดแย้ง 17 ประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม” โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา David Harvey ได้ตั้งสมมติฐานต้นเหตุของปัญหาชนกลุ่มน้อยในยุคสมัยของเราว่า เป็นผลมาจากความขัดแย้งกันของ”ทุน”กับ”รัฐ” ภายใต้การทำงานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งมีกติกาที่เอื้อให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกหนแห่งในโลก เพื่อไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สำหรับรัฐนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง รัฐถูกยึดโยงเข้ากับอาณาเขตของตนเพียงเท่านั้น โยกย้ายไปไหนมาไหนไม่ได้ นั่นทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องสร้างพลเมืองที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงขึ้นมาให้ทุนขูดรีด เพื่อใช้รักษาความสัมพันธ์กับทุน(เพื่อให้ให้ย้ายไปไหน)โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความไม่พอใจในหมู่พลเมืองจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากสมมุติฐานของ Harvey ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด ทั้ง โชซอน สยาม เมียนมาร์ และ เหล่าผู้ปกครองอื่น ๆ ถึงไม่เต็มใจที่จะมอบสถานะพลเมืองให้กับเหล่าชนกลุ่มน้อยในปกครองของตนสักที ยิ่งเห็นข่าวการที่คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบให้ชาวต่างชาติ(ที่มีทุน)สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศได้ แต่ยังไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะให้สถานะพลเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นด้วยกับแนวคิดของ Harvey เข้าไปอีก มิหนำซ้ำสถานะความเป็นพลเมืองที่ไร้สิทธิ์ยังเปิดโอกาสให้เหล่าผู้มั่งมีได้โอกาสสร้างบุญคุณด้วยการทำ”สังคมสงเคราะห์”จนเป็นอัน”ฟิน”ทางศีลธรรมกันทั่วหน้าอีกต่างหาก
แน่นอนว่ารัฐเองก็ร่วมทำสังคมสงเคราะห์ด้วยเช่นกัน ด้วยหวังว่า การสร้างบุญคุณให้เหล่ากลุ่มชาติพันธุ์จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ตนในการปกครองอันแสนกดขี่เหนือพวกเขา เราจึงได้เห็นทั้ง การแจกถุงยังชีพ หรือ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล กันตามสื่อต่าง ๆ เป็นประจำ ทว่ายิ่งทำบ่อย รัฐยิ่งต้องแบกต้นทุนมาก ทั้งในส่วนของงบประมาณที่จ่ายจนชักหน้าไม่ถึงหลัง และ ภาระงานอันเหนื่อยยากจนแทบกระอักเลือดที่ตกแก่บุคลากรหน้างานทั้งหลาย
และเป็นที่แน่นอนว่า”การสังคมสงเคราะห์”นั้นไม่มีอะไรตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่าเลย แถมยังลดทอนคุณค่าของคนที่ต้องรับการสงเคราะห์ในแทบทุกทาง จนพวกเขาแทบไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้วรัฐจะแบกต่อไปได้อีกนานแค่ไหน? ทำไมเราถึงไม่เคยคิดถึงเรื่องการมอบสถานะพลเมืองให้พวกเขาเหล่านั้นและให้สิทธิ์พื้นฐานพวกเขาจนพอจะมีความสามารถดูแลตัวเองได้? เมื่อมิใช่พลเมืองเราจะคาดหวังให้เขาจะทำคุณประโยชน์ตอบแทนกลับคืนให้รัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้อย่างไรเล่า?
โฆษณา